หลายคนอาจมีประโยคติดปากว่า “โตแล้วจะทำอะไรก็ได้” แต่ในชีวิตจริง ยิ่งเมื่อเราโตขึ้นเท่าไหร่ โอกาสจะทำตามใจตัวเอง หรือมีคนคอยตามใจเหมือนสมัยเด็กยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ
ยิ่งในชีวิตการทำงานแล้ว คนที่คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ มักเจอทางตันไม่ได้ไปต่อในหน้าที่การงานของตัวเอง
ทีมงาน AHEAD.ASIA ทำการสรุป พฤติกรรมที่ควรปรับปรุง 10 อย่างที่นายจ้างไม่ชอบไว้
พร้อมข้อเสนอในการปรับตัวเพื่อเป็นคนใหม่ ที่โตขึ้นทั้งความคิดและหน้าที่การงาน
#10
ไม่รักษาเวลา
การตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับมืออาชีพ คุณต้องพร้อมเสมอเมื่อถึงเวลาทำงาน แม้แต่การประชุมก็เช่นกัน การปล่อยให้คนอื่นรอ อาจถูกตีความได้ว่าคุณไม่ใส่ใจ หยิ่ง ไปจนถึงไม่มีมารยาท
สิ่งที่ควรทำ: มองในมุมกลับว่าถ้าต้องเป็นฝ่ายรอ ก็คงรู้สึกไม่ดีเหมือนกัน แล้วนำความรู้สึกตรงนั้นมาปรับพฤติกรรมใหม่
#9
ป่วยการเมือง
การลาป่วยทั้งๆที่ไม่ป่วย อาจเป็นเรื่องปกติในวัยเรียน แต่เมื่อถึงเวลางาน หากคิดจะใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการลาทุกครั้ง จะส่งผลต่อการพิจารณาสถานภาพของคุณแน่นอน
สิ่งที่ควรทำ: การลาป่วยเป็นสิทธิ์ก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่าคุณมี “หน้าที่” ด้วย หากไม่ได้ป่วย แต่จำเป็นต้องลา ก็ควรใช้สิทธิ์ลากิจแทน
#8
คิดติดลบ
ไม่จำเป็นต้องโลกสวย แต่ควรหยุดพูดประโยคอย่าง “มันไม่เวิร์คหรอก” “ยากจัง” “ไม่รู้จะเริ่มยังไง” เพราะมีแต่จะทำให้คนรอบข้างมองคุณในแง่ลบ
หรือแม้แต่การบ่นถึงเจ้านาย งานที่ทำ หรือคนในแผนก ยิ่งทำบ่อยครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนที่รับฟังรู้สึกว่าคุณไม่เป็นมืออาชีพ เพราะ 62% ของนายจ้าง มีแนวโน้มที่จะไม่เลื่อนขั้นให้คนที่ตนเห็นว่ามีความคิดติดลบ
สิ่งที่ควรทำ: เรียนรู้จากเรื่องไม่ดี หาว่าจะนำอะไรมาปรับใช้ได้บ้าง
#7
รู้ทุกเรื่อง ขัดทุกอย่าง
การแสดงภูมิ พูดแทรกในที่ประชุม ใช้น้ำเสียงแสดงความเหนือกว่า หรือช่างติจนเข้าขั้นจับผิด ฯลฯ นอกจากจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีมารยาท ยังทำให้คนอื่นรู้สึกว่าคุณเป็นพวกชอบอวดตัวเอง ไม่ให้เกียรติผู้อื่น
สิ่งที่ควรทำ: เรียนรู้ว่าจังหวะควรพูด จังหวะไหนควรเงียบ เรื่องไหนควรพูดในที่ประชุม เรื่องไหนควรพูดเป็นการส่วนตัว
#6
ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย
แม้จะมีประโยคที่ว่า “ไม่มีคำถามไหนที่โง่” ก็จริง แต่การถามแบบสะเปะสะปะไม่มีทิศทาง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ และเป็น พฤติกรรมที่ควรปรับปรุง โดยด่วน
เพราะอาจทำให้เพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายรำคาญมากกว่าจะชื่นชอบที่คุณเป็นคนใฝ่รู้
สิ่งที่ควรทำ: หากมีข้อสงสัยในชิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย ให้ลองประมวลผลด้วยตัวเอง รวบรวมคำถามที่เกิดขึ้น และค่อยเริ่มถามอย่างเป็นระบบ
#5
มักง่าย
ไม่ว่าจะบนโต๊ะทำงานหรือในห้องอาหาร การทานเสร็จแล้ววางจานชามทิ้งไว้แทนที่จะล้างแล้วเก็บเข้าที่ แสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบ ขาดวุฒิภาวะ จนถึงอาจถูกตีความว่าเป็นคนอวดดี
และจากผลสำรวจก็ยืนยันว่าเรื่องนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อโอกาสเลื่อนขึ้น เมื่อ 36% ของนายจ้าง (หรือเกิน 1 ใน 3) ไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้
สิ่งที่ควรทำ: คิดแบบใจเขาใจเราว่าทำไมคนอื่นต้องมารับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ
#4
ขาดสมาธิในการประชุม
ส่งอีเมล คุยโทรศัพท์ พิมพ์ไลน์ ท่องเว็บ ระหว่างการประชุม แสดงให้ทุกคนในห้องเห็นว่าคุณไม่ใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
สิ่งที่ควรทำ: ปิดโทรศัพท์ เปิดแล็ปท็อปเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชุม หรือหากมีความจำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านี้ ให้ขออนุญาตคนในห้องประชุมก่อน
#3
ปล่อยเนื้อปล่อยตัว
การทุ่มเทกับการงานอย่างเดียวอาจไม่พอ หากการแต่งกายและบุคลิกของคุณไม่พัฒนาควบคู่กันไปด้วย หรืออย่างน้อยก็ควรรักษาความสะอาดเป็นลำดับแรก
เพราะความสกปรกจะบ่งบอกว่า “คุณไม่แคร์” และบริษัทก็คงไม่ส่ง “คนที่ไม่แคร์ใคร” ไปเรอใส่หน้าลูกค้า หรือขึ้นเวทีไปยืนแคะฟัน ระหว่างพูดในงานสำคัญ
สิ่งที่ควรทำ: หาจุดกึ่งกลางระหว่างความพอใจส่วนตัวกับสิ่งที่คนรอบข้างรับได้ สตีฟ จ๊อบส์ แต่งตัวแบบเดิมทุกวัน แต่เป็นเสื้อผ้าที่ “ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว”
#2
เผือกและขี้นินทา
แยกให้ออกระหว่างการเป็นคนหูตากว้างไกลใฝ่รู้กับคนชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน งานวิจัยระบุว่าราว 44% ของนายจ้างมีแนวโน้มจะไม่เลื่อนตำแหน่งให้คนลักษณะนี้
สิ่งที่ควรทำ: ถามเฉพาะในสิ่งที่ควรถาม โดยไม่ละลาบละล้วงไปถึงเรื่องส่วนตัว ถ้าเขาไม่อยากเล่าให้ฟัง
#1
อินดี้เกิน
บางคนอาจเป็นตัวของตัวเองสูง หรืออาจขาดความมั่นใจในตัวเอง แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่ไปร่วมในงานเลี้ยงหรืออีเวนท์ที่บริษัทจัดขึ้น หรือแม้แต่การออกไปกินข้าวเที่ยงกับเพื่อนในแผนก
เพราะยิ่งทำบ่อยครั้ง ยิ่งทำให้คนมองว่าคุณเป็นพวกต่อต้านสังคม หยิ่ง ไม่เข้าพวก ฯลฯ และเรื่องนี้จะส่งผลต่อความก้าวหน้าของคุณแน่นอน เพราะคนที่เข้ากับคนอื่นไม่ได้ คงไม่มีทางได้เป็นหัวหน้าใคร
สิ่งที่ควรทำ: ทลายกำแพงที่สร้างขึ้นมา ออกจาก comfort zone ของตัวเองบ้าง
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า