บัคมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ สถาปนิก นักออกแบบ นักประดิษฐ์ และนักเขียนชาวอเมริกัน เคยกล่าวว่า
“มลพิษไม่ใช่อื่นใดนอกจากทรัพยากรที่เรายังไม่เก็บเกี่ยว เราปล่อยให้พวกมันฟุ้งกระจายไป เพราะเราไม่ใส่ใจกับคุณค่าของมัน”
ประโยคดังกล่าว กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ อนิรุดห์ ชาร์มา (Anirudh Sharma) ศิษย์เก่า MIT ริเริ่มก่อตั้งสตาร์ทอัพ Graviky Labs เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนมลพิษในอากาศให้กลายเป็นหมึกดำ
สามปีหลังจากการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า Air-Ink ก็ถูกนำเสนอเพื่อระดมทุนผ่าน Kickstarter และทำยอดทะลุเป้า 14,000 ดอลลาร์ที่ตั้งไว้เกินเท่าตัวแล้ว
ตอนนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี 2 แบบคือมาร์คเกอร์สำหรับเขียน (25 ดอลลาร์) และหมึกซิลค์สกรีนบรรจุขวด (198 ดอลลาร์) โดย ชาร์มา และ นิคิล คอชิค (Nikhil Kaushik) ก็มีแผนที่จะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ สเปรย์ หรือสีน้ำมัน รวมถึงมีแผนขยายกำลังผลิตเพื่อให้ราคาของตัวหมึกถูกลงในอนาคต
วัตถุดิบของ Air-Ink ได้จากการใช้ Kaalink อุปกรณ์รูปทรงคล้ายกระบอกลมติดตั้งเข้ากับท่อไอเสียรถยนต์ เครื่องปั่นไฟฟ้าพลังดีเซล หรือปล่องควันโรงงาน เพื่อดักอนุภาคคาร์บอนก่อนจะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ
จากนั้นจะถูกนำเข้าสู่ห้องแล็บเพื่อแยกโลหะหนัก ฝุ่น และสารก่อมะเร็งออก จากนั้นจะนำคาร์บอนที่ผ่านกระบวนการนี้มาผสมกับตัวทำละลายเพื่อผลิตเป็นหมึกต่อไป
Graviky Labs อ้างว่าการใช้หมึก Air-Ink เพียงหนึ่งออนซ์ เท่ากับลดมลพิษจากท่อไอเสียที่รถยนต์ปล่อยออกมานานถึง 45 นาที และยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนปลอดสารพิษ และผ่านการทดสอบเพื่อความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสินค้าที่ขายในสหรัฐแล้ว
ด้วยการสนับสนุนจาก Tiger Beer ของสิงคโปร์ Graviky สามารถเดินทางหรือว่าจ้างอาสาสมัครท้องถิ่น ในการรวบรวมวัตถุดิบจากเมืองต่างๆ อาทิ กรุงดักกา (บังกลาเทศ) บังกาลอร์ (อินเดีย) และฮ่องกง เพื่อรีไซเคิลมลพิษเหล่านี้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปของงานศิลปะอีกครั้ง จากฝีมือของ ดิบาราห์ มาห์มุบ (ดักกา) สเนหา สเรชธา (บังกาลอร์) และ คริสโตเฟอร์ โฮ (ฮ่องกง)
ขณะที่ ศาห์รุข ข่าน ดาราบอลลีวู้ด ก็เห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่ Graviky Labs พยายามทำ และเสนอตัวเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ และร่วมขึ้นบนเวที Ted Talk ในอินเดีย เพื่อพูดถึงเรื่องนี้ด้วย
เพื่อตอกย้ำว่า “มลพิษ” ก็มี “คุณค่า” อย่างที่ บัคมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ เคยกล่าวไว้
SOURCE: Kickstarter
AHEAD TAKEAWAY
การนำขยะกลับมารีไซเคิลไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้แต่ในบ้านเรา ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ บริษัท วงษ์พาณิชย์ จำกัด เจ้าพ่อธุรกิจรีไซเคิลของไทย ก็เล็งเห็นคุณค่าของเรื่องนี้มานานแล้ว และเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าตลาดรีไซเคิลนั้นเป็นบลูโอเชียนที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก
เพราะไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะ ยังช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงนำไปสู่การสร้างงาน และเสริมภาพลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย
ยิ่งในบ้านเรา เมื่อมีประเด็นเรื่องมลภาวะทั้งจากโรงงาน และรถเครื่องยนต์ดีเซล จนประชาชนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น นอกจากการพยายามลดการใช้และสร้างมลภาวะแล้ว การพยายามสร้างประโยชน์จากสิ่งที่คนมองว่ามีแต่โทษ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ควรนำมาใช้เช่นกัน
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า