ในงาน F8 Developer 2017 นอกจากเทรนด์ในโลกอนาคต รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของ Facebook แล้ว ยังมีสปีกเกอร์ที่มาพร้อมกับประเด็นน่าสนใจหลายเรื่อง
หนึ่งในนั้นคือ Jack Zheng ผู้ก่อตั้งและประธานของ “GeekPark“ Accelerator สำหรับเหล่า Tech Innovator ในจีน
แม้ในจีน Facebook จะยังถูกบล็อก แต่ Zheng ก็ได้รับเชิญให้เดินทางมาร่วมในงาน F8 เพื่อบอกเล่าประสบการณ์จากการคลุกคลีในแวดวง Tech และสตาร์ทอัพในจีนสู่วงกว้าง
Zheng เริ่มต้นด้วยการยกตัวเลขสตาร์ทอัพสาย tech ในสหรัฐ ช่วง 5 ปีหลังสุด ว่ามี 15 รายที่ไปถึงระดับ Unicorn ขณะที่ จีน มีถึง 75 ราย หรือ 5 เท่าตัว
แบ่งเป็น
1) กลุ่ม Virtual Only 27 ราย (นิวมีเดีย/อินเตอร์เน็ต/AI/บันเทิง/อื่นๆ) มูลค่ารวม 45.91 พันล้านดอลลาร์
2) กลุ่ม Link to Real World 48 ราย (โลจิสติกส์/เดินทาง/การเงิน/อีคอมเมิร์ซ/อื่นๆ) มูลค่ารวม 219.53 พันล้านดอลลาร์
Zheng ระบุว่า 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพจากจีนประสบความสำเร็จ คือการเข้าถึงข้อมูลปริมาณมหาศาลในโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น คือ
1) สมาร์ทดีไวซ์
ในปี 2010 จีน มีผู้ใช้โมบายล์อินเตอร์เน็ต 47.05 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ในปัจจุบัน มีจำนวนถึง 940.75 ล้านคน หรือ 71.2% ของประชากรทั้งประเทศ
และ 2) Social Network
เมื่อสมาร์ทดีไวซ์แพร่หลาย อินเตอร์เน็ตก็กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิต ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอพ WeChat ถึง 889 ล้าน และ Weebo 313 ล้าน การส่งต่อข้อมูลที่มากขึ้น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่อง
การได้เห็นข้อมูลจำนวนมาก ทำให้หลายคนมองเห็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ๆเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
อาทิ On-Demand Services สั่งทุกอย่างได้จากสมาร์ทโฟน ตั้งแต่ซื้อของจนถึงจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดห้อง หรือ Makeover App ที่หญิงสาวในจีนถึง 2 ใน 3 โหลดไปใช้สำหรับแต่งภาพให้ดูดีมีสไตล์สำหรับอัพขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์ค
กรณีศีกษาที่ Zheng เชื่อว่าเห็นภาพได้ดีที่สุดคือ Mobike และ ofo สองสตาร์ทอัพที่ให้บริการ Bike Sharing System ในปักกิ่ง
ปัญหาการจราจรในปักกิ่ง ทำให้คนหันมาใช้จักรยานในการเดินทางระยะสั้นๆ เพราะรวดเร็วกว่า
ที่จริง รัฐก็มี City Bike ให้ใช้งาน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดตรงต้องเก็บให้เป็นที่ทางที่จัดไว้
Mobike และ ofo เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ให้มากที่สุด เพียงสั่งงานผ่านแอพ ก็จะได้รหัสสำหรับปลดล็อคจักรยานที่อยู่ใกล้ที่สุด
สำคัญคือเมื่อใช้เสร็จจะจอดไว้ที่ไหนก็ได้ ส่วนค่าบริการก็จ่ายผ่านมือถือ ผ่านระบบ Alipay หรือ Wechat pay
การเข้ามาแก้ปัญหานี้แทนรัฐ ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ทำรายได้กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ในปีเดียว
และยังขยายออกไปใน 21 เมืองทั่วจีน มีูผู้ใช้บริการธุรกิจแชร์จักรยานกว่า 400 ล้านคน
รวมระยะทางเฉลี่ยต่อเดือนที่คนเหล่านี้ปั่นจักรยาน เท่ากับการเดินทางไป-กลับระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ถึง 33 รอบ
Zheng ย้ำว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่ที่สำคัญกว่าคือคนที่มองเห็นปัญหา และแก้ได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนพร้อมจะทำตามทันทีที่ไอเดียแพร่หลายออกไป
แต่ถ้าหาพาร์ทเนอร์ที่ดี เพื่อช่วยพัฒนาและยึดตลาดไว้ได้ ก็จะประสบความสำเร็จมหาศาล เหมือนที่ Mobike และ ofo ทำได้
หากมีข้อแนะนำ สามารถคอมเมนท์ได้ในเพจ AHEAD.ASIA และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน