คุณนนท์ CEO Net design
ดร.เฉลิมรัฐ นาควิเชียร
การที่ใครซักคนจะสามารถสร้างธุรกิจจากมือเปล่าจนกลายมาเป็น พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับ GMO internet group หนึ่งในห้าเสือของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นย่อมไม่ธรรมดา อย่างน้อยๆเขาก็ต้องมีฝีมือ หรือ ไอเดียที่จัดจ้านกว่าคนปกติซึ่งสำหรับ “คุณนนท์ ดร.เฉลิมรัฐ นาควิเชียร” นั้นไม่ใช่แค่จัดจ้าน แต่ทั้งเผ็ด และ แซ่บเพราะ CEO หนุ่มของ NetDesign รายนี้ “เกิดและโตในหม้อต้มยำกุ้ง”
“ก่อนตั้งหม้อ”
แม้จะเรียนนิเทศศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่คุณนนท์เหมือนจะมีเส้นทางการเดินชีวิตที่ต่างจากเพื่อนคนอื่นตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะเขาเลือกที่จะฝึกงานเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ซึ่งในปี 2537 นั้นยังมีโปรดักชั่นเฮ้าส์ไม่กี่ที่ในประเทศที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานออกแบบ
ต่อมาคุณนนท์ได้ทำ Thesis ในปี 2539 เกี่ยวกับการออกแบบกราฟิกเพื่อช่วยโฆษณาร้านเช่าวีดีโอ ซึ่งในวันที่อินเทอร์เน็ตยังเป็นโมเด็มมีคนใช้ทั้งประเทศแค่หลักหมื่น ทั่วโลกแค่หลักไม่เกิน 100 ล้านคน แต่สิ่งที่คุณนนท์ออกแบบในวันนั้น คือ Touch Screen เหมือนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ราวกับเขาเห็นอนาคต
“กระโจนสู่หม้อต้มยำ”
ในช่วงที่เขาจบการศึกษานั้นเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วเอเชีย บริษัทต่างๆปลดพนักงานกันเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความสามารถที่คุณนนท์มีเขาได้ทำงานกับกับบริษัททำเว็บไซต์ของฝรั่งเศส
แต่ทำได้ไม่นานนักก็ออกมาทำธุรกิจของตัวเอง เป็นเว็บไซต์ E-Comrece รายแรกของประเทศไทย เปิดให้คนญี่ปุ่นได้สั่งดอกไม้ให้สาวๆบาร์ที่พวกเขาจีบอยู่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ แม้ว่าระบบการโอนเงินในสมัยนั้นจะเป็นไปอย่างทุลักทุเลก็ตาม แต่คุณนนท์ก็ไม่เห็นมันเป็นอุปสรรคเพราะคิดว่าการมีโอกาสขายของให้คน 100 ล้านคน (จำนวนประชากรอินเตอร์เน็ตทั่วโลกในขณะนั้น) เย้ายวนใจมากกว่า จากเว็บแรกทำให้เขาได้มีโอกาสทำเว็บไซต์ขายของที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส์ ในปี 2541 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสำหรับเด็กพึ่งอายุขึ้นเลข 2 ได้ไม่นานนัก
“Go Web, Young Man”
ต่อมาคุณนนท์ก็ได้เปิดบริษัทของตัวเองเพื่อรับงานให้ลูกค้า แต่เมื่อบวกกับความเบื่อในการต้องตามแก้งาน หรือ อัพเดต และอ่านเจอในนิตยสารต่างประเทศว่า “Go Web, Young Man” (ถ้าคุณอยากจะรวยคุณต้องเริ่มทำเว็บ!)
เป็นประโยคที่จุดประกายและเปลี่ยนชีวิตของเขา แต่คนอย่าง เฉลิมรัฐ มีหรือจะทำอะไรง่ายๆ เขาไม่ได้ทำเว็บไซต์เหมือนนิตยสารแนะนำ แต่มองว่าถ้าเดี๋ยวคนจะแห่กันมาทำเว็บไซต์เพราะอยากรวย คนเหล่านั้นจำเป็นต้องรู้วิธีการทำ เว็บไซต์ ซึ่งยังไม่มีใครสอน แล้วใครล่ะจะสอนได้ดีกว่าเขา นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน Net Design
“เสกทุกอย่างจากอากาศ”
ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส และในหม้อต้มยำกุ้งก็เช่นกัน การที่บริษัทจำนวนมากปิดกิจการทำให้อาคารสำนักงานต่างๆ อยู่ในสภาพที่ทิ้งร้าง คุณนนท์จึงเดินดุ่มๆ เข้าไปคุยกับ CEO คนหนึ่งของซีพีกรุ๊ป ซึ่งขณะนั้นดูแลการเช่าอาคาร Fortune อยู่ เพื่อขอเช่าตึกเปิดสถาบัน NET Design แต่ขอทดลองอยู่ฟรี 6 เดือนก่อน
ไหนๆ มันก็โล่งอยู่แล้วการได้คนมาช่วยจ่ายค่าน้ำค่าไฟก็น่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งเขาก็ได้ตามที่เขาขอ
คอมพิวเตอร์ 9 เครื่องแรกที่นำมาใช้สอนนั้นเขาก็ใช้สูตรเดียวกับสถานที่ โดยการขอเครดิต 45 วัน ถ้าไม่มีปัญญาจ่ายพี่ก็เดินขึ้นมายึดไป เป็นอันว่า “Net Design” ถูกคุณนนท์เสกขึ้นมาจากอากาศ เพราะเขาเห็นวิกฤตในโอกาส
“สร้างทุกอย่างจากสองมือ”
การเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองบังคับให้คุณนนท์ต้องทำเองทุกอย่างตั้งแต่ออกแบบคอร์ส ทาสี คิดตำโฆษณา หรือ Copy ซึ่งตอนนั้นเขาใช้ว่า
“คอร์สสอนให้คุณเป็นเว็บมาสเตอร์ อาชีพที่ทำรายได้สูงสุด”
โดย CEO Netdesign รายนี้อธิบายว่าสิ่งที่ทำให้ Copy นี้เวิร์คมากเพราะมันเป็นการประกอบกันของ “สิ่งที่คนสงสัย” คือ เว็บมาสเตอร์ ที่คนในสมัยนั้นยังไม่รู้จัก กับ “สิ่งที่คนอยากเป็น” คือ มีรายได้สูง
เพราะถ้าหากว่าเป็น “วิศวกรอาชีพที่ทำรายได้สูงสุด” ผลที่ได้ก็จะไม่เหมือนกัน พอรู้ว่าคำนี้ขายเขาก็ผลิตโบชัวร์จำนวนนี้ลุยแจกตามแหล่งชุมชนต่างๆด้วยตัวของเขาเอง ผลคือมีคนสนใจเรียนมากมาย แต่หลายคนก็ต้องตกใจว่า ทำไมเสียงพนักงานรับโทรศัพท์กับคนสอนมันเป็นคนเดียวกับไอ้คนแจกใบปลิววะ
“ทำเรื่องเรียนให้เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ สร้างธุรกิจใหม่รองรับการเติบโต”
หลังจากที่อเมริกาเกิดเข้าสู่ยุคฟองสบู่ Dot.Com แตก บรรดาผู้ที่เข้าสู่ธุรกิจเว็บไซต์ต่างล้มกันระเนระนาด แม้แต่ VC ดังๆจากต่างประเทศที่เข้ามากว้านซื้อเว็บต่างๆในประเทศไทยยังต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไป แต่ NetDesign ของคุณนนท์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว และ สามารถมาเปิดสาขาที่สยามแสควร์ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญ
โดยคุณนนท์ได้ผันตัวเองจากผู้สอนคนเดียวกลายมาเป็นผู้สร้างทีมงานขึ้นมาช่วยสอน นอกจากนี้ยังเห็นการทำตลาดโดยเปลี่ยนการเรียนให้เป็นเรื่องของ ไลฟ์สไตล์มีการดึงดาราวัยรุ่นอย่าง บอลลูน แตงโม และ แพนเค้ก มาเรียนและเป็นพรีเซนเตอร์ของ NetDesign นอกจากนี้ ธุรกิจ Hosting ที่คุณนนท์เคยเริ่มไว้นานแล้วก็เติบโตตามไปด้วย เพราะเมื่อนักเรียนสร้างเว็บเป็นพวกเขาก็ต้อง การ Hosting สำหรับเว็บของพวกเขา
ในวันนั้นทุกอย่างช่างร้อนแรง และ ดูเหมือนจะหยุดไม่อยู่สำหรับเด็กหนุ่มวัยยี่สิบกว่าๆ เขาเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 25 Entreprenuers ที่น่าจับตามองของเอเชีย
ทำให้แม้แต่คนที่เกิดและโตในหม้อต้มยำกุ้งลืมไปว่า วิกฤตมันมาได้จากหลายทางและ ตลอดเวลา
“เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนเลน”
จากคนสร้างเว็บ กลายเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จมากมาย ที่มีเงินเต็มแบงค์ ด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมเขาก้าวเข้าสู่อีกหนึ่งธุรกิจที่ร้อนแรงที่สุดแห่งยุค ธุรกิจเสริมความงาม เมื่อทุ่มทุนกว่า 30 ล้าน นำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศสร้างแบรนด์คลินิคเสริมความงาม แต่ยังไม่ทันจะได้พิสูจน์ฝีมือ ก็เกิดเหตุการณ์เผาเซ็นทรัลเวิร์ล ทำให้เงิน 30 ล้านหายไปในพริบตา
หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยวิกฤตน้ำท่วมที่ไม่ได้กระทบแค่สถาบัน NetDesign แต่กระทบถึงธุรกิจสิ่งพิมของเขาเมื่อหนังสือทั้งหมดในสตอกเปียกน้ำเสียหายหลายสิบล้าน
หลังจากน้ำท่วมผ่านไป คุณนนท์ก็ต้องมาพบกับการ Shutdown กรุงเทพเนื่องจากการเมืองอีกครั้ง ทำให้จากคนที่ประสบความสำเร็จ มีเงินเต็มแบงค์ ต้องกลายมาเป็นลูกค้าเงินกู้แบบเร่งด่วนเพื่อประคองธุรกิจให้รอด ซึ่งช่วงเวลานี้แหล่ะเป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์ความเข้มแข็งของจิตใจผู้ชายที่ “เกิดและโตในหม้อต้มยำกุ้ง” อย่างคุณนนท์ และ เป็นการพิสูจน์ความจริงที่คุณพ่อเตือนเขาเสมอว่า
“อย่าเพิ่งคิดว่าธุรกิจกำไร จนกว่าจะปิดบริษัท”
“กลับมาโต หาทาง Exit”
หลังจากประคองตัวผ่านวิกฤตมาได้คุณนนท์เริ่มหันกลับมามองว่าบางทีการหาทาง Exit ด้วยการหาพาร์ทเนอร์เข้ามาควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มเติมความเข็มแข็งให้กับกลุ่มธุรกิจ NetDesign ของเขาอาจเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา ทำให้เกิดการคุยกันระหว่างทีมของคุณนนท์กับ มาซาโตชิ คูมาไก นักธุรกิจด้าน IT ที่ร้อนแรงที่สุดในญี่ปุ่น ติดอันดับ 50 เศรษฐีของญี่ปุ่นตามการจัดอันดับของ Forbes และ เป็นเจ้าของ GMO Internet group ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง
ซึ่งดีลนี้แม้จะไม่มีการเปิดเผยมูลค่าดีลที่แท้จริงนั้น แต่เชื่อกันในวงการดิจิตัลว่าเกินกว่า มีมูลค่าเกินกว่า 10 หลัก (ผู้เขียน) และ ที่สำคัญคือ ดร.เฉลิมรัฐ นาควิเชียร และ NetDesign กลายเป็น พาร์ทเนอร์ และ หัวหอกสำคัญของ มาซาโตชิ คูมาไก และ GMO Internet group ในการขยายอาณาจักร และ ธุรกิจในภูมิภาคนี้
“บทเรียนรสต้มยำกุ้ง”
จากเส้นทางรสจัดจ้านของคุณนนท์แห่ง NetDesign นั้น สอนเข้าว่าการคิดต่างนั้นสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือ การสร้างธุรกิจที่มีคุณค่า และ สร้างผลกำไรได้จริงๆ นั้นสำคัญที่สุด ซึ่งถ้ามีตรงนี้ ไม่ว่าจะเจอมรสุมจากข้างนอกซักแค่ไหน ก็จะมีคนเห็นคุณค่าของธุรกิจเราอยู่ดี เหมือนที่ GMO ยังให้ค่าของ NetDesign แม้พึ่งผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก
และที่สำคัญทางเดียวที่คุณจะหลีกจากสงครามราคาได้คือ คุณต้องมี Innovation และ Brand ถ้ามีครบทั้งสองอย่างคุณจะไม่ต้องกับมาแข่งที่ 4P ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะไปแข่งกันที่ P สุดท้ายคือ Price หรือ ราคา นั่นเอง
“ข้อคิดแซ่บๆ”
นอกจากนั้นตลอดการบรรยายคุณนนท์ยังฝากข้อคิดดีๆ ให้บรรดาฟินเทคสตาร์ทอัพ ของกรุงศรีไรซ์ ด้วย
– Passion แสดงออกมาได้ด้วยความตั้งใจ : หากเรามีความชอบอะไร ให้ทำมันออกมาอย่างตั้งใจและสร้างสรรค์ และผลจากการลงมือทำจะปรากฏให้เราเห็น
– Learn and create together in cyberspace : ในยุคที่ Social media ได้มอบพื้นที่อย่างมหาศาลเกินกว่าจินตนาการให้เรานั่นถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะมีพื้นที่ให้เราแสดงออกทางความคิด/จินตนาการและเรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุด
– ถ้าคุณสร้าง Brand & Innovation คุณจะ success : แน่นอนว่าการมี Brand ที่แข็งแรงอาจจะยังไม่เพียงพอ ดังนั้น Innovation จะช่วยเข้ามาเติมเต็มให้รากฐานมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fintech Startup
– Internet เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ ใครๆก็สามารถเรียนรู็ได้ Internet for everyone, Everyone can learn
– อนาคตเป็นของคนที่เชื่อในความฝันตัวเองเท่านั้น : นกมันไม่กลัวว่ากิ่งไม้ที่เกาะอยู่จะหัก เพราะมันไม่ได้เชื่อมั่นในกิ่งไม้ แต่มันเชื่อมั่นในปีกมันเอง
และนั่นคือนกที่เชื่อมั่นในปีกตัวเอง ที่เกิดและโตในหม้อต้มยำกุ้ง ที่พร้อมจะบินไปให้ไกลกว่าแค่เมืองไทยอีกครั้ง