จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับการรุกรานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เฉพาะในนิยายวิทยาศาสตร์ หรือภาพยนตร์ฮอลลีวูดเท่านั้น แม้ในความเป็นจริง AI จะไม่ได้พัฒนาไปไกลถึงขั้นคิดครองโลกเหมือนใน The Matrix หรือ Terminator แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็กำลังจะประสบปัญหาใหญ่จากการมาถึงของเทคโนโลยีนี้
ผลวิจัยของที่ประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (WEF) ในปีที่ผ่านมา คาดว่า AI จะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานของมนุษย์กว่า 5 ล้านตำแหน่ง ใน 15 ประเทศ ภายในปี 2020
เมื่อเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์ ไมนิจิ ของญี่ปุ่น รายงานว่าบริษัทประกันภัย Fukoku Mutual Life Insurance Company เตรียมเลิกจ้างพนักงานในแผนกประเมินราคาสินไหม 34 ราย หรือคิดเป็น 30% ของทั้งหมด ภายในเดือนมี.ค. และนำระบบ AI “Watson” ซึ่งพัฒนาโดย IBM เข้ามาทำงานแทน โดย Watson จะรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น เช่นข้อมูลใบรับรองแพทย์ และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ถือกรมธรรม์ เพื่อใช้ในการการพิจารณาจ่ายเงินแก่ผู้เอาประกันภัย
แม้ว่าระบบ Watson จะมีราคาสูงถึง 200 ล้านเยน และมีค่าบำรุงรักษา 15 ล้านเยนต่อปี แต่การเลิกจ้างพนักงาน 34 คน จะลดค่าใช้จ่ายต่อปีของบริษัทได้สูงถึง 140 ล้านเยนต่อปีเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจคือการทำงานของ AI ไม่ใช่เพียงแค่การคิด วิเคราะห์ เหมือนสมองซีกซ้ายเท่านั้น แต่ในแง่ของการสร้างสรรค์ของสมองซีกขวา ก็สามารถทำได้เช่นกัน
Flow Machines คือโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งยุโรป หรือ ERC และ ฟรองซัวส์ ปาเชต์ (Francois Pachet) แห่ง Sony CSL Paris
เป้าหมายของโครงการนี้ คือวิจัยและพัฒนา AI ให้สามารถประพันธ์เพลงด้วยตนเองหรือร่วมกับมนุษย์ ผ่านการเรียนรู้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของดนตรี เพื่อแยกแยะความแตกต่างของดนตรีแต่ละแนว หาความเหมาะสม และเทคนิคในการตอบสนอง
จากตัวอย่างในช่วงแรก เมื่อปี 2015 Flow Machines สามารถเรียบเรียงเพลง Ode to Joy ของ Beethoven ให้ออกมาในสไตล์ของศิลปินต่างๆได้ ตามคลิปนี้
Orchestrations of Beethoven’s Ode to Joy by Flow Machines
จนเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา Flow Machines สามารถแต่งเพลงด้วยตัวเองได้แล้ว คือ “Daddy’s Car” ในสไตล์ของ The Beatles และ “Mister Shadow” ในสไตล์ของนักเขียนเพลงอเมริกันรุ่นเก่าอย่าง Irving Berlin, Duke Ellington, George Gershwin และ Cole Porter
Daddy’s Car
Mister Shadow
ทั้งสองเพลงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอัลบัมเต็มที่จะประพันธ์โดย Flow Machines ทั้งชุด ซึ่งมีกำหนดวางตลาดในปี 2017 นี้
หลายคนอาจมองพัฒนาการของ AI ไม่ว่าจะ Watson หรือ Flow Machines เป็นการ “คุกคาม” ที่เข้ามาแย่งงานของมนุษย์
แต่หากลองมองจากอีกด้านของเหรียญ จะพบว่าสิ่งเหล่านี้ถูกคิดค้นเพื่อให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ลดภาระในบางด้านลง เพื่อหันไปพัฒนาตนเองและสังคมในด้านอื่นๆต่อไป
บางที การหยุดนิ่งอยู่กับที่ และร้องโวยวายเมื่อถูกปัญญาประดิษฐ์แซงหน้าไป คงไม่อาจแก้ไขอะไรได้ มีแต่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงให้ได้เท่านั้น