ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุค 70s เข้าสู่ 80s เมื่อมิวสิควิดีโอเริ่มมีบทบาทในวงการบันเทิง The Buggles วงนิวเวฟ/ซินธ์ป๊อปจากเกาะอังกฤษ ก็มีเพลงฮิตในชื่อ Video Killed the Radio Star ที่มีเนื้อหากังวลถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ในขณะนั้น
แม้ในความเป็นจริง มิวสิควิดีโอกับคลื่นวิทยุ จะอยู่ร่วมกันมาได้นานอีกเกือบสี่ทศวรรษ แต่ในศตวรรษที่ 21 อวสานของคลื่นวิทยุ FM ที่ The Buggles เคยทำนายไว้ กำลังใกล้จะเป็นความจริงแล้ว
เพราะเมื่อ 11.11 น.ของวันที่ 11 ม.ค. 2017 ที่ผ่านมา คือวันแรกที่สถานีวิทยุ FM ในแถบนอร์ดลันด์ของนอร์เวย์ จะยุติการออกอากาศ เพื่อหลีกทางให้กับวิทยุดิจิทัล ( Digital Audio Broadcasting หรือ DAB ) อย่างเป็นทางการ ก่อนจะขยายไปยังส่วนอื่นๆจนครบทั่วประเทศภายในสิ้นปี
เหตุผลหลักที่ทางการนอร์เวย์ตัดสินใจยกเลิกการใช้คลื่นวิทยุ FM คือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการกระจายเสียงที่สูงกว่าวิทยุดิจิทัล ขณะที่วิทยุดิจิทัลนอกจากจะเปิดกว้างให้มีตัวเลือกในการรับฟังที่มากว่าแล้ว ยังให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าอีกด้วย
DAB ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ นอร์เวย์ ชาติที่ประชากรส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี เพราะมีการกระจายเสียงด้วยวิธีนี้ควบคู่กับวิทยุ FM แบบดั้งเดิมมาตั้งแต่ปี 1995 แล้ว
3/4 ของประชากรในนอร์เวย์ ครอบครอง DAB อย่างน้อย 1 ชุด ขณะที่เกือบ 50% ของชาวนอร์วีเจียน หรือราว 2.1 ล้านคน ฟังวิทยุผ่าน DAB
แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะแม้การใช้ DAB จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ แต่เท่ากับเป็นการผลักภาระให้ประชาชนแทน
66% จากผลการสำรวจโดยนสพ. DAGBLADET ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกวิทยุ FM มีเพียง 17% ที่เห็นด้วย
นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของรถยนต์ใน นอร์เวย์ เท่านั้นที่ติดตั้งเครื่องรับ DAB หากต้องการรับฟังต้องติดอุปกรณ์เสริมหรือเปลี่ยนวิทยุใหม่ ราคาราว 1,000–2,000 โครเนอร์ (116–223 ดอลลาร์)
การ “หักดิบ” ของนอร์เวย์ครั้งนี้ กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจาก สวิตเซอร์แลนด์, เดนมาร์ก และ สหราชอาณาจักร ที่กำลังพิจารณายกเลิกคลื่นวิทยุ FM เช่นกัน
35% คือตัวเลขในปัจจุบันของชาวสหราชอาณาจักรที่รับฟังวิทยุทาง DAB โดยรัฐบาลมีแผนจะยกเลิก FM เมื่อมีผู้ใช้ DAB ถึงหลัก 50%
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกฝ่ายที่จะเห็นด้วย เพราะ เยอรมนี และ ฝรั่งเศส คือ 2 ชาติที่แสดงจุดยืนไม่คิดยกเลิกวิทยุ FM เนื่องจากเกรงว่าการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน จะกระทบต่อฐานเสียงของรัฐบาล
AHEAD TAKEAWAY
สำหรับคนไทยนั้นนี่คือสิ่งที่น่าคิด เพราะประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าอะไรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่นานนักคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะพัดมาถึงในไม่ช้า และแน่นอนว่ามันจะต้องส่งผลกระทบอย่างยิ่งกับวงการสื่อ และโฆษณาของเมืองไทย เพราะตามสถิติแล้วคลื่นวิทยุ คือสื่อโฆษณาอันดับต้นๆที่มีการถดถอยน้อยที่สุด
เนื่องจากเรายังฟังวิทยุในรถ และ กรุงเทพของเรารถติดไม่แพ้ใคร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอย่างนั้นตลอด เพราะนอกจาก DAB แล้วยังมีตระกูล Podcast ที่กินส่วนแบ่งของคลื่นวิทยุเข้ามาเรื่อย
บางทีในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจต้องฟังพี่อ้อย พี่ฉอดในคืนวันศุกร์ผ่านทางดิจิทัลก็ได้ เพราะสิ่งที่อาจอยู่รอดแม้แพลตฟอร์มตายไปคือคอนเทนท์ที่ผู้บริโภคต้องการนั่นเอง
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า