มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก

สร้างอนาคตไปกับ 5 ข้อคิดจาก มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก

จากเด็กหนุ่มอายุแค่ 19 ปี ในวันที่เริ่มก่อตั้ง Facebook เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว

วันนี้ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก คือหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

แม้ในระยะหลัง หลายคนจะตั้งแง่กับโมเดลธุรกิจของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่รายนี้ หรือท่าทีเผด็จการของ “อ้ายมาก” แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ซัคเกอร์เบิร์ก คือผู้ประกอบการที่มีแนวคิดหลายอย่างน่าศึกษา และปฏิบัติตาม

ซึ่งเจ้าตัวก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้บ้างเช่นกัน ในการพูดคุยกับ แซม อัลท์แมน ประธานของ Y Combinator ที่คนทำสตาร์ทอัพ หรือใครที่คิดจะเป็นผู้ประกอบการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

#1
หาให้เจอว่าปัญหาคืออะไร

“We just followed what people wanted.”

คำแนะนำจาก ซัคเกอร์เบิร์ก ถึงผู้ประกอบการทุกคน คืออย่าเพิ่งโฟกัสที่การตั้งบริษัท แต่ให้โฟกัสว่าต้องการแก้ปัญหาอะไร

จนเมื่อการแก้ปัญหานั้นเห็นผล จึงค่อยเริ่มคิดถึงการตั้งบริษัท

เขายกตัวอย่างจุดเริ่มต้นของ Facebook ว่าย้อนไปในปี 2004 อินเตอร์เน็ตก็มีทุกอย่างให้ค้นหาแล้ว ไม่่ว่าจะข่าวสาร หนัง เพลง ฯลฯ แต่กลับไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงคนเข้าด้วยกันเลย

นั่นคือจุดเริ่มต้นของไอเดียในการสร้าง “เครื่องมือ” เพื่อให้ผู้คนเกิดปฏิสัมพันธ์กัน

จาก Course Match ที่เขียนขึ้น เพื่อให้คนที่เข้าเรียนในคอร์สใดคอร์สหนึ่งที่ฮาวาร์ดได้ติดต่อกัน ซัคเกอร์เบิร์ก กับเพื่อน ยังลองทำ source tools อื่นๆที่คล้ายกันอีกหลายตัว ก่อนจะพบว่า Facebook เวอร์ชั่นแรก คือสิ่งที่คนต้องการมากที่สุด

เห็นได้จากนักศึกษาถึง 2 ใน 3 ของฮาวาร์ดลองใช้งานเว็บนี้ หลังจากปล่อยไปได้ไม่ถึงเดือน จน MIT และมหาวิทยาลัยอื่นๆติดต่อมาว่าอยากให้ทำแบบเดียวกันบ้าง

นั่นทำให้ ซัคเกอร์เบิร์ก รู้ว่าเขากับเพื่อนๆค้นพบสิ่งที่ตามหาอยู่แล้ว

 

#2
กล้าเดิมพัน กล้าตัดสินใจ

“You have to bet on something.”

ในการเป็นผู้ประกอบการ มักมีปัญหาให้ต้องแก้ไข หรือเรื่องที่ต้องตัดสินใจเสมอ

ซัคเกอร์เบิร์ก ย้ำว่า การจะผ่านเรื่องพวกนี้ไปได้ ทุกคนในทีม ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำอยู่ และพร้อมเดิมพันสำคัญเพื่อพิสูจน์ความเชื่อนั้น

ย้อนไปในปี 2006 สมัยที่ Facebook ยังเป็นแค่สตาร์ทอัพเล็กๆ มีคนใช้งานราวสิบล้านคน ได้รับข้อเสนอซื้อจาก Yahoo! เป็นเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์

นักลงทุนและผู้บริหารบางส่วนของ Facebook ต้องการขาย แต่ ซัคเกอร์เบิร์ก เชื่อว่าฟีเจอร์ News Feed ที่กำลังจะเปิดให้ใช้ หลังจากนั้นไม่นาน จะทำให้บริษัทมีมูลค่ามากกว่านั้น จนสุดท้ายก็ปฏิเสธข้อเสนอนั้นไป

ซัคเกอร์เบิร์ก อธิบายว่าเรื่องที่น่าเสียดายที่สุดไม่ใช่การปัดข้อเสนอจาก Yahoo

แต่เป็นเรื่องที่ทีมผู้บริหารในยุคนั้นลาออกแบบยกชุด เพราะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจ

จนเมื่อ News Feed ถูกนำมาใช้งาน และ Facebook เปิดให้ใครก็ได้ในโลกลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งาน พวกเขาก็ค่อยๆพัฒนา จนกลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คอันดับหนึ่ง

ขณะที่ Yahoo! ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ต้องขายขายกิจการหลักๆ ให้กับ Verizon ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสหรัฐ ในราคาไม่ถึงห้าพันล้านดอลลาร์ หรือแค่ราวๆ 1 ใน 20 ของยุครุ่งเรืองเท่านั้น

 

#3
เรียนรู้และเดินหน้าให้เร็ว

“Unless you are breaking stuff, you aren’t moving fast enough.”

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Facebook มาจากการเลือกคนเข้าทำงาน

ซัคเกอร์เบิร์ก ยอมรับว่าตัวเองมีประสบการณ์ไม่มาก เพราะเริ่มตั้งบริษัทตั้งแต่อายุ 19 แต่แนวทางของ Facebook ในการคัดคนเข้าทำงาน คือให้ความสำคัญกับความสามารถเป็นหลัก แม้คนๆนั้นอาจยังไม่เคยมีผลงานเด่นมาก่อน

ซัคเกอร์เบิร์ก ยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ และทดลอง พร้อมอธิบายว่า Facebook ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเหมือนห้องทดลองที่มีหลายหมื่นเวอร์ชั่นที่ทำงานพร้อมกัน ตามสมมติฐานของวิศวกร เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้ มาหาว่าเวอร์ชั่นไหนที่แสดงเนื้อหาได้ดีที่สุด

เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในองค์กรสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เขาหรือผู้บริหารคนไหนเป็นคนเคาะว่าใช่หรือไม่ใช่

แน่นอนว่าหลายครั้งการทดลองย่อมต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นอย่างที่ ซัคเกอร์เบิร์ก เคยว่าไว้ คือถ้าไม่เกิดความเสียหายเลย ก็แปลว่ายังก้าวไปข้างหน้าได้ไม่เร็วพอ กระทั่งกลายเป็นวลีที่คนทำสตาร์ทอัพพูดติดปากในเวลาต่อมา ว่า “Move fast, break things” นั่นเอง

 

#4
เสี่ยง: คำแนะนำจาก ปีเตอร์ ธีล

“In a world that’s changing so quickly, the biggest risk you can take is not taking any risk.”

ปีเตอร์ ธีล คือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และเป็นนักลงทุนอาชีพ “รายแรก” ที่เห็นถึงศักยภาพของ Facebook ด้วยการสนับสนุนเงิน 5 แสนดอลลาร์ ในฐานะ angel investor แลกกับหุ้น 10.2% เมื่อปี 2004 และยังมีบทบาทในฐานะบอร์ดบริหารเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

ซัคเกอร์เบิร์ก ยอมรับว่าได้เรียนรู้จาก ธีล มากมาย แต่หนึ่งในประโยคสำคัญที่สุด ที่ยังนำมาใช้ถึงทุกวันนี้ คือ

“ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเสี่ยงที่สุดคือการที่คุณเลือกจะไม่เสี่ยงอะไรเลย”

 

#5
ไม่หยุดทะเยอทะยาน มองไปยังอนาคต

“The question I ask myself like almost every day is, ‘Am I doing the most important thing I could be doing?’

แม้ทุกวันนี้ ซัคเกอร์เบิร์ก จะมีชื่อติดท็อปเทนในลิสต์ของคนที่รวยที่สุดในโลกของ Forbes แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความกระหายของเจ้าตัว Facebook หมดลงง่ายๆ

เขารู้ดีว่าซักวันหนึ่ง โซเชียลเน็ตเวิร์ค จะต้องถึงคราวอิ่มตัว (ปัจจุบัน ยอดผู้ใช้งาน 2 พันล้านคนของบริษัท ก็เท่ากับ 2 ใน 3 ของคนที่มีอินเตอร์เน็ตใช้แล้ว) จึงพยายามเบนเข็มไปยังโปรเจกต์อื่นๆ

อาทิ หาทางขยายขอบเขตการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนบนโลกออกไป เพราะปัจจุบัน ยังมีคนอีกกว่าครึ่งโลกที่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้งาน

ปัญญาประดิษฐ์ เป็นอีกเทคโนโลยี ที่เจ้าตัวเชื่อว่าจะส่งผลดีกับมนุษยชาติมากกว่าผลเสีย อาทิ รถยนต์ไร้คนขับที่จะลดปริมาณอุบัติเหตุลงได้ หรือการใช้ AI วินิจฉัยโรคแทนแพทย์

หรือการเดินหน้าผลักดันเทคโนโลยีอย่าง ความจริงเสริม (Augmented Reality) และความจริงเสมือน (Virtual Reality) ให้เป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริง นั่นคือเหตุผลว่าทำไม Facebook ถึงทุ่มเงินเป็นหลักพันล้านดอลลาร์ ในการซื้อกิจการของ Oculus เมื่อหลายปีก่อน แม้จะยังไม่ออกผลให้เห็นก็ตาม

 

เรียบเรียงจาก

Mark Zuckerberg : How to Build the Future

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

ฉีกกฎเที่ยว: Trip4real สู่ Airbnb Experiences

Next Article

4 เทรนด์แห่งอนาคตจากงาน F8

Related Posts