ธนพล

สะพานเชื่อมจินตนาการของ ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์

“เวลาเสพงานศิลป์ ผมอยากให้มองให้ลึกกว่าแค่เปลือกนอก เข้าไปดูว่าข้างในมันมีอะไรบ้าง มันไม่ได้มีแค่ความสนุกอย่างเดียว ถ้าเราเข้าไปดู มันจะพาเราไปยังดินแดนต่างๆที่เราไม่เคยสำรวจมาก่อน “เหมือน เซเลอร์มูน ที่พาผมไปถึงดาราศาสตร์ ไปถึง Mythology สุดท้ายมันส่งผลถึงอาชีพที่ผมทำอยู่จริงๆ” ความชื่นชอบต่อการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่หญิงยอดฮิต พาเด็กชาย ธนพล เศตะพราหมณ์ ในวันนั้น ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งในโลกจริงและจินตนาการ กระทั่งกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาการอำนวยเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน

และเพิ่งสร้างแรงกระเพื่อมถึงผู้คนในวงการดนตรีและคนทั่วไป ด้วยคอนเสิร์ต TPO at the Movies ที่เรียกคนดูได้เต็มความจุของ มหิดลสิทธาคาร ทั้งสองวัน เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนเป็นที่มาของการพูดคุยกันในครั้งนี้

 

เด็กเนิร์ด

 

Credit: chicochan.devianart.com 

 

“Each book opens up new avenues of knowledge to explore” คือการสรุปความถึงประโยชน์ของการอ่านที่ Bill Gates เคยกล่าวไว้

เช่นกัน ดร.ธนพล ก็เติบโตมาในวงล้อมของหนังสือหลากหลายประเภทที่มีส่วนหล่อหลอมความคิดของเจ้าตัวตั้งแต่เล็ก

“ผมโดนสอนมากับพวกกลอน กวี หนังสือ นิยายบ้าง วรรณกรรมบ้าง ตั้งแต่เด็ก เข้าใจว่าเป็นลักษณะของเด็กนะครับ คือถ้าไม่เอากีฬาก็จะไปอีกทางนึงเลย พอดีผมเป็นเด็กเนิร์ด (หัวเราะ) หรือการ์ตูนผมก็อ่าน”

“มันเริ่มจากตอนผมอยู่ซักป.2-ป.3 เซเลอร์มูน ฮิตในโรงเรียนเด็กผู้ชายมาก เวลาตัวละครแปลงร่างมันก็จะมีสัญลักษณ์ดวงดาวอะไรขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่อง แต่รู้สึกมันเท่ดี เลยเริ่มอยากรู้ว่าทำไม มาร์ส ต้องเป็นไฟ จูปิเตอร์ ต้องเป็นสายฟ้า ฯลฯ คุณพ่อก็ซื้อดิกชันนารีของ Oxford แบบที่หน้านึงเป็นรูป อีกหน้าเป็นคำอธิบาย เราก็เปิดไปเจอที่มีการอธิบายเรื่องสัญลักษณ์ต่างๆ ตัวเลข ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ฯลฯ เราก็ อ๋อ! มันเป็นแบบนี้ เลยยาวต่อไปถึงการตามอ่านพวก Mythology เลยไปถึง กรีก โรมัน ญี่ปุ่น โน่นเลย”

“ตอนนั้น ผมแค่รู้สึกว่ามันสนุกดี มันเริ่มง่ายๆแบบนี้ แต่มันพาเราไปเจอดินแดนต่างๆ ทำให้เราอยากรู้ว่าประวัติศาสตร์จริงๆเป็นยังไง จนผมเคยอยากเป็นนักดาราศาสตร์อยู่พักใหญ่ๆ”

ปรัชญาสู่ดนตรี

 

 

จากความอยากรู้เรื่องราวต่างๆในหน้าหนังสือ พา ธนพล วกกลับไปหาโลกของดนตรี ที่ครั้งหนึ่งเจ้าตัวเคยหันหลังให้ ทั้งจากบุคลิกส่วนตัวที่ไม่ชอบแสดงอะไรต่อหน้าคนอื่น และความไม่เข้าใจของครูสอนดนตรีบางคนที่ทำให้เสียกำลังใจในการเรียน

“พ่อแม่จับให้ผมเรียนเปียโนแต่เด็ก แต่เราไม่ชอบ perform ต่อหน้าคนอื่น ยิ่งเวลาเจอครูบางคนไม่เข้าใจความถนัด ก็ดุจนเสียกำลังใจ พาลไม่สนใจไปด้วย”

จุดเปลี่ยนมาถึง เมื่อขึ้นเรียนชั้นม.1 ความประทับใจที่เห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญเล่นอิเลคโทน ทำให้ ธนพล เริ่มอยากกลับไปเล่นดนตรีอีกครั้ง แต่เหตุผลหลักที่ทำให้จริงจังยิ่งกว่าเดิม คือแรงบันดาลใจจากครูที่โรงเรียนซึ่งเชื่อมกันด้วยความรู้เรื่องปรัชญา

“ช่วงม.1-ม.2 มันจะมีวิชาที่ให้เลือกเรียนโขนหรือรีคอร์เดอร์ (ขลุ่ย) ผมก็เลือกรีคอร์เดอร์นี่แหละ เพราะตอนนั้นเริ่มบ้าปรัชญาด้วย คุณครูที่สอน แกก็จะสอนวิธีคิดอะไรที่มันลึกมาก กลายเป็นว่าเราสนใจวิธีคิดของครูก่อน เลยไปคุยกับแกแล้วก็ได้ดนตรีเป็นของแถม จากนั้น ก็สมัครเรียน AC BAND (วงโยธวาทิตของโรงเรียน) ตอนจวนจะจบม.2 แล้วก็อยู่ยาวๆจนได้ขึ้นม.ปลาย แล้วก็ได้เป็นคอนดักเตอร์นักเรียนของวงเลย”

“ดนตรีเนี่ยจริงๆ เริ่มแรกผมชอบฟังมากกว่าชอบเล่น แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองสนใจการเรียบเรียงเสียงประสานตั้งแต่ก่อนจับเครื่องดนตรีด้วยซ้ำ เพราะผมจะฟังตามคุณพ่อ ท่านชอบเปิดเพลงเก่าพวกแม่ไม้เพลงไทย, สุนทราภรณ์, The Carpenters, Simon & Garfunkel บนรถ แล้วผมก็ชอบร้องคาราโอเกะด้วย ยิ่งอันนี้จะได้ยินพาร์ทดนตรีชัด แล้วดนตรีแนวอื่นๆที่เคยฟัง มันจะวิ่งเข้ามาในหัวเลย จนมาเริ่มหัดอเรนจ์เพลงตอนอยู่ AC BAND วัตถุดิบที่เราเคยฟังสะสมมา มันก็จะออกมาตามธรรมชาติ เป็นสกิลที่ใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องตั้งใจ”

 

วิชาปราชญ์

 

 

ทักษะที่บ่มเพาะมา และโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากอาจารย์ อติภพ ภัทรเดชไพศาล ที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว คือเหตุผลหลักที่ทำให้ ธนพล เลือกเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แม้จะขัดกับความต้องการของที่บ้านก็ตาม

“ผมอยู่ในกลุ่มเอ็นทรานซ์รุ่นสุดท้าย แล้วสี่อันดับที่เลือกนี่ก็เลือกดนตรีหมดเลย พ่อแม่ไม่ทราบ (หัวเราะ) แล้วก็มาสอบตรงที่มหิดลด้วย ก็สอบติดอันดับแรกที่เลือกไว้กับที่นี่ (มหิดล) ใจเราอยากเลือกแต่งเพลง แต่ที่แรกยังไงต้อง perform ก่อนแล้วปี 3–4 ค่อยแยก ผมไม่อยากทำแบบนั้น”

“แล้ว อ.อติภพ ก็เป็นคนที่ผมชื่นชมมาก เคยได้ฟังงานของอาจารย์ อ่านบทความที่แกเขียนมาก่อน พอได้คุยแล้วยิ่งรู้สึกว่าแกเป็นคนประเภทเดียวกันเลย คืออ่านหนังสือเยอะมาก ความรู้วรรณคดี กาพย์กวี ภาษาโบราณ คือแกเป็นนักปราชญ์เลยล่ะ มาเรียนที่นี่เราไม่ได้แค่มาเรียนดนตรีแต่เรียนวิชาปราชญ์เลย การได้มาเรียนที่นี่มันเป็นสิ่งที่เราต้องการเลย (เน้น) คุณพ่อคุณแม่ยังอยากให้ไปเรียนที่เอ็นท์ติดอยู่ดี ถึงขนาดขอให้ไปลงทะเบียนก่อน เผื่อเราเปลี่ยนใจ (หัวเราะ) แต่ผมปรึกษาครูที่รู้จัก ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้มาที่นี่เถอะ สุดท้ายก็ลงเอยที่นี่”

“แต่ระหว่างทาง ผมก็ยังอ่่านหนังสือ อ่านการ์ตูน เล่นเกมไปด้วยนะ ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจะมีวินัยกับตัวเองได้ขนาดนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือคนที่สร้างงานพวกนี้ขึ้นมา เค้ารีเสิร์ชมาเยอะไม่แพ้งานวิจัยชิ้นนึงเลย แต่ขณะที่งานวิจัยมันเป็น paper published แต่ของพวกนี้มันเป็นงานสร้างสรรค์อีกรูปแบบ”

 

บาตองในต่างแดน

 

Credit: @necmusic

 

4 ปีในมหาวิทยาลัย นอกจากการเรียน ธนพล ยังมีโอกาสขัดเกลาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากประพันธ์ดนตรี ให้ละครเวที “แผลเก่า” ในปี 2549 จนกลายเป็นที่มาของงานจากทุกสารทิศ ซึ่งเจ้าตัวก็รับทำหมดเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเป็นที่รู้จักของคนในแวดวงมากขึ้น และค่อยๆขยับจากการแต่งและเรียบเรียงเพลงไปสู่การอำนวยเพลง (คอนดักต์) อย่างจริงจัง

ในช่วงปี 4 ธนพล มีโอกาสจัดคอนเสิร์ตจากเพลงคลาสสิกที่คนไทยแต่ง ทั้งออร์แกไนซ์และคอนดักท์เอง ใช้เวลาเตรียมตัวถึง 7 เดือน เพื่อถ่ายวิดีโอเก็บไว้สำหรับออดิชั่นในระดับปริญญาโท

หลังขวนขวายตามหามหาวิทยาลัยแบบงมเข็ม เพราะเป็นสาขาที่ไม่ค่อยมีใครให้ข้อมูลได้มากนัก ธนพล ก็ได้รับการติดต่อจาก New England Conservatory ที่บอสตัน ให้เดินทางไปออดิชั่น และได้เข้าเรียนในที่สุด ตามด้วยการตระเวนเวิร์คช็อปหาประสบการณ์เพิ่มเติมตลอด 5 ปีในสหรัฐและยุโรป

“ผมหันมาสนใจคอนดักต์ เพราะเป็นคนชอบสอน ช่วงเรียนปีท้ายๆได้มีโอกาสสอนเด็กมัธยมที่นี่ และที่อัสสัมชัญด้วย รู้สึกชอบบรรยากาศนั้น คือได้ขัดเกลาวงที่ยังมีจุดอ่อนให้ดีขึ้น เลยเหมือนอยากไปเรียน เพื่อกลับมาสอนเพื่อให้วงการดนตรีในบ้านเราดีขึ้น”

“ช่วงอยู่ที่อเมริกา ก็มีประกวดบ้าง แต่ด้วยบุคลิกผม เหมือนไม่เหมาะกับอะไรแบบนั้น บางคนที่มีประสบการณ์อาจจะรู้ว่าต้องทำยังไง แต่ตอนนั้นเรายังใหม่อยู่ ก็คิดแค่ว่าต้องชนะไม่งั้นจะมาทำไม กลายเป็นกดดัน เครียด อาชีพพวกนี้เหมือนดารา คือคุณจะเป็นแค่หนึ่งในร้อยที่ได้เล่นที่ใหญ่ ผมไม่ได้มีแพสชั่นตรงนั้น ถ้าไปสายประกวด มันก็ไปสร้างโพรไฟล์มากกว่า เป็นสีสัน แต่ไม่ใช่เป้าหมาย”

กระทั่งเมื่อใกล้จบปริญญาเอก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล ก็ประกาศเปิดตำแหน่ง Director of Bands เพื่อดูแล Mahidol Wind Orchestra วงดุริยางค์เครื่องลมของมหาวิทยาลัย และสอนวิชาการอำนวยเพลง ก็มีคนส่งข่าวว่าสนใจจะสมัครไหม

“พอตำแหน่งเปิด ก็เป็นเรื่องใหญ่เลย เพราะนี่คืองานที่เราใฝ่ฝัน และตำแหน่งก็ไม่ได้เปิดบ่อยๆ แต่ตอนนั้นผมยังสนุกกับชีวิตที่นั่น อีกอย่างถ้าเกิดโชคดีได้งาน กลับมาแล้วจะกลับไปอีกทีมันยาก สุดท้ายก็ตัดสินใจสมัครดู ปรากฎว่าได้งาน คิดวนไปวนมาอยู่นาน สุดท้าย ก็ตัดสินใจกลับมาที่นี่ตอนปี 2557”

 

เรื่องเล่นที่เป็นจริง

 

 

ก่อนจะมีคอนเสิร์ต TPO at the Movies นั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เมื่อ ธนพล และ Mahidol Wind Orchestra จัดคอนเสิร์ตเล็กๆที่ชื่อ The Symphonic Fantasy ที่นำเพลงจากภาพยนตร์ แอนิเมชั่น และเกมมาเล่น จนเป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียล ชนิดที่ฮอลล์ซึ่งใช้จัดแน่นขนัดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ปกติ วงเครื่องเป่าเราจะมีคอนเสิร์ตเทอมละ 2–3 ครั้ง ทุกครั้งก็จะมีธีม คราวนี้มันเป็นคอนเสิร์ตสุดท้ายของปี ทุกคนเหนื่อยกันมาเยอะแล้ว ผมเลยคิดว่าน่าจะเอาเพลงสบายๆบ้าง ก็เลยเอาความชอบส่วนตัวมา พวกเพลงเกมเพลงการ์ตูน กะทำกันขำๆ เราเลือกเพราะเพลงมันไม่เครียด โน้ตก็ไม่ยากมาก แต่พอประกาศโปรแกรมออกไป จู่ๆก็เกิดการแชร์ออกไปจนตกใจ มันก็เลยเป็นไฟลามทุ่ง พอวันจริง บางส่วนก็ต้องไปนั่งตามบันไดแทน ยังมีกลุ่มโชคร้ายที่เข้าไม่ได้ต้องมาดูจอข้างหน้าแล้วดูจากจอข้างหน้าแล้วฟังจากลำโพงเอา คอนเสิร์ตวันนั้นเริ่ม 1 ทุ่มก็ลากยาวไปเกือบเที่ยงคืน”

“วันรุ่งขึ้นคณบดีก็เรียกไปพบ (หัวเราะ) คือวันนั้นเป็นวันที่ผู้ใหญ่เขาประชุมกันอยู่แล้ว ก็มีแมสเซจเข้ามาตอนผมสอน ว่าจะให้ทำงานพิเศษกับ TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) พอไปพบคณบดี แกก็ถามว่าคนดูมาจากไหนเยอะแยะ ผมก็ตอบไม่ได้ เพราะเราโพสต์แล้วเค้าก็แชร์กันไป ให้เดาคือคนกลุ่มนี้เค้าฟังออร์เคสตราจากเกมหรือการ์ตูนจาก Youtube กันอยู่แล้ว พอวันนึงเกิดขึ้นจริงก็เลยอยากดู มันก็เลยเป็นที่มาของงานที่คณบดีให้ไว้ คือ หนัง (TPO at the Movies) และ การ์ตูนกับเกม”

“ใน TPO at the Movies ผมก็มี agenda ของตัวเอง คือหนังไทยมีสกอร์ดีๆอยู่มาก แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง เพราะเราไม่มีคัลเจอร์แบบฮอลลีวู้ดที่พอมีภาพยนตร์ก็ต้องมีตัดแผ่นสกอร์ออกมาขาย เลยคิดว่าจะเอางานที่คนไม่รู้จักมาทำ เพื่อสนับสนุนคอสโพสเซอร์ไทย แล้วก็อยากให้คนในวงการหนังได้เห็นเสน่ห์ของออร์เคสตราประกอบหนัง เผื่อว่าในอนาคตจะมีคนหันมาใช้ออร์เคสตราประกอบหนังมากกว่านี้ ยิ่งพอไปเซอร์เวย์มา คอนเสิร์ตที่เป็นเพลงประกอบ มันจะมีเด่นๆไม่กี่อัน เราอยากทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร เลยออกมาอย่างที่ได้ฟังกัน คือครึ่งนึงเป็นหนังไทย อีกครึ่งเป็นหนังฝรั่ง”

แรงต้าน

 

Credit: @ThailandPhil

 

แม้ TPO at the Movies จะได้รับความนิยม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม serious musician ที่เชื่อว่าเพลงประกอบภาพยนตร์ไม่เหมาะที่จะนำมาทำเป็นคอนเสิร์ตในลักษณะนี้ และในท้ายที่สุด จะไม่ได้ขยายฐานคนฟังเพลงคลาสสิครุ่นใหม่อย่างที่ตั้งใจไว้

“คนที่เป็น serious musician เขาจะไม่เห็นด้วย เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องการค้ามากไป บางคนก็ฟังด้วยมาตรวัดแบบเดียวกับซิมโฟนี แล้วมองว่ามันเป็นไม่ใช่เพลง เป็นแค่เมโลดี้ต่อๆกันที่มีเสียงประสาน ถึงขนาดบอกว่าคอนเสิร์ตที่ทำให้คนรำลึกความหลังแบบนี้เป็น negative feeling ที่ไม่ควรปลุกจากตัวคน เพราะงานศิลป์มันควรจะก้าวไปข้างหน้า”

“สิ่งที่เขาพูด ผมก็เข้าใจได้นะ แต่มันคือสิ่งที่ผมอยากให้เป็น เพราะคนที่มาดูก็จะได้รำลึกถึงช่วงเวลาที่เคยดูหนัง คือบางทีไม่ได้แค่คิดถึงแค่ตัวหนัง แต่เขาจะคิดถึงช่วงชีวิตตัวเองในขณะนั้นด้วย แล้วผมก็เชื่อว่ามันเป็นคอนเทนท์ที่คนอยากฟังจริงๆ ผมมองว่า ออร์เคสตรา ไม่ควรถูกจำกัดไว้สำหรับเพลงคลาสสิคอย่างเดียว ผมอยากให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนมากขึ้น ทุกวันนี้ ถ้ามันจะตายก็เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคน”

“เรามาทำงานซีเรียสอาร์ทก็จริง แต่จุดเริ่มของเราก็มาจากอะไรที่แมสมากๆ ป๊อปมากๆ คอนโพสเซอร์งานเยอะๆบางคน ก็เริ่มจากแต่งเพลงประกอบการ์ตูน แล้วมันก็พาเค้าไปถึงจุดอื่นๆที่บ้ามากกว่านี้ (หัวเราะ) คนที่ไม่ชอบ ผมก็ไม้ได้ไปเถียงกับเค้า เพียงแต่ผมมองว่ามันเพราะ คนเข้าถึงได้ และมีความงามในแบบของมัน”

 

ไฮเปอร์ลิงค์

 

 

ในมุมมองของ ธนพล การ์ตูน หรือ เกม ก็เป็นอีกรูปแบบของความบันเทิงไม่ต่างจากหนังสือหรือภาพยนตร์ที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากกว่า

สิ่งสำคัญคือการมองลงไปให้ลึกกว่าเปลือกนอกที่เป็นแค่เรื่องของความบันเทิง แล้วจะพบกับอะไรที่สามารถพาเราไปได้ไกลจากจุดเริ่มต้นอีกมาก เหมือนที่ความสนใจในสัญลักษณ์ต่างๆจาก เซเลอร์มูน พาเขามาถึงจุดนี้

“พวกนี้มันคือความบันเทิงอย่างนึง ถ้าเราเสพแค่เลเยอร์เดียว ก็อาจจะได้แค่ความสนุก ความเศร้า แต่ถ้าเราลงไปอีกชั้นนึงก็จะเห็นว่ามันมีสารอะไรซ่อนอยู่ บางทีมันผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ โยงกับทฤษฎีอะไร จัดวางยังไง เหมือน Death Note ที่คนดูจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ระหว่าง คิระ กับ แอล ตรงนี้มันก็สะท้อนความเป็นไปบนโลกว่ามีความคิดที่แตกต่าง”

“หรืองานของผม เวลาได้โจทย์อะไรมา ก็ต้องผ่านการกระบวนรีเสิร์ชให้รู้ที่มาที่ไปของมัน เพลงนี้แต่งจาก Mythology เรื่องนี้ Opera เรื่องนี้มาจากนิยายกรีกเรื่องนี้ หาแมสเซจของมันให้เจอ ตอนเรียนมันง่าย เพราะโจทย์มันมาตรงๆ แต่การทำงานจริง เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะใช้กุญแจแบบไหนในการไข ฉะนั้น ความรู้ที่อยู่ในกระเป๋าเครื่องมือเราควรจะมีให้เยอะที่สุด ยิ่งรีเสิร์ชมากเท่าไหร่ มันก็จะพาเราไปเรื่อยๆ เหมือนไฮเปอร์ลิงค์”

“นี่คืออาชีพที่ผมชอบที่สุดแล้ว เพราะมันบวกวิชาการ การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ นิยาย ศิลปะอื่นๆ กับดนตรีเข้าด้วยกัน มันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าองค์ความรู้ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด”

 

หากมีข้อแนะนำ สามารถคอมเมนท์ได้ในเพจ AHEAD.ASIA และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

10 เหตุผลที่คุณต้องไปงาน SXSW

Next Article

Dot: สมาร์ทดีไวซ์เพื่อผู้พิการทางสายตาและความเท่าเทียม

Related Posts