จากข่าว 9 ถึง The Momentum : วันที่สื่อหัวก้าวหน้าถึงคราวเปลี่ยนแปลง

นับเป็นอีกประเด็นประจำวันที่หลายคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ สำหรับการประกาศลาออกแบบยกชุดของทีมงาน The Momentum เว็บไซต์ข่าวของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ทั้งที่กำลังไปได้สวย หลังเปิดตัวมาได้ราว 6 เดือน

กระนั้น อาจไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะนับจากอดีต มีสื่อมวลชนและสำนักข่าวหลายรายที่เข้ามาจุดประกายให้วงการ ด้วยแนวคิดใหม่ๆอยู่เสมอ แม้สุดท้ายจะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงไม่พ้น แต่สื่อเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นหลักไมล์สำคัญของวงการที่ไม่ควรมองข้าม

และนี่คือส่วนหนึ่งที่ทีมงาน AHEAD.ASIA รวบรวมไว้

ข่าว 9 อ.ส.ม.ท.

(2528-2531)


จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการข่าวโทรทัศน์ ในพ.ศ. 2528 เมื่อ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริษัท แปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้สัญญาสัมปทานจาก องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) นำเสนอข่าวภาคค่ำในรูปแบบที่ทันสมัย จากเดิมที่อ่านเฉพาะข่าวในพระราชสำนัก และข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล

แต่ภายหลังขัดแย้งเรื่องนโยบายการเสนอข่าวกับ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล อ.ส.ม.ท. ดร.สมเกียรติ จึงขอลาออก กอปรกับช่วงนั้นช่องอื่นๆก็เริ่มพัฒนารายการข่าวขึ้นมา ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. จึงไม่สามารถประคองสถานะเบอร์หนึ่งไว้ได้

ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ในยุคนั้น ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของผู้สื่อข่าวภาคสนามรุ่นใหม่ ที่ขึ้นมาเป็นบุคลากรชั้นนำของอุตสาหกรรม ทั้ง นิรมล เมธีสุวกุล, ยุพา เพชรฤทธิ์, สุริยนต์ จองลีพันธุ์, อนุชิต จุรีเกษ, ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์, ศศิธร ลิ้มศรีมณี, สาธิต ยุวนันทการุญ, อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง และ วิทวัส สุนทรวิเนตร์ ที่แจ้งเกิดจากรายงานพยากรณ์อากาศ ก่อนผันตัวมาสู่ธุรกิจบันเทิง

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี

(2539-2543)


เกิดขึ้นในรัฐบาลยุคนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ต้องการให้สถานีโทรทัศน์มีอิสระในการนำเสนอ ต่างจากสถานีโทรทัศน์ยุคแรกที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐ โดยเป็น บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด (เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในเวลาต่อมา) ที่ได้สิทธิ์ในการดำเนินงาน

ไอทีวี ในยุคแรกเน้นการนำเสนอข่าวและรายการสาระเป็นหลัก ด้วยรายการที่มีจุดขายอย่าง ไอทีวีทอล์ก หรือ ย้อนรอย ฯลฯ จนเมื่อ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นของ บมจ.ไอทีวี จากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในพ.ศ.2543 ส่งผลให้ เทพชัย หย่อง และทีมงานจากเครือเนชั่นที่ดูแลการผลิตตัดสินใจลาออกยกชุด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการ ในลักษณะ 50:50 ระหว่างข่าวและสาระกับรายการบันเทิง

ภายหลังศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ไอทีวีต้องปรับรูปแบบการออกอากาศอีกครั้ง พร้อมค่าปรับกรณีผิดสัญญาผังรายการและปัญหาค่าสัมปทานที่ค้างอยู่ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทาน ระหว่าง สปน.กับ บมจ.ไอทีวี พร้อมยุติการออกอากาศในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550

คุยคุ้ยข่าว

(2547-2549)


ก่อน สรยุทธ สุทัศนะจินดา จะเป็นพิธีกรข่าวเบอร์หนึ่งของไทยทีวีสีช่อง 3 เจ้าตัวคือหนึ่งในผู้บุกเบิกสไตล์การเล่าข่าว ร่วมกับ กนก รัตน์วงศ์สกุล ในรายการ “เก็บตกจากเนชั่น” และ “คมชัดลึก” ตั้งแต่สมัยทำงานที่ เนชั่น แชนแนล (ชื่อเดิมในยุคเคเบิลทีวี) กระทั่งตกผลึก จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ในรายการ “ถึงลูกถึงคน” และ “คุยคุ้ยข่าว” ที่เริ่มออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ ในเดือนมิ.ย. 2546

ด้วยสไตล์การเล่าข่าวที่เข้าขากันของคนทั้งคู่ จนเคยถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “กะเพราไก่-ไข่ดาว” ทำให้ “คุยคุ้ยข่าว” ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนมีเรตติ้งสูงสุดของรายการข่าวที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ระหว่างปี 2547-2549 แต่ด้วยเงื่อนไขของสัญญาทำให้รายการนี้ต้องปิดฉากลงในเวลาอันสั้น ก่อนที่ สรยุทธ และบริษัทไร่ส้ม จะย้ายไปผลิตรายการป้อนช่อง 3 จนโด่งดังและมีรายได้มหาศาล

อย่างไรก็ตาม คดียักยอกเงินค่าโฆษณาของอ.ส.ม.ท. ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ส่งผลให้อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง สรยุทธ, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ พนักงาน บริษัท อ.ส.ม.ท. จำกัด (มหาชน) ที่มีส่วนรู้เห็น จนเป็นเหตุให้เจ้าตัวต้องตัดสินใจวางมือจากการทำรายการโทรทัศน์จนถึงปัจจุบัน

ASTVผู้จัดการออนไลน์

(2546-2557)


หลังได้รับผลกระทบทางการเงินจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ในพ.ศ. 2540 สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ส่งมอบการบริหารกิจการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันให้กับ จิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชาย พร้อมปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ด้วยเว็บไซต์ www.manager.co.th หรือ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

จุดแข็งของเว็บไซต์ผู้จัดการ คือเนื้อหาและบริการที่หลากหลายมากกว่าแค่เรื่องธุรกิจ ด้วยอาวุธเด็ดอย่างคอลัมน์การเมือง “ข่าวปนคน คนปนข่าว” ของเซี่ยงเส้าหลง (นามปากกาของ สนธิ ลิ้มทองกุล) รวมถึงคอลัมน์ซุบซิบที่ช่วงหนึ่ง ทุกคนต้องรีเฟรชหน้าจอทุกเย็นวันศุกร์ อย่าง “คันปาก” โดย ซ้อเจ็ด ซึ่งว่ากันว่าช่วยดึงยอดผู้อ่านผู้จัดการออนไลน์จากเฉลี่ยวันละ 3 พันคนต่อวัน ในปี 2543 พุ่งขึ้นมาถึง 50,000-100,000 คน

แต่ความสำเร็จนี้ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหา เมื่อ ต่อพงษ์ เศวตามร์ บรรณาธิการข่าวบันเทิงของผู้จัดการรายวัน ถูกคนร้ายใช้ท่อนเหล็กฟาดที่ศีรษะจนได้รับบาดเจ็บ แม้เจ้าตัวจะยืนกรานปฏิเสธว่าตนไม่ใช่ “ซ้อเจ็ด” ก็ตาม

ระยะหลังเว็บไซต์ผู้จัดการ เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นกระบอกเสียงทางการเมืองมากขึ้น ขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆก็เริ่มพัฒนาขึ้นมา จนในที่สุด www.manager.co.th ก็เสียตำแหน่งเว็บข่าวที่มียอดผู้ชมสูงสุดจากการรายงานของ Truehits.net ให้ khaosod.co.th ในปี 2558 หลังจากครองตำแหน่งนี้มานานถึง 11 ปีติดต่อกัน

The Momentum

(2559-2560)


The Momentum เว็บไซต์ข่าวของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ที่สร้างชื่อขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 6 เดือน ด้วยการเลือกนำเสนอข่าวในประเด็นที่แตกต่างจากสื่อหลัก รวมถึงรูปแบบการนำเสนอที่มากกว่าแค่ภาพและตัวอักษร จนได้รับความนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่

แต่ในวันที่ 27 มี.ค. 60 นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ The Momentum ได้ประกาศผ่านบทบรรณาธิการ ว่าตนและทีมงานทั้งหมดได้ตัดสินใจลาออก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. ด้วยเหตุผลหลักคือ ทัศนคติที่ไม่ตรงกับผู้บริหาร และเตรียมเปิดเว็บไซต์ใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

คาดกันว่ากรณีนี้เป็นผลต่อเนื่องจากที่ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ และ นิติพัฒน์ สุขสวย สองผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day ลาออกจากบริษัท เดย์ โพเอทส์ กรณีถูกวิจารณ์เรื่องการขายหุ้นให้บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) จำนวน 490,000 หุ้น ในราคารวม 308,700,000 บาท ในลักษณะที่มีเงื่อนงำ ขณะที่ สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย เจ้าของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ยืนยันที่จะดำเนินงานต่อไปด้วยทีมงานบางส่วน รวมถึงหัวเรือใหญ่อย่าง ทรงกลด บางยี่ขัน

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

UBER บนถนนที่ขรุขระ

Next Article
นอน

10 วิธีนอนเต็มอิ่ม พร้อมตื่นมาทำงาน

Related Posts