สตาร์ทอัพไทย

5 สตาร์ทอัพไทยในเวทีโลก

วงการ สตาร์ทอัพไทย กำลังอยู่ในช่วงที่ร้อนแรงที่สุด เพราะทั้งภาครัฐบาลเอกชนและคนรุ่นใหม่ต่างหันมาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

แต่คำถามที่ตามมาคือ สตาร์ทอัพไทยจะไปได้ไกลแค่ไหนในเวทีโลก

วันนี้ทีมงาน AHEAD.ASIA มีภาพรวมของเรื่องราวของ Startup ไทยในเวทีโลกมาฝาก

 

เริ่มกันด้วยกลุ่มแรก คือ 2 สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่สามารถระดมทุนถึงระดับอินเตอร์ได้ อย่าง Ookbee และ Omise

 

 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสตาร์ทอัพไทยที่เกิดขึ้นและล้มหายไปนั้นเริ่มมีสตาร์ทอัพหลายตัวที่ตั้งหลักได้ และ ได้รับการระดมทุนเป็นมูลค่ามหาศาลเพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก

Ookbee

สตาร์ทอัพไทยรุ่นบุกเบิกของคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ที่ปัจจุบันผันตัวมาสวมหมวกเมนทอร์และนักลงทุน ให้กับบรรดาสตาร์ทอัพรุ่นน้อง

ขณะที่อุ๊กบีที่เขาสร้างมากับมือนั้น คุณหมูฝันว่าต้องเป็นมากกว่าแค่ แพลตฟอร์มสำหรับ E-book แต่เป็นโซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบสำหรับคอนเทนท์ในรูปแบบต่างๆที่ผลิตโดยผู้บริโภค

ซึ่งความฝันของเขา ก็ได้รับการตอบรับจาก Tencent ยักษ์ใหญ่ในด้านดิจิทัลจากประเทศจีนด้วย จนสามารถระดมทุนรอบใหม่ด้วยวงเงินกว่า 19 ล้านดอลลาร์  ซึ่งถือเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์สำหรับดีลที่เปิดเผยมูลค่าในประเทศไทย

Omise

หากพูดถึงการระดมทุนครั้งใหญ่สุดแล้ว ไม่พูดถึง Omise บริษัท Payment Gateway ฟินเทคสัญชาติไทยที่ก่อตั้งโดย Jun Hasegawa และ อิศราดร หะริณสุต ที่รู้จักกันสมัยเรียนที่ญี่ปุ่นและมองเห็นปัญหาเหมือนกัน ว่าการซื้อของออนไลน์นั้นการตัดบัตรทันทีก่อนได้รับของ อาจทำให้ผู้ซื้อเสียเปรียบ แต่ถ้าเก็บข้อมูลบัตรเครดิตหรือ เดบิตไว้รอหลังจากผู้ซื้อได้ของก็ยิ่งไม่ปลอดภัย ทำให้มีช่องว่างสำหรับ Payment Gateway แบบ 3rd Party ที่จะมาเติมเต็มตรงจุดนี้

การพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องทำให้ในช่วงกลางปีที่แล้ว Omise สามารถระดมทุนระดับ Series B ได้ถึง 17.5 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนทั้งจากประเทศญี่ปุ่น ไทย และ อินโดนีเซีย ถือเป็น Series B ที่มีมูลค่าสูงสุดของ Fintech ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันมีองค์กรใหญ่ๆอย่าง TRUE, NOKAIR และ เครือ Minor ที่ใช้บริการของพวกเขา

นอกจากสตาร์ทอัพไทยที่ได้รับการระดมทุนเพื่อก้าวไปแข่งขันในเวทีโลกแล้ว ก็ยังมีสตาร์ทอัพหัวใจไทยไม่น้อยที่ไปเติบโตในต่างประเทศและได้รับการยอมรับจากคนในต่างประเทศด้วย

Jitta

 

 

เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการลงทุนที่เน้นคุณค่าก่อตั้งโดย คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ และ คุณศิระ สัจจินานนท์ ที่ต้องการสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือนักลงทุนทั่วโลกให้สามารถหาช่วงเวลาการลงทุนที่เหมาะสมตามแบบฉบับของ Warren Buffett ยอดนักลงทุนมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกหลายสมัย ที่เชื่อว่าหัวใจของการประสบความสำเร็จคือลงทุนในบริษัทที่ยอดเยี่ยม ในราคาที่เหมาะสม” (Buy a wonderful company at a fair price)

ปัจจุบัน จิตตะ ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในบรรดาฟินเทคที่ร้อนแรงที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น

พวกเขาและทีมยังเคยไป Roadshow ที่ซิลิคอนวัลเลย์มาแล้ว และได้รับความสนใจขนาดที่ แมร์รี่ บัฟเฟต กล่าวถึง JITTA ทางรายการโทรทัศน์ที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว 

 

AdsOptimal

 

 

AdsOptimal คือทีมงานผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยี 360° Virtual Reality อย่างครบวงจรเป็นหนึ่งในผลงานของคนไทยที่ไปเติบโตในซิลิคอนวัลเลย์ต้นกำเนิดของสตาร์ทอัพระดับโลกหลายเจ้าโดยพวกเขาผ่านโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพชื่อดัง Y Combinator ที่ว่ากันว่าเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกช่วยตั้งไข่ให้ชื่อที่เราคุ้นเคยอย่าง Dropbox, AirBNB และ Reddit มาแล้ว

ส่วนผลงานที่น่าจะทำให้คนไทยรู้จัก AdsOptimal  มากที่สุดคือการเปิดตัวรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับแบรนด์ซึ่งการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคให้ดีขึ้นนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในยุคนี้และนั่นน่าจะช่วยให้พวกเขาสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

สตาร์ทอัพ 4 ตัวที่ผ่านมาอาจจะคุ้นหูกันดีแล้วแต่ยังมีสตาร์ทอัพอีกหนึ่งเจ้าที่เป็นผลงานของคนไทยที่กำลังรอเวลาที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้  และ  AHEAD.ASIA อยากแนะนำให้รู้จัก

 

EPIBONE 

เป็น Biotech Startup ที่สร้างกระดูกขึ้นมาจากสเต็มเซลล์ของตัวเราเอง ซึ่งหากทำสำเร็จจะทำให้ในอนาคตนั้นการรักษากระดูกหักไม่ต้องใช้วัสดุอื่นๆ เช่น เหล็ก หรือ ไทเทเนี่ยมอีกต่อไป แต่จะใช้กระดูกของเราเองที่สร้างขึ้นจากสเต็มเซลล์มาใส่เข้าไปแทน

โดย EPIBONE นั้นก่อตั้งขึ้นด้วยฝีมือของคุณอิ๊ก ดร. สารินทร์ ภูมิรัตน ดอกเตอร์หนุ่มด้าน Bio-Medical Engineering จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น CO-FOUNDER และ CSO (CHIEF SCIENTIFIC OFFICER)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราอาจไม่คุ้นเคยกับ EPIBONE หรือ Biotech Startup เท่ากับพวก Tech Startup หรือ Fintech Startup

เพราะเป็นสายที่ใช้เทคโนโลยีสูงมาก ที่สำคัญต้องผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเข้มงวดจึงอนุญาตให้ใช้ในคนได้ และตัวดร.อิ๊คเองก็ไม่ได้กลับเมืองไทยบ่อยๆ

แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ยินก็ไม่ได้หมายความว่า EPIBONE จะไม่อยู่ในสายตาของสตาร์ทอัพระดับโลก เพราะจริงๆบริษัทของเขาได้รับเงินลงทุนมากกว่า 10  ล้านดอลล่าร์ และหนึ่งใน Investor ที่สำคัญของเขาได้แก่ “BreakoutLab” บริษัทของ Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และผู้แต่งหนังสือขายดีทั่วโลกอย่าง Zero to One

EPIBONE ยังได้รับการพูดถึงบนเวที TedTalk และสื่อหลักๆอย่าง CNN BBC Forbes New York Times Inc Huffington Post และ  Bloomberg

นอกจากนี้ยังได้รับ Pioneer Award สาขา Life Sciences and Health จาก World Economic Forum ที่กรุง Davos ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

 

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างของสตาร์ทอัพไทยที่ยืนหยัดได้อย่างสวยงามบนเวทีโลกที่ AHEAD.ASIA หวังว่าจะเป็นการยืนหยัดที่ยั่งยืน และเป็นแบบอย่างให้สตาร์ทอัพรุ่นต่อไปๆ ได้ก้าวตามในอนาคต

 

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

รถยนต์ไร้คนขับ: บนถนนสู่อนาคต

Next Article
อีลอน มัสก์

อีลอน มัสก์ : เกมเมอร์ในคราบ Entrepreneur

Related Posts