สรณัญช์ ชูฉัตร: เปลี่ยนโลกด้วยพลังงานสะอาดกับ Etran

“การทำสตาร์ทอัพที่ดี ควรจะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองที่สร้างมูลค่า คนที่จะสำเร็จได้คือต้องเป็นเบอร์หนึ่งเท่านั้น บ้านเราส่วนมากเป็นสตาร์ทอัพด้านซอฟต์แวร์ เพราะต้นทุนไม่สูง แต่เราเลือกจะทำด้านฮาร์ดแวร์ เพราะเราต้องการยิ่งใหญ่ มันยาก แต่เราไปถึงเบอร์หนึ่งได้ง่ายกว่า”

จากนักออกแบบเจ้าของรางวัลระดับโลก Red Dot Design Award “เอิร์ธ” หรือ สรณัญช์ ชูฉัตร เลือกเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ พร้อมเปิดตัวมอเตอร์ไซค์พลังงานสะอาด ในชื่อ ETRAN (อีทราน) ที่มาพร้อมกับแนวคิด “เพื่อสาธารณะ”

นักสร้างหุ่นยนต์สู่สถาปัตย์

“ทั้งหมดมันก็เป็นจินตนาการที่ได้มาตั้งแต่สมัยเด็กที่เราอยู่กับมอเตอร์และก็ถ่าน เพียงแต่วันนี้เรามาใช้ให้มันเกิดประโยชน์ต่อโลก”

จุดเริ่มต้นแห่งจินตนาการ ของ สรณัญช์ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียนที่สาธิตจุฬา เมื่อมีโอกาสหัดเขียนโปรแกรมตั้งแต่สมัยประถม และสร้างหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในช่วงมัธยมต้น

“เพื่อนคนอื่นเค้าเตะบอล เล่นไพ่ยูกิกัน คุณแม่ผมไม่ให้เล่นเกม จะแตะคอมพิวเตอร์ได้คือห้องคอมพ์ฯ จนชั่วโมงแนะแนว เราก็บอกคุณครูไปว่าอยากเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์”

แต่การคร่ำเคร่งกับสิ่งที่สนใจมากไปกลายเป็นผลเสีย ถึงขนาดเป็นไมเกรนขั้นรุนแรง ต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อแพทย์แนะนำว่าต้องลดความเครียดลง เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สรณัญช์ จึงเริ่มมองหาทางเลือกอื่น ก่อนลงเอยกับงานด้านออกแบบ

“ผมรู้จักกับผู้ใหญ่ท่านนึง เรียกแกว่า ‘ลุงส่ง’ แกเป็นศิษย์เก่าสถาปัตย์จุฬารุ่นไล่ๆกับพี่ประภาส (ชลศรานนท์) เห็นแกฮาทั้งวัน เลยคิดว่าน่าจะสนุกดี ก็เลยมาฝึกด้านดีไซน์แทน จนมาเข้าเรียนสถาปัตย์ที่ลาดกระบัง เป็นภาคออกแบบอุตสาหกรรม จนช่วงปี 3 ปี 4 เราก็เลือกเรียนวิชาออกแบบรถ แต่อาจารย์บอกว่าสายนี้จบไปก็ไม่มีงานทำ อย่างดี เขาก็ให้ออกแบบแค่หูช้าง เราเลยรู้สึกว่าจะเรียนต่อไปทำไม ก็เลยหันไปออกแบบผลิตภัณฑ์จนจบ”

ออกแบบงาน ออกแบบชีวิต

MIA Colllaboration (ย่อมาจาก Mixture of Industries and Arts) คือบริษัทที่ สรณัญช์ ก่อตั้งร่วมกับเพื่อนๆเพื่อรับงานทั้งด้านสถาปนิก อินทีเรียร์ ฯลฯ ควบคู่กันไป ระหว่างเรียนสถาปัตย์ที่ลาดกระบัง และกลายเป็นงานหลักที่สร้างชื่อให้เจ้าตัวและเพื่อนพ้องในเวลาต่อมา อาทิ Kidzania, น้ำมะพร้าว SAMU รวมถึงก๊อกน้ำที่ได้รับรางวัล Red Dot Design สาขา Bathroom Design

“ผมเรียน 8 ปีจบ เพราะระหว่างเรียน เราก็ทำงานไปด้วย จากบริษัทออกแบบ ผมก็เปลี่ยนมาเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับแนวคิดในการออกแบบ ชีวิตก็เริ่มสบายขึ้น”

“จนวันนึงคนขับรถลา เราก็ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์จากคอนโดกลางทองหล่อไปขึ้นบีทีเอส ตอนสี่โมงเย็น ก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเหม็นมาก รถก็ติด เสียงก็ดัง เห็นว่ามันเป็นมลภาวะ ก็เกิดไอเดียว่าอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับสาธารณะ เพราะไม่มีแบรนด์ไหนในโลกที่ทำ งั้นเรายึดจุดตรงนี้เลยละกัน เป็นแบรนด์เพื่อสาธารณะอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

“เศรษฐกิจ คืออยากให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา กระตุ้นแรงงานและยอดขาย สังคม คือคนใช้สินค้าเราต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ยิ่งติดหนี้ ให้เค้าพ้นจากวงจรนี้ สิ่งแวดล้อม จากประสบการณ์ส่วนตัวที่นั่งมอเตอร์ไซค์วันนั้น เลยคิดว่าต้องเป็นพลังงานสะอาด มันอาจจะมี Tesla ฯลฯ แต่มันไม่เกิดในบ้านเรา ผมก็เลยเรียกเพื่อนๆที่เรียนลาดกระบังมาเล่าความฝันของเราให้ฟัง”

พลิกโฉมรถสาธารณะ

แม้จะเคยเชื่อว่างานออกแบบรถยนต์ไม่เวิร์ค แต่หลังจากได้คุยกับเพื่อนๆที่แยกย้ายไปทำงานด้านออกแบบมอเตอร์ไซค์ให้ผู้ผลิตรถยนต์ในบ้านเรา สรณัญช์ ก็ค้นพบก้าวแรกที่จะทำให้ความฝันครั้งล่าสุดกลายเป็นจริง

“มอเตอร์ไซค์ เป็นสิ่งที่คนไทยออกแบบได้ดีมาก แปลว่าตอนนั้น อาจารย์บอกไม่หมด (หัวเราะ) ความจริงคือบ้านเราส่งออกมอเตอร์ไซค์เป็นอันดับสองของโลก ชนะฝั่งยุโรปฝั่งญี่ปุ่น เพราะมันอยู่ในสายเลือดของเรา ก็เหมือนจะให้ไปออกแบบรถสปอร์ต แต่เราไม่ค่อยได้ขับมัน เราก็สู้เค้าไม่ได้”

“ด้วยความที่ฝันของเรามันใหญ่ เลยคิดว่าต้องเริ่มจากที่มันจับต้องได้ก่อน ก็เริ่มที่มอเตอร์ไซค์นี่แหละ บ้านเรามีมอเตอร์ไซค์อยู่ 20 ล้านคัน ขณะที่มาร์เก็ตของเรามีอยู่ซัก 3 แสนคัน โดยหลักการ มันเล็กเกินกว่าแบรนด์ใหญ่เค้าจะลงมาทำ เราก็เลยเลือกที่จะเจาะกลุ่มนี้เป็นหลัก”

ตามนิยามของคำว่า “มอเตอร์ไซค์สาธารณะ” สรณัญช์ เลือกที่จะพลิกความคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบใหม่หมด ตามหลักการใช้งานจริง จนเป็นที่มาของการแยกเบาะระหว่างคนขับและคนนั่งแบบชัดเจน

“ทุกวันนี้ มอเตอร์ไซค์ไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงคนนั่งซ้อน บ้านเรานี่เป็นคนริเริ่มยืดเบาะยาวให้ซ้อนได้ พอมันขายดีก็เลยยึดหน้าตาแบบนี้ แต่มาดูการใช้งานจริง มันเป็นปัญหา ที่เห็นชัดๆเลยคือผู้หญิงต้องนั่งเอียง มันทำให้เสียสมดุล คนขี่ก็ต้องเอียงตัวสู้ ทำให้ความปลอดภัยลดลง”

“เราก็เลยมารีดีไซน์ใหม่ คำว่าสาธารณะ ก็ได้สมมติฐานอันแรกคือต้องนั่งสบาย พอเอาชิ้นส่วนของรถน้ำมันออก ก็เหลือช่องว่าง ตรงนี้ก็จะเป็นช่องว่างสำหรับวางขาแทน ทีนี้ ก็หาวิธีว่าจะทำยังไงให้คนขับสบายขึ้น เราก็เลยเลื่อนเบาะหน้ามาให้คนขับคร่อมถังน้ำมันแบบบิ๊กไบค์ ดีไซน์ของเรานี่ทำมาเป็นร้อยแบบเลยนะครับ (เน้น) เวลานั่งวินก็เอาไปถามพี่วินด้วยว่าชอบมั้ย หาว่าสิ่งที่เค้าชอบไม่ชอบคืออะไร จนออกมาเป็นfinal design คือตัวต้นแบบที่เราเห็น”

จะรอหรือจะทำ?

“ถ้าเรารอให้รถพลังงานสะอาดพร้อมในอีก 10 ปีอย่างที่รัฐบาลว่าไว้ คำถามคือเราจะรอ หรือเราจะทำ คำตอบของผมคือเราเลือกจะทำ…”

หลายปีก่อนหน้า ความพยายามของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในการนำรถพลังงานสะอาดหรือไฮบริดมาใช้ ยังไม่ประสบความสำเร็จ (Prius ยุติสายการผลิตในไทยไปตั้งแต่เดือนส.ค. 2015 ปัจจุบัน Toyota เหลือ HEV ที่ยังอยู่ในตลาดเพียง 2 รุ่นคือ Camry และ Alphard)

แนวคิดของ สรณัญช์ คือวางรากฐานด้วยรถสาธารณะก่อน ด้วยบริการเช่ารถ Etran Prom ในราคา 3,500 บาทต่อเดือน รวมเซอร์วิสครบวงจร เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจก่อนขยับไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆในอนาคต

“เราเริ่มจากกลุ่ม public ก่อน เหมือนสมัยรถติดแก๊ส ก็เริ่มจากแท็กซี่ พอคนเริ่มเห็นว่ามันไม่มีปัญหา ถึงรู้ว่ามันเวิร์ค เราอยากสร้างมุมมองใหม่ๆให้เห็นว่ารถไฟฟ้าก็โอเค แต่เรื่องจุดชาร์จ ผมมองว่ามันไม่ตอบโจทย์สำหรับการใช้งาน เราทำสาธารณะ ฉะนั้น มันต้องเร็ว จะไปต่อคิวชาร์จไฟเป็นชั่วโมง พี่วินเค้าไม่รอเราหรอก”

“สิ่งสำคัญคือจะทำยังไงให้มันเร็ว ผมก็เลยเอาเทคโนโลยีการเปลี่ยนแบตมาใช้แทน ใช้วิธีถอดออกไปเสียบตู้ แล้วก็เอาลูกที่อยู่ในตู้มาเสียบในรถแทน รูปแบบของ Etran Prom จะเป็นแบบสมาชิก เอาการ์ดไปแตะที่ตู้แล้วก็เอาแบตออกมาเสียบรถตัวเองได้ นี่คือวิธีการทำให้รถมันเกิดก่อน เดี๋ยว Infrastructure จะตามมาเอง”

“เราก็สร้างจุด swap แบตเตอรี่เอง ตอนนี้มองใต้สถานีรถไฟฟ้าไว้ เพื่อเชื่อมต่อทั้งเมืองให้ใช้พลังงานสะอาด แต่ละสถานี เราก็จะมีแบตเตอรี่สแตนด์บายไว้ประมาณ 300 ก้อน และก็จุดเปลี่ยนแบตก็จะตั้งไว้ประมาณ 300 จุด แล้วค่อยขยายไปตามตรอกซอกซอย จนทั่วประเทศภายใน 5 ปี”

“เรื่องโอเปอเรชั่นหน้างานคือเรื่องที่เราเน้นที่สุด เพราะถ้าเซอร์วิสไม่ดีจริง ใครจะกล้าใช้ การที่เราเปิดให้เช่า ถ้ารถมีปัญหา เราก็เปลี่ยนให้เลย จะชนหรือแบตพังก็แล้วแต่ คันนั้นเราก็เอาไปซ่อม ถ้ามองว่าเราสะดวกทำอะไร มันไม่ตอบโจทย์ลูกค้าหรอก แต่ถ้าเรามองว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วเราหาวิธีประยุกต์ให้ได้อย่างที่เค้าต้องการ”

เปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยี

“สำหรับผม Startup คือบริษัทที่โตแบบก้าวกระโดดได้ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย ถ้าโตแบบหยุมหยิม มันจะคุ้มทุนได้ยังไง แบรนด์ใหญ่ๆ มอเตอร์ไซค์หนึ่งคันใช้งบ R&D 300 ล้าน ใช้เวลาพัฒนา 3 ปี เราทุนน้อย ก็ต้องคิดหาวิธีใหม่ๆมาลองทำ ถ้าเราปล่อยไปอีก 3 ปี มลภาวะบ้านเราจะหนักขนาดไหน หรืออาจมีคนตัดหน้าทำแบบที่เราคิดไปแล้ว”

“ในการทำแบบนี้ Mindset ของเราคือต้องเป็นเบอร์หนึ่ง เราต้องยึดตลาดให้ได้ ให้คนได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ แต่ถ้าคิดจะทำแล้วต้องเร็ว perfect ของผมคือการออกได้เร็ว เก็บข้อมูลจาก user ได้เร็ว แล้วเราค่อยมาปรับ”

จากแพลนเรื่องรถสาธารณะ ที่จะเริ่มให้บริการได้ช่วงปลายปี สรณัญช์ ยังมองไปถึงการต่อยอดของ Etran ไปถึงยานพาหนะอื่นๆ ทั้งแท็กซี่ รถขนส่ง ไปจนถึงเรือ หรือแม้แต่โดรน ด้วยมุมมองที่ว่าไฟฟ้าคือพลังงานที่จะมาทดแทนน้ำมันได้ในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้า

“ดีเซลนี่ตลาดใหญ่ของบ้านเรา ประมาณ 70% เพราะโลจิสติกส์เนี่ย ค่าน้ำมันเป็นปัญหา นอกจากค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องของมลพิษ หรือเรือนี่ผมว่าเหมาะสุด เพราะวิ่งไปมาเป็นเส้นตรงแค่นี้ ถ้าแบตหมด ก็แค่เปลี่ยน ผมยังอยากลองทำโดรนสำหรับฝนหลวง แทนที่จะต้องใช้นักบินขับ เครื่องบินที่ค่าใช้จ่ายสูง”

“รถทั้งคัน ผมมีเซนเซอร์วางไว้ 50 จุด วัดทุกอย่างตั้งแต่ลมยางไปจนถึงมอเตอร์ ฯลฯ ข้อมูลพวกนี้ก็จะส่งขึ้นคลาวด์หมด สิ่งที่เราได้จากตรงนี้ก็คือ data เราจะรู้ข้อมูลสำคัญในกรุงเทพหมดเลย จะติดอุปกรณ์วัดระดับเสียง วัดคาร์บอนไดออกไซด์ก็ได้”

“ผมตั้งเป้าว่าปีๆนึง เราจะช่วยให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงมากน้อยแค่ไหน ปีๆนึงเราจะทำหน้าที่แทนต้นไม้ใหญ่ได้ขนาดไหน นี่ก็เป็นความฝันอย่างนึงของผม”

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Lonely Planet

Lonely Planet ในยุคเปลี่ยนผ่าน: ปรับตัวเพื่อไปต่อ

Next Article
หุ่นยนต์

ปรับตัวอย่างไร ในโลกที่หุ่นยนต์แย่งงาน

Related Posts