หุ่นยนต์

ปรับตัวอย่างไร ในโลกที่หุ่นยนต์แย่งงาน

รายงานจากบริษัทวิจัยการตลาด Forrester ของสหรัฐ เมื่อ เดือนก.ย. ปีที่แล้ว ระบุว่า ในปี 2021

6% ของทุกอาชีพในสหรัฐ จะถูกแทนที่โดย หุ่นยนต์

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยี และกำลังจะเร็วขึ้นเรื่อยๆแบบนี้

เราจะยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นว่า แรงงานมนุษย์กำลังถูกกลืนด้วย หุ่นยนต์ และ AI ในทุกวงการ ไล่ตั้งแต่ แขนกลในโรงงาน การขนส่งด้วยรถยนต์ไร้คนขับ ไปจนถึง ปัญญาประดิษฐ์ Watson ที่ทำได้ตั้งแต่พิจารณาค่าสินไหม ไปจนถึงการวินิจฉัยอาการและดูแลผู้ป่วย

เมื่อเป็นแบบนี้ แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อไป?

 

เมื่อหุ่นยนต์แทนที่แรงงานมนุษย์

 

ระหว่างปี 2000-2010 งานวิจัยจาก Ball State University ระบุว่าการเลิกจ้างแรงงานอุตสาหกรรมในสหรัฐ ร้อยละ 87 เกิดจากประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ที่เจ้าของกิจการนำมาแทนที่มนุษย์

การเปลี่ยนแปลงนี้ เร็วจนแม้แต่ บิล เกตส์ ยังต้องเสนอให้รัฐจัดเก็บภาษีจากบริษัทที่ใช้งานหุ่นยนต์ เพื่อชะลอให้แรงงานมนุษย์มีเวลาปรับตัวกับอนาคตที่ไล่กวดมาจนใกล้กว่าที่เราคิด

แม้แต่ บาร์รัค โอบามา ยังกล่าวในสุนทรพจน์สุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่ง ว่าหุ่นยนต์จะเป็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น

“คลื่นความวุ่นวายทางเศรษฐกิจลูกต่อไป จะไม่ได้มาจากต่างประเทศ แต่จะมาจากการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเครื่องจักร ซึ่งทำให้แรงงานที่ดีในกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมาก กลายเป็นของล้าสมัย”

(The next wave of economic dislocations won’t come from overseas. It will come from the relentless pace of automation that makes a lot of good middle class jobs obsolete.)

คำถามจากนี้ จะไม่ใช่ “มันจะเกิดขึ้นหรือไม่?” หรือ “เมื่อไหร่?” อีกต่อไป

แต่เป็น “จะรับมืออย่างไร เมื่อเวลานั้นมาถึง”

 

#1

เงินปันผลพื้นฐานถ้วนหน้า

ยานิส วาโรฟาคิส (Yanis Varoufakis) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรีซ นำเสนอแนวคิดคล้ายๆกับที่ อีลอน มัสก์ แห่ง Tesla ระบุว่ารัฐจะต้องช่วยเหลือประชาชนในการยังชีพมากขึ้น แต่ไม่ใช่ในลักษณะของ basic income ที่มาจากเงินภาษี

แต่ควรใช้ระบบ (Universal Basic Dividend หรือ UBD) จากผลตอบแทนผลผลิตและกำไรโดย หุ่นยนต์

วิธีนี้เป็นการกำหนดสัดส่วนชัดเจนในกรรมสิทธิ์ในกองทุนสาธารณกุศล เพื่อให้คนในสังคมเป็นผู้ถือหุ้นในทุกๆบรรษัท และปันผลไปสู่ทุกคนอย่างเสมอภาค โดยไม่กระทบระบบภาษีและระบบรัฐสวัสดิการแบบเดิม

แนวคิดนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะที่จริง Alaska Permanent Fund เป็นกองทุนที่ปันผลรายได้จากน้ำมันไปสู่ประชากรทุกคนในรัฐอลาสก้า มาตั้งแต่ปี 1976 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว

 

#2

ปฏิรูปการศึกษา

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นจุดเริ่มของการเรียนในระดับมัธยมศึกษา เพื่อโยกแรงงานจากภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม

ส่วนทศวรรษที่ 60 และ 70 เป็นยุคที่การเรียนในระดับอุดมศึกษาเริ่มขยายตัวขึ้น เมื่อคนส่วนใหญ่ย้ายจากภาคอุตสาหกรรมมาสู่การทำงานในองค์กร

ในความเห็นของ เดวิด เดมิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาและเศรษฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ดนั้น การปฏิรูปการศึกษาในยุคต่อไป

จะไม่ใช่แค่การ “ฝึก” นักเรียนนักศึกษาเพื่อรองรับระบบอีกต่อไป แต่จะเป็นการสอนเพื่อให้เกิดทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา และการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญในอนาคต

 

#3

ปรับวิธีคิด

นักจิตวิทยาบำบัด ดร. โดโรธี แคนเทอร์ (Dorothy Cantor) ผู้เขียนหนังสือ What To Do When You Grow Up

ที่ว่าด้วยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในวัยกลางคน มองว่ารูปแบบของงานปกติ จะมีไกด์ไลน์คอยกำหนดการดำเนินชีวิตของเรา อาจเป็นสิ่งที่ต้องทำ ระยะเวลา ฯลฯ

แต่การทำงานในอนาคตที่ไม่มีเกณฑ์ตายตัว ผู้คนที่คุ้นเคยกับรูปแบบเดิมๆก็จำเป็นต้องปรับตัวใหม่

แม้แต่การเปลี่ยนงานและรีไทร์ เพราะถูกแทนที่โดยเครื่องจักร ก็จำเป็นต้องหาเป้าหมายใหม่ในชีวิต ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เคยตั้งใจไว้ในอดีตแต่ไม่เคยลงมือทำอย่างจริงจัง

 

AHEAD TAKEAWAY

หลายคนอาจกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่ในความเป็นจริง สิ่งมีชีวิตทุกประเภทบนโลก (ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์) ก็ต้องผ่านการปรับตัว การวิวัฒนาการ อยู่ตลอด เพื่อความอยู่รอด ตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว เมื่อ เฮนรี ฟอร์ด พยายามผลิตรถยนต์ ในยุคที่คนส่วนใหญ่ยังขี่ม้า ก็ก่อให้เกิดคำถามมากมาย แต่สุดท้าย ฟอร์ด ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายขึ้น มีเวลามากขึ้น

ส่วนอาชีพที่เคยเกี่ยวข้องกับม้า แม้จะลดจำนวนลงหรือหายไป แต่ก็ปรากฎอาชีพใหม่ๆขึ้นมาทดแทน

ในอนาคตอันใกล้ก็เช่นกัน แม้จะมีการประเมินว่าอาชีพประเภทช่าง หรือแรงงานที่ไม่ใช้ทักษะ จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ค่อนข้างแน่ แต่เชื่อแน่ว่าก็จะมีสายงานอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สิ่งสำคัญก็คือเราจะต้องรู้จักปรับตัว และพร้อมก้าวไปข้างหน้า แทนที่จะยึดติดกับความเคยชินแบบเดิมๆที่เราเคยคิดว่าสบาย

เพราะเมื่อถึงเวลาที่โลกหมุนไปข้างหน้าแล้ว สิ่งที่คุณเคยคิดว่าสบายในปัจจุบัน อาจกลายเป็นความลำบากไปในที่สุด หากคุณเลือกจะยืนอยู่ที่เดิม โดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร

 

เรียบเรียงจาก

The Top Emerging Technologies To Watch: 2017 To 2021

The White House predicts nearly all truck, taxi, and delivery driver jobs will be automated

IBM’s Supercomputer Is Bringing AI-Fueled Cancer Care to Everyday Americans

Rise of the machines: Fear robots, not China or Mexico

The robot that takes your job should pay taxes, says Bill Gates

The Future of Not Working

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

สรณัญช์ ชูฉัตร: เปลี่ยนโลกด้วยพลังงานสะอาดกับ Etran

Next Article

i-Construction: จักรกลก่อสร้าง

Related Posts