Happy Birthday WhatsApp: เรื่องเล่าจาก Jan Koum

พรุ่งนี้ (24 ก.พ.) WhatsApp หนึ่งในผู้บุกเบิกแอพพลิเคชันส่งข้อความ ที่มีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคนทั่วโลก จะเปิดให้บริการครบ 8 ปี

พร้อมกับเป็นวันเกิดครบ 40 ปีของ Jan Koum ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง WhatsApp Inc.พอดี

ใน Startup Grind 2017 Global Conference วันที่สอง ที่เพิ่งจบไปเมื่อเช้าตามเวลาบ้านเรา Koum ก็ถูกวางให้เป็นเกสท์สปีกเกอร์คนสุดท้ายของงาน โดยมีเพื่อนสนิทอย่าง Alex Fishman จาก Bugsee เป็นคนสัมภาษณ์

นัยว่าเจ้าของงานตั้งใจให้เป็นโอกาสพิเศษสำหรับ Koum และ Whatsapp อยู่แล้ว เพราะไอเดียและชื่อของแอพฯ ก็เกิดขึ้นจากบทสนทนาระหว่างทั้งสองคน ที่บ้านของ Fishman เมื่อเกือบสิบปีก่อนนั่นเอง…

หันหลังให้ Yahoo
คำถามจาก Fishman คือทำไม Koum กับ Brian Acton (อีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง Whatsapp) ถึงลาออกจาก Yahoo ออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง ทั้งที่ในยุคนั้น วงการสตาร์ทอัพยังไม่แข็งแรงอย่างทุกวันนี้ โอกาสที่จะหาทุนเพื่อผลักดันโปรเจกท์ใหม่ๆก็ยังเป็นเรื่องยาก

Koum รู้สึกว่าการทำงานให้ Yahoo ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในเวลานั้น ยังไม่ใช่สิ่งที่ใช่ เลยตัดสินใจลาออกมาพักสมองหนึ่งปี แล้วใช้ช่วงเวลานั้นออกตระเวนเที่ยว รวมถึงไปยื่นใบสมัครที่ Facebook ซึ่งยังอยู่ในช่วงตั้งไข่เช่นกัน

ผลปรากฎว่าทั้งคู่ไม่ผ่านสัมภาษณ์!?!


จุดไอเดียด้วยไอโฟน

ในช่วงไล่เลี่ยกัน ไอโฟนก็เพิ่งเปิดตัว App Store ได้ไม่นาน Koum และ Acton ถึงเห็นช่องทางที่จะได้งานใหม่โดยไม่ต้องไปนั่งสัมภาษณ์งานอีก

เพราะในยุคนั้น ecosystem ของไอโฟน ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน (Koum ใช้คำว่า undiscoverd area) ต่างจากพีซีที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมแล้ว และสำหรับ Koum นั่นคือ “โอกาส”

จับสิ่งคุ้นเคยมาใช้
Koum หยิบความคุ้นเคยจากการใช้งานโปรแกรมแชทในพีซี อย่าง IOC, ICQ หรือ Yahoo Messenger มาปรับใช้กับนิวดีไวซ์ในยุคนั้นอย่างไอโฟน โดยเริ่มจากการทำหน้าที่บอก status ของผู้ใช้งานเป็นหลักว่าพร้อมรับโทรศัพท์หรือไม่ (busy, available ฯลฯ)

สะดุด
ใช่ว่าไอเดียที่คิดว่าดีแล้วจะได้รับการตอบสนอง เพราะช่วงแรกหลังจากเปิดตัว Whatsapp ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้ เพราะเห็นว่า “ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา” จนแม้แต่ Koum ยังยอมรับว่าเริ่มท้อ

จนเมื่อ Apple เปิดตัวฟังก์ชั่น push (แจ้งเตือน) สำหรับผู้ใช้งานที่ไม่ได้เปิดแอพทิ้งไว้ ไอเดียที่ถูกมองข้ามของ Whatsapp ถึงเริ่มเห็นผล

ขยายขอบเขต
จากแค่ทำหน้าที่บอกสเตตัสเป็นหลัก Whatsapp เริ่มขยับไปสู่ instant messaging เพื่อแทนการส่งข้อความทางโทรศัพท์ที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่อครั้ง ปรับการใช้งานให้ง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆที่มาก่อน อย่าง Skype ที่มีขั้นตอนยุ่งยากกว่า

การโฟกัสที่ Contact ในโทรศัพท์ ยังเป็นกุญแจไขให้ Whatsapp ไม่ถูกจำกัดว่าต้องใช้งานบนแพลทฟอร์มเดียวกัน

Koum ชี้ว่าการได้ร่วมงานกับ Nokia ที่ยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดช่วงนั้น มีส่วนมากในการขยายกลุ่มผู้ใช้งานให้กับ Whatsapp

Under Radar
แม้จะได้รับความนิยม แต่ Koum กลับไม่เคย pitch เพื่อขอทุน หรือซื้อโฆษณาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง กระทั่งป้ายหน้าออฟฟิศก็ไม่มี

นั่นเพราะทั้งคู่ไม่ต้องการเร่งรัดให้ Whatsapp เติบโตเร็วเกินไป เปิดช่องให้ทีมงานมีเวลาลองผิดลองถูกมากขึ้น แทนที่จะเปิดตัวอย่างใหญ่โตแล้วเกิดปัญหา เพราะประสบการณ์ของผู้ใช้คือสิ่งสำคัญสุด

Keep Grinding
จากการเริ่มต้นในโรงรถโดยคนเพียง 2 คน ทุกวันนี้ Whatsapp Inc. ขยายตัวจนมีพนักงานราว 200-250 คน มีผู้ใช้บริการกว่า 1.2 พันล้านคน

และ Koum ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Facebook จนได้ เมื่อยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียเข้าซื้อกิจการของ Whatsapp ในราคา 19,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อสามปีก่อน

Koum เชื่อว่าการเรียนรู้ระหว่างทางเป็นเรื่องปกติ เพราะไอเดียเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องลงตัวเสมอไป สามารถแก้ไขได้เสมอ

และที่สำคัญคือต้องเดินหน้าอย่าหยุด Keep Grinding!!!

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Samsung เปิดตัว4โปรเจกต์ เน้น AR/VR

Next Article
Astalift

จาก Fujifilm ถึง Astalift : พลิกธุรกิจในยามวิกฤต

Related Posts