Astalift

จาก Fujifilm ถึง Astalift : พลิกธุรกิจในยามวิกฤต

ในยุคที่กล้องดิจิทัล หรือโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายภาพได้สวยไม่แพ้อุปกรณ์ราคาแพงกลายเป็นเรื่องปกติ ความสำคัญของกล้องฟิล์มก็ค่อยๆลดลงจนถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่มเล็กๆ

แม้จะไม่ถึงกับสูญพันธุ์ แต่ยอดขายฟิล์มที่แทบไม่มีผลใดๆในภาพรวมตลาด ก็ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมต้องล้มหายตายจากไป เพราะไล่ตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน

ยกเว้น Fujifilm ที่พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ พาตัวเองข้ามฟากไปยังอีกธุรกิจ ชนิดที่แม้แต่ โทโมโกะ ทาชิโระ นักวิจัยของบริษัทยังไม่อยากเชื่อ

ทาชิโระ ยอมรับว่ารู้สึกช็อคที่ถูกขอให้เปลี่ยนไปดูแลโปรเจกต์เครื่องสำอางของบริษัท หลังกลับจากลาคลอดในปี 2005 เพราะ ณ เวลานั้น ไม่มีใครเชื่อว่าเทคโนโลยีของบริษัท จะถูกปรับมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้

12 ปีผ่านไป เครื่องสำอางและผลิตภัณท์บำรุงรักษาผิว กลายเป็นหน่วยงานที่ทำกำไรสูงสุดของ Fujifilm ด้วยรายรับกว่า 3,400 ล้านดอลลาร์ (1.08 แสนล้านบาท) ต่อปี ขณะที่คู่ปรับสำคัญอย่าง Kodak ถูกกระแสดิจิทัลพัดหายไปจากสารบบ…

 

Disrupt ตัวเอง ก่อนถูก Disrupt

Fujifilm ซึ่งก่อตั้งในปี 1934 คือยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดฟิล์มในญี่ปุ่นต่อเนื่องหลายทศวรรษ แต่ก็ไม่ละเลยที่จะให้ความสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างกล้องดิจิทัล แม้รู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อแผนกอนาล็อกของบริษัท

ชิเงทากะ โคโมริ ซีอีโอและประธานบริษัท สรุปสั้นๆว่าหาก Fujifilm ไม่ทำ คนอื่นก็ลงมือทำอยู่ดี นั่นเป็นที่มาของ FUJIX DS-1P กล้องดิจิทัลรุ่นแรกของโลกในปี 1988

ในทางการตลาด DS-1P ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยราคาขายที่สูงถึง 10,000 ดอลลาร์ (3 แสนบาท) คนที่เลือกใช้จึงมีเพียงช่างภาพอาชีพของนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เท่านั้น ยังไม่นับเรื่อง resolution ที่ยังเทียบกับกล้องฟิล์มในเวลานั้นไม่ได้

13 ปีต่อมา ตลาดกล้องฟิล์มยังโตอย่างต่อเนื่อง และกำไร 2 ใน 3 ของบริษัท ก็ยังมาจากแผนกอนาล็อก ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจยุบแผนกดิจิทัล และหันไปเปิดตัว Instax mini กล้อง Instant Camera ที่ขายได้เกินกว่าล้านยูนิตในปี 2002

แต่จากนั้นไม่นาน ยอดขายฟิล์มก็ตกลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึงปี อัตราล้างรูปลดลงจาก 5,000 ม้วนต่อวัน เหลือไม่ถึงพันม้วน ในเวลาแค่หกเดือน

ยังไม่ทันที่กล้องฟิล์มจะหาทางรับมือกับกล้องดิจิทัล คู่แข่งรายใหม่อย่างโทรศัพท์มือถือก็ถือกำเนิดตามมา แรงส่งจากโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook, Instagram และ Twitter ทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพตัวเลือกแรกโดยปริยาย

 

ธุรกิจฟิล์มสู่ธุรกิจบำรุงผิว

ทางรอดของ Fujifilm คือปรับกลยุทธ์ใหม่ เริ่มจากลดกำลังผลิตฟิล์ม ที่นำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานกว่า 5 พันคน

แม้จะลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 5 พันล้านดอลลาร์ แต่ปัญหาของบริษัทคือแหล่งรายได้ใหม่ที่จะมาแทนธุรกิจฟิล์มที่กลายเป็นอดีต

ผลจากงานวิจัยด้านเคมีของบริษัทนานเกือบหนึ่งศตวรรษ โคโมริ ตัดสินใจโยกจากธุรกิจฟิล์ม ไปสู่ธุรกิจเครื่องสำอางแทน ในชื่อ Astalift ในปี 2007 ด้วยการประยุกต์กระบวนการและสารเคมีที่ช่วยคงความสดใสของสีในภาพ เข้ากับการบำรุงผิวพรรณ

ห้าปีหลังการเข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอาง Astalift ทำรายรับรวมถึง 21,400 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็นเสาหลักของบริษัทไปแทน

แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ โคโมริ ยังไม่หยุดอยู่แค่ Astalift แต่ขยายไปสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ ด้วยการพัฒนายาต้านมะเร็ง ยารักษาโรคที่เกิดการการเสื่อมของเซลล์ประสาท (อัลไซเมอร์ ฯลฯ) และอาการติดเชื้อต่างๆ

 

ไม่ทิ้งรากเหง้า


แม้ Instax mini จะมียอดขายทั่วโลกกว่า 5 ล้านเครื่องต่อปี แต่ถือเป็นเพียง 1% ที่ทำกำไรให้กับบริษัทเท่านั้น ทั้งที่ในอดีต แผนกฟิล์มเคยทำไว้สูงถึง 70%

กระนั้น โคโมริ ก็ยังยืนกรานที่จะคงรากเหง้าของบริษัทเอาไว้ เพราะเชื่อว่าการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ถือเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของมนุษยชาติ แม้ไม่อาจทำกำไรให้บริษัทได้อีกก็ตาม

 

AHEAD TAKEAWAY

ขณะที่ Fujifilm เอาตัวรอดได้จากการแนวคิดที่เหนือความคาดหมาย อดีตคู่แข่งอย่าง Kodak กลับไม่สามารถยืนหยัดได้ ทั้งที่มีโอกาสฉีกหนีไปก่อนด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปในปี 1975 วิศวกรรายหนึ่งเคยเสนอไอเดีย “กล้องไร้ฟิล์ม” (filmless camera) ต่อผู้บริหารของบริษัท แต่กลับถูกหัวเราะเยาะ

และใน 37 ปีให้หลัง Kodak ก็ถึงคราวล้มละลาย เพราะไม่อาจปรับตัวได้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จนถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการเทคโนโลยี เหมือนที่ Blockbuster เคยปฏิเสธการซื้อกิจการของ Netflix และลงเอยด้วยการล้มละลาย จนปัจจุบันเหลือเพียงสาขาเดียวในโลก ขณะที่ฝ่ายหลังกลายเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจสตรีมมิ่งปัจจุบัน

จาก Kodak ถึง Blockbuster : 10 การตัดสินใจทางธุรกิจสุดเฟลตลอดกาล

SOURCE: Channelnewsasia

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Happy Birthday WhatsApp: เรื่องเล่าจาก Jan Koum

Next Article
Air-Ink

Air-Ink : หมึกรีไซเคิลจากมลพิษ

Related Posts
Strategic partnership
Read More

Strategic partnership: หมัดเด็ดเพื่อความโดดเด่น

ปัจจุบัน พันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic partnership) กลายมาเป็นอาวุธสำคัญ สำหรับแบรนด์ต่างๆ ทั้งในการบุกเบิกตลาดใหม่ สร้างอัตลักษณ์ให้โดดเด่นจากคู่แข่งในตลาดเดิม