SnapChat: เปลี่ยนผ่านจาก Sexting สู่ตลาดหุ้น

หลังจากโยนหินถามทาง และเดินหน้านำเสนอบริษัทต่อนักลงทุนรายใหญ่ตั้งแต่ปีก่อน ในที่สุด Snap Inc. บริษัทแม่ของแอพ SnapChat ก็จัดการ ยื่นเรื่องเพื่อขอเสนอขายหุ้น IPO แล้ว (เป็น class A common stock ที่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง) เมื่อ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยจะปรากฎในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค ภายใต้สัญลักษณ์ SNAP

ในหนังสือชี้ชวนฉบับแรก Snap เปิดเผยว่าในปีล่าสุด บริษัทมีรายได้จากการโฆษณาราว 405 ล้านดอลลาร์ เปรียบเทียบกับ 58.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2015

ส่วนราคา IPO ไม่มีการระบุไว้ แต่คาดว่ามูลค่ารวมน่าจะอยู่ในราว 20,000-25,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าอีก 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากทำสำเร็จ จะเป็นตัวเลขการเสนอขายหุ้น tech ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันเลยทีเดียว

 

Picaboo สู่ SnapChat

 

 

ถึงจะยังไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรามากนัก แต่ในสังคมอเมริกัน SnapChat คือโซเชียลเน็ตเวิร์ค อันดับ 6 ที่เจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นได้อยู่หมัด และมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 160 ล้านคน จน ครั้งหนึ่ง Mark Zuckerberg เคยยื่นข้อเสนอ 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อขอซื้อกิจการในปี 2013

แต่ Evan Spiegel ซีอีโอของ Snap Inc. เลือกตอบปฏิเสธ

จากไอเดียของหนึ่งใน 3 ผู้ก่อตั้ง ซึ่งต้องการแอพพลิเคชันในการส่งข้อความ รูปภาพ หรือคลิป ที่ข้อมูลจะถูกลบหายไปภายในเวลาที่กำหนด ในชื่อ Picaboo

การวางตำแหน่งไว้ในกลุ่ม sexting (การส่งภาพหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ) กลายเป็นกระดานส่งให้ Picaboo เป็นแอพยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นอเมริกันทันที

ด้วยแรงหนุนจาก VC (Venture Capitalist) ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทขยับขึ้นจากหลักแสนไปเป็นหลักพันล้านดอลลาร์ ก่อน Picaboo จะเปลี่ยนชื่อเป็น SnapChat ในเวลาต่อมา เพราะการแตกหักกันระหว่างผู้ร่วมก่อตั้ง แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้ง Spiegel และทีมงานบนเส้นทางสู่การเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกโซเชียล เหมือนที่ Zuckerberg และ Facebook เคยทำ

 

คำถามที่รอคำตอบ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามอีกมากจากบรรดานักลงทุนที่ Spiegel และผู้บริหารของ Snap Inc. ต้องตอบให้ได้

อาทิ SnapChat จะทำอย่างไรในการรักษาอัตราเติบโตของผู้ใช้ (ระหว่างปี 2011-2012 ยอดผู้ใช้ SnapChat เพิ่มจาก 1 พันคนเป็น 1 ล้านคน – เป็นตัวเลขที่เอเจนซีโฆษณาต้องหันมาสนใจ) ในเมื่อ Facebook และ Instagram ก็เริ่มลอกเลียนฟีเจอร์หลักๆของแอพไปบ้างแล้ว

นอกจากนี้ ฐานผู้ใช้หลักของ SnapChat คือกลุ่มคนอายุ 18-34 ปี ซึ่งมีความภักดีต่อแบรนด์ไม่สูงนัก

ขณะเดียวกัน แม้จะมีรายรับสูงขึ้น แต่บริษัทก็ขาดทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปีล่าสุด Snap Inc. ขาดทุนถึง 514 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 373 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015

นอกจากนี้ รายได้ถึง 98% ของบริษัทมาจากการโฆษณา ส่วนค่าเฉลี่ยรายได้จากผู้ใช้บริการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 อยู่ที่ 1.06 ดอลลาร์ เพิ่มจาก 31 เซนต์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ก้าวข้าม Sexting

ถัดจากตัวเลขทั้งหลาย ภาพลักษณ์ของ SnapChat ก็ยังเป็นอีกเรื่องที่ต้องปรับปรุง เพราะที่ผ่านมา แอพเป็นที่รู้จักจากภาพและคลิปฉาวที่ถูกส่งถึงกันและกันเป็นหลัก

ปัจจุบัน SnapChat พยายามก้าวข้ามเรื่องดังกล่าว ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆเช่นการส่งภาพหรือวิดีโอให้เพื่อนทั้งหมดได้ในคราวเดียว Geofilters ฟิลเตอร์ที่จะแตกต่างกันไปตามสถานที่ของผู้ใช้ หรือการเปิดโอกาสให้มีคอนเทนท์จากผู้ผลิตต่างๆเข้ามาเสริม ไปจนถึง Spectacles แว่นกันแดดที่มีกล้องวิดีโอติดตั้งอยู่ ฯลฯ

หาก Spiegel และ SnapChat ก้าวผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ จะเป็นการตอกย้ำว่าเจ้าตัวตัดสินใจไม่ผิด ที่เลือกปัดข้อเสนอมหาศาลจาก Zuckerberg และ Facebook เมื่อสามปีก่อน

 

Source:

Snapchat is growing up, files for IPO

Snapchat Parent Showcases Its Strength in Preparation for I.P.O.

Snap IPO: Six things we now know about Snapchat parent company

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

อกหักรักคุดหยุดด้วย Mend

Next Article

Be the Player: สุดยอดเทคโนโลยีถ่ายทอดในซูเปอร์โบว์ลครั้งที่ 51

Related Posts