สมรภูมิคลาวด์: เมื่อ Google ท้าชน Amazon

ในอุตสาหกรรมคลาวด์ปัจจุบัน Amazon Web Services (AWS) ยังเป็นเจ้าตลาดตัวจริง ด้วยตัวเลขมาร์เก็ตแชร์ 40% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 (*อ้างอิงรายงานจาก Synergy Research Group)

ขณะที่อันดับ 2 ร่วมอย่าง Microsoft Azure, Google Cloud Platform และ IBM Cloud (ชื่อเดิมคือ SoftLayer) มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันไม่ถึง 25%

เป็นตัวเลขที่ห่างพอสมควร แต่ Diane Greene SVP ของ Google Cloud ประกาศด้วยความมั่นใจ ในงาน Forbes CIO Summit 2017 ว่า “เรามีความพร้อมที่จะเป็นอันดับหนึ่งได้ใน 5 ปี”

“เราได้เปรียบในเรื่องศูนย์ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อม ความปลอดภัย และระบบการจัดการอัตโนมัติ เหลือแค่การจัดทุกอย่างให้เข้าที่เท่านั้น”

 

เมื่อ Google ติดอาวุธบนคลาวด์

ในช่วงเริ่มแรก Google ไม่ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจคลาวด์มากนัก จนเมื่อ Greene ซึ่งรู้จักกับ Larry Page และ Sergey Brin ตั้งแต่ 2 ผู้ก่อตั้ง Google ยังเรียนอยู่ที่สแตนฟอร์ด แนะนำให้บริษัทโฟกัสกับมันมากขึ้น

จนเมื่อ Page ขยับเธอขึ้นมาดูแล Google Cloud Platform (GCP) อย่างเต็มตัว ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 Greene ก็ปรับโครงสร้างองค์กรขนานใหญ่

ด้วยแนวคิดที่ว่าคลาวด์เป็นมากกว่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูล และความคล่องตัวจากการใช้งาน ที่ช่วยให้ลูกค้าของบริษัท ‘ได้เปรียบ’ ในการทำธุรกิจ จะเป็นเหตุผลให้เลือกใช้บริการของ GCP ต่อไป

จากบริษัทลูกที่นำเสนอบริการแบบเดียว GCP ยุคใหม่ จึงใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของ Google ได้อย่างครอบคลุม ทั้ง Analytics, Machine Translation, Speech recognition, Maps ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ GCP ที่ช่วงแรกมีแค่ Snapchat เป็นลูกค้ารายใหญ่ เริ่มแย่งส่วนแบ่งตลาดจาก AWS ได้ เมื่อ Spotify ตัดสินใจย้ายมาใช้บริการ รวมถึง Disney ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปใน Google Cloud Next 2017

นอกจากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น GCP ก็ยังขยายขอบเขตในการให้บริการออกไปด้วยการซื้อกิจการของ Kaggle ชุมชนจัดการแข่งขันด้าน Data Science และ Machine Learning ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับ SAP ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ธุรกิจ

 

อาณาจักรของ Bezos และ Vogels

สถานะปัจจุบันของ GCP คืออันดับ 3 และส่วนแบ่งตลาดก็ยังถือว่าเล็กมากถ้าเทียบกับ AWS

การตั้งเป้าจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของ Greene ถือเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะ Jeff Bezos และ Werner Vogels CTO ก็มีเป้าหมายที่การสร้าง AWS ให้ใหญ่กว่าค้าปลีกที่เป็นธุรกิจหลักในปัจจุบันของ Amazon

จุดแข็งของ AWS คือการนำโครงสร้างที่ยืดหยุ่น เก็บรายละเอียดต่างๆในฐานข้อมูลได้จำนวนมาก และทำงานผ่านระบบได้อย่างรวดเร็ว มาประยุกต์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า

การเปิดตัวในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือยุคบูมของโซเชียลมีเดีย และสตาร์ทอัพสายโมบายล์ทั้งหลายที่ไม่ต้องการแบกภาระเรื่องดูแลเซิร์ฟเวอร์หรือจัดเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง ยังเป็นสาเหตุให้ AWS กลายเป็นเจ้าตลาดอย่างรวดเร็ว

 

Azure อีกหนึ่งผู้ท้าชิง

แต่การขึ้นเป็นผู้นำในตลาดของ AWS ก็มีผลเสีย หลายบริษัทลังเลที่จะฝากทุกอย่างไว้กับอาณาจักรของ Bezos เพราะกลัวจะถูกครอบงำแบบเบ็ดเสร็จ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆหากเกิดขัดแย้งกัน

เหมือนในกรณีของ BMW ที่เลือกจับมือกับ Azure ของ Microsoft เปิดตัว BMW Connected สมาร์ทแอพพลิเคชั่นสำหรับรถยนต์ในค่ายแทน

Scott Guthrie EVP ของ Microsoft เชื่อว่าฝ่ายตนมีประสบการณ์เหนือกว่า AWS ในการรับมือดีมานด์ของลูกค้ารายใหญ่ ทั้งเรื่องความสามารถในการเก็บข้อมูล ความปลอดภัย และความยืดหยุ่นในการทำงาน

เห็นได้จากการดีลกับ NBC Sports เพื่อสตรีมมิ่งการแข่งกีฬากว่า 2,000 รายการในโอลิมปิกครั้งล่าสุด

ไม่ว่าสุดท้าย GCP จะแซงทั้ง Azure และ AWS ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจนี้ได้ในปี 2022 อย่างที่ประกาศไว้หรือไม่ Guthrie ก็เชื่อว่าผู้ชนะตัวจริงในการแข่งขันนี้ คือบรรดาผู้ใช้บริการที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดไปนั่นเอง

 

หากมีข้อแนะนำ สามารถคอมเมนท์ได้ในเพจ AHEAD.ASIA และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

เก็บตก F8 2017: บทเรียนจากสตาร์ทอัพจีน

Next Article
วอร์เรน บัฟเฟตต์

10 คัมภีร์สำหรับนักลงทุน รับประกันโดย วอร์เรน บัฟเฟตต์

Related Posts