Uber vs Taxi : โลกหมุนเร็ว รัฐต้องหมุนตาม

ยังเป็นประเด็นต่อเนื่องสำหรับกรณีภาครัฐล่อซื้อจับรถที่ให้บริการของ Uber ทั้งในเขตกรุงเทพฯ 18 ราย หรือกรณีกลุ่มรถแดงเชียงใหม่ จัดทีมเฉพาะกิจล่าโดยเฉพาะ เพื่อส่งดำเนินการตามกฎหมาย

แต่ท่าทีของเครือข่ายขนส่งจากสหรัฐรายนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติการให้บริการแต่อย่างใด ล่าสุด ก็เพิ่งเปิดให้บริการเพิ่มเติมในแถบบางแสน และชลบุรี ด้วยอัตราค่าเรียก 30 บาท และขั้นต่ำ 75 บาท

อาจเพราะกรณีนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสตาร์ทอัพที่ให้บริการในลักษณะ car-sharing

เพราะนับแต่เปิดให้บริการ Uber (รวมถึง Grab) ก็ตกเป็นเป้าคัดค้านจากผู้ขับและบริษัทแท็กซี่ รวมถึงหน่วยงานรัฐ ที่เห็นว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายในการประกอบธุรกิจ จนมีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายๆชาติ ทั้ง เยอรมนี อินเดีย สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ฯลฯ


วิดีโอบันทึกความพยายามล่อซื้อ Uber ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน

 

เฉพาะในรายของ Uber ก็พร้อมรับมือกับกรณีนี้มานานแล้ว หลังหนังสือพิมพ์ New York Times ตีพิมพ์รายงานว่ามีการพัฒนาโปรแกรมที่เรียกว่า Greyball เพื่อตรวจสอบว่าการเรียกใช้บริการแต่ละครั้ง มาจากลูกค้าจริง หรือเป็นการล่อซื้อ และได้รับคำยืนยันจากพนักงานและอดีตพนักงานของบริษัทจำนวน 4 ราย ว่ามีการใช้งานโปรแกรมนี้จริง

หลักการทำงานของ Greyball คือการวิเคราะห์ข้อมูลจากการเรียกใช้งาน/ข้อมูลเครดิตการ์ด/สถานที่เรียก รวมถึงการรวบรวมข้อมูลจากร้านค้าต่างๆว่าโทรศัพท์รุ่นใดที่เจ้าหน้าที่ซื้อมาเพื่อใช้ในการล่อซื้อ

เมื่อวิเคราะห์แล้วว่าการเรียกครั้งนี้ไม่ได้มาจากลูกค้า แอพลวงของ Uber ก็จะทำงานทันทีด้วยการส่งข้อมูลปลอมว่ารถกำลังเดินทางไปรับผู้โดยสาร หรืออาจยกเลิกให้บริการนั้นแทน

ฟังและอ่านอย่างผิวเผินอาจสนุกเหมือนภาพยนตร์สายลับที่ต่างฝ่ายต่างชิงไหวชิงพริบ แต่ในความเป็นจริง Greyball กลับยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของ Uber เอนเอียงไปในเชิงลบมากกว่า

เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Marietje Schaake สมาชิกสภาผู้แทนของพรรคเดโมแครทในเนเธอร์แลนด์ส ให้สัมภาษณ์ว่าได้ทำเรื่องแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เพื่อขอให้มีการพิจารณาสอบสวนว่าโปรแกรม Greyball นี้ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

 

มุมมอง AHEAD ASIA:
นอกจากเรื่องระบบขนส่งมวลชน แท็กซี่ยังเป็นอีกบริการขนส่งสาธารณะที่ยังมีเรื่องให้ถกเถียงกันไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะประเด็นการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ที่แม้จะมีการกำหนดบทลงโทษแล้ว แต่ก็ยังเกิดขึ้นเป็นระยะ หรือในเชียงใหม่ที่เริ่มมีผู้ไม่พอใจรถแดง จนมีแคมเปญรณรงค์หยุดใช้รถแดงในเชียงใหม่ ผ่าน change.org

ขณะที่ในมุมของผู้บริโภค การมาถึงของ Uber และ Grab เท่ากับเปิดโอกาสให้มีตัวเลือกมากขึ้น แม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ก็จะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการให้บริการ เพื่อรับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น

เพราะแม้จะถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่ Uber ก็เปิดให้บริการแล้วกว่า 300 เมืองใน 58 ประเทศ (ข้อมูลจากปี 2015) และ John-Kurt Pliniussen ผู้เชี่ยวชาญด้านอี-คอมเมิร์ซ จาก School of Business มหาวิทยาลัยควีนในแคนาดา ก็เชื่อว่าธุรกิจ car-sharing service นี้จะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ เพราะ “ตอบโจทย์ผู้บริโภค”

สตาร์ทอัพรายหนึ่งจากเวียดนาม ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจกับทีมงาน AHEAD ASIA ในเรื่องนี้ว่าปัจจุบันโลกนั้นหมุนไปเร็วมาก หลายครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่อาจไม่เข้าข่ายกฎหมายที่เคยบังคับใช้ จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเร่งปรับตัวตามให้ทัน

พร้อมยกตัวอย่างกรณีของ Grab และ Uber ในเวียดนาม ที่อยู่ระหว่างการปรับให้เข้ากับกฎหมายของประเทศ เริ่มจากการที่ผู้ขับขี่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ 3%

แม้จะยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มแท็กซี่ แต่อย่างน้อย ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลเวียดนามในการปรับตัวบ้างแล้ว

เพราะไม่ช้าก็เร็ว การเปลี่ยนแปลงจะมาถึงแน่นอน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

สิงคโปร์จ่ายค่าโดยสารด้วยบัตร contactless

Next Article

Google Cloud Next 2017 #1: สาส์นท้ารบจาก Google ในสมรภูมิคลาวด์

Related Posts