ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาติยักษ์ใหญ่ของโลก แต่ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของจีนในการยกระดับสู่หัวแถวของอุตสาหกรรมรถยนต์ เทียบเคียงกับ สหรัฐ, ญี่ปุ่น และ เยอรมนี ยังมักลงเอยด้วยความล้มเหลวมาตลอด
ผู้ผลิตรถยนต์ในจีน ยังขาดองค์ประกอบสำคัญ ทั้งแบรนด์, เทคโนโลยี และการบริหารจัดการที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่นอกประเทศ เพราะแม้แต่ผู้บริโภคชาวจีนก็ยังเชื่อมั่นใน บูอิค, โฟล์คสวาเกน หรือ โตโยต้า ที่ไว้วางใจได้มากกว่า
จนเมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลง จากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles หรือ EV) โอกาสที่ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนรอคอย ก็มาถึง
Made in China
ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของรัฐบาล ถูกใช้เป็นแรงส่งให้ EV เป็นอาวุธสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน ในการยึดหัวหาดจากคู่แข่งต่างชาติ
เป้าหมายภายในปี 2020 คือการผลิตรถยนต์ EV และ HEV (Hybrid Electric Vehicles) ให้ถึงหลัก 2 ล้านคันต่อปี หรือหกเท่าจากที่เคยผลิตได้ในปี 2015
แม้เทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ปกติจะเป็นรอง แต่ในธุรกิจใหม่อย่าง EV นั้น ทุกฝ่ายต้องกลับมาตั้งต้น ณ จุดเดียวกันหมด ตามความเห็นของ บิลล์ รุสโซ อดีตผู้บริหาร Chrysler ที่ปัจจุบันรับงานเป็นผู้อำนวยการของบริษัทที่ปรึกษาในเซี่ยงไฮ้ Gao Feng Advisory
ปัจจุบัน อุตสาหกรรม EV ในจีน กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐที่ต้องการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด
ผลสำรวจระหว่างเดือนม.ค.-พ.ค. 2016 พบว่ายอดขายรถ EV/HEV เพิ่มขึ้นถึง 60% และทั้งหมดในท็อปเทนเป็นแบรนด์จีนล้วนๆ นำโดย BYD ซึ่งมี วอร์เรน บัฟเฟต์ ร่วมลงทุน หรือ BAIC Motor Corp.
จุดแข็งของ EV แบรนด์จีน คือ “ราคา”
ยกตัวอย่าง Cherry eQ รถ 2 ประตูที่มียอดขายเป็นอันดับ 8 ในปี 2016 มีราคาเพียง 60,000 หยวน (ราว 3 แสนบาท) จากเงินอุดหนุน และมาตรการลดหย่อนภาษีของภาครัฐ ทั้งที่ราคาจริงของรถคันนี้อาจสูงถึงเกือบ 100,000 หยวน (ราว 5 แสนบาท)
เรียกได้ว่าถูกกว่าแบรนด์นอกซึ่งเข้าไปตั้งโรงงานในจีน อย่าง Tesla หรือ Denza (Joint Venture ระหว่าง BYD กับ Daimler) 5 ถึง 10 เท่าตัว
แม้ภาครัฐจะประกาศให้เงินอุดหนุนผู้ผลิตของจีนจนถึงปี 2020 เท่านั้น แต่กว่าจะเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี BYD, BAIC หรือ Cherry น่าจะสามารถผลิตรถ EV ในระดับราคาและมาตรฐานที่แข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติได้อย่างไม่เป็นรองแล้ว
นอกจากราคา หลายเมืองใหญ่ในจีนที่เข้มงวดกับการออกป้ายทะเบียนรถยนต์สำหรับรถยนต์ทั่วไป จะผ่อนปรนกว่า หากเป็นรถ EV เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถพลังงานสะอาดอีกทาง
ขณะที่รัฐบาลเทียนจิน ก็เตรียมนำร่อง ด้วยการติดตั้งเสาชาร์จไฟจำนวน 90,000 ต้นภายใน 3 ปีจากนี้ เพื่อรองรับการใช้รถ EV ที่มากขึ้น และให้แน่ใจว่าผู้ซื้อรถ EV ไปใช้ จะสามารถหาแหล่งชาร์จไฟได้โดยไม่เป็นปัญหา
ท้าชน Tesla
ใช่ว่าจะมีเพียงผู้เล่นในตลาดล่าง Qiantu K50 โรดสเตอร์ 2 ที่นั่ง 402 แรงม้า ของ CH-Auto Technology Corporation ก็ถูกดันขึ้นเวที เป็นผู้ท้าชิงของ Tesla ในตลาดไฮ-เอนด์
CH-Auto ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อรับวิจัยและออกแบบให้กับผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นหลายราย โดย หลู กุน อดีตวิศวกรในทีม R&D ของ Jeep ก่อนขยับเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์พลังงานสะอาด เพราะเห็นผู้ว่าผลิตรายย่อย น่าจะเหมาะกับธุรกิจ EV ในช่วงเริ่มต้นมากกว่า
นอกจากตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์ที่ดูโฉบเฉี่ยว จอทัชสกรีนในคอนโซล และเร่งความเร็วสูงสุดได้ถึง 193 กม./ชม. K50 ยังคงคอนเซปต์พลังงานสะอาดและประหยัด เมื่อสามารถวิ่งได้ไกลถึง 320 กม. จากการชาร์จเพียงครั้งเดียว
หลู มั่นใจว่าแม้ Tesla จะครองตลาดบนได้ แต่ก็ยังมีที่ว่างเพียงพอให้ K50 อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์หวือหวาทันสมัย
ย้อนมองไทย
ใช่ว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วยกับแรงหนุนจากภาครัฐ คริสตัล ฉาง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งปัจจุบันทำวิจัยเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีน ให้ทรรศนะว่ารัฐบาลกำลังกระตุ้นให้เกิดการผลิตจนเกินดีมานด์ ทั้งที่อนาคตของธุรกิจนี้ยังไม่ชัดเจน
ในความเห็นของ ฉาง ท่าทีของรัฐบาลจีนหนุนหลัง “มากเกินไป” แต่ในมุมมองของผู้ผลิตรถยนต์ในไทย อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาด กลับได้รับการสนับสนุน “น้อยเกินไป”
Toyota Prius ยุติสายการผลิตในไทยไปตั้งแต่เดือนส.ค. 2015 โดยปัจจุบันเหลือ HEV ที่ยังอยู่ในตลาดเพียง 2 รุ่นคือ Camry (ผลิตในไทย) และ Alphard (ผลิตในญี่ปุ่น) สาเหตุหลักๆ น่าจะมาจาก demand ที่ยังต่ำ และยังไม่มีสิทธิพิเศษใดๆจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ผู้ผลิตจะเดินหน้าสายการผลิตรถในตระกูล EV เป็นเรื่องเป็นราวได้ ต่อเมื่อมียอดขายรถในตระกูลนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปี
แต่จนถึงปี 2016 ไทยมีรถ HEV และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicles) รวมแล้ว 79,661 คันเท่านั้น
ขณะที่ Mazda ก็ดูจะพอใจกับการสานต่อเทคโนโลยี Skyactiv เจเนอเรชัน 2 แทน พร้อมยอมรับว่าคงยากที่จะทำตลาดรถตระกูล EV ในอนาคตอันใกล้ ด้วยความไม่พร้อมในหลายๆด้าน
ที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด คงเป็น Vera รถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ไทย ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนม.ค. แม้จะยังมีเสียงวิจารณ์ตามมาในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะราคาที่เฉียด 7 หลักไปไม่กี่ตัว
แต่เมื่อยักษ์ใหญ่ของโลกเลือกที่จะ “เอาจริง” กับธุรกิจนี้ ก็แสดงให้เห็นว่ารถยนต์ตระกูล EV ทั้งหลายน่าจะ “ได้ไปต่อ”
และการเลือก “เดินหน้า” ของคนบางกลุ่ม ก็น่าจะดีกว่ารออยู่เฉยๆเพื่อเป็นผู้ตามไปตลอด
เรียบเรียงจาก
China may lead the electric car revolution
4 Chinese-backed electric-car start-ups planning a run at Tesla
China EV makers to take on Tesla’s Model 3 through price, local manufacture
หากมีข้อแนะนำใดๆ สามารถเสนอต่อทีมงานในหน้าเพจ AHEAD.ASIA ได้ทันที และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน