นอกจากจะมีชื่อในลำดับต้นๆของ ‘บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก’ จากการจัดอันดับของ Forbes ทั้งคู่แล้ว
Bill Gates และ Warren Buffett ยังสนิทสนมกัน โดยที่ฝ่ายแรก ยอมรับว่าได้มุมมองทางธุรกิจที่ ‘ประเมินค่าไม่ได้’ หลายเรื่องจากปรมาจารย์ด้านการลงทุน
และเมื่อย้อนกลับไปในปี 1998 นักศึกษาของ University of Washington Business School ก็ได้รับประสบการณ์ที่ ‘ประเมินค่าไม่ได้’ เช่นกัน
เมื่อทั้ง Gates และ Buffett รับเชิญขึ้นเวที เพื่อพูดคุยและเปิดโอกาสให้ซักถามอย่างใกล้ชิด
แม้จะเป็นเรื่องเก่านานกว่า 19 ปีแล้ว แต่หลายประเด็นจากการพูดคุยครั้งนี้ ยังเป็นมุมมองที่ไม่ล้าสมัย
และนี่คือส่วนหนึ่งที่เราดึงขึ้นมาเพื่อนำเสนอใน AHEAD.ASIA
สิ่งที่สำคัญกว่า IQ และพรสวรรค์
Buffett เปรียบเทียบ IQ และพรสวรรค์ เป็นเหมือนแรงม้าของเครื่องยนต์ แต่ยังมีสิ่งสำคัญกว่า
นั่นคือการใช้เหตุผล ที่เปรียบเสมือน “มาตรวัดการทำงานของเครื่องยนต์”
“หลายคนอาจมีเครื่องยนต์แรงถึง 400 แรงม้า แต่รีดพลังออกมาได้แค่ 100 สำหรับผม มันดีกว่ากันเยอะถ้าคุณมีเครื่องยนต์แค่ 200 แรงม้า แต่ดึงออกมาใช้ได้เต็มที่”
Buffett ยังอธิบายว่าการจะรีดศักยภาพในตัวออกมาให้เต็มที่ ขึ้นกับหลายปัจจัย แต่สำคัญที่สุดคือตัวของเราเอง
“ทุกคนในที่นี้ มีศักยภาพที่จะทำได้แบบผม หรือทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ แต่บางคนทำได้ และบางคนอาจทำไม่ได้ กลุ่มหลังเป็นเพราะตัวคุณเอง ไม่ใช่ว่าโลกนี้ขัดขวาง แต่เพราะคุณปิดกั้นตัวเองจนไปไม่ถึงจุดนั้น”
Buffett แนะวิธีการ ‘ปลดล็อก’ จากข้อจำกัดดังกล่าว โดยให้เราเลือกคนที่ชื่นชอบขึ้นมาซักคน
แล้วลองวิเคราะห์เพื่อลิสต์เหตุผลที่ทำให้คุณชื่นชมคนเหล่านั้น
จากนั้น ให้ลองฝึกคุณสมบัติเหล่านั้น แบบเดียวกับการซ้อมกีฬา กระทั่งมันกลายเป็น “ส่วนหนึ่งในตัวคุณ”
ยิ่งทำซ้ำเท่าไหร่ มันจะค่อยๆหลอมพฤติกรรมให้คุณสามารถใช้ ‘แรงม้า’ ที่มีในตัวได้เต็มศักยภาพ
รับมือความเปลี่ยนแปลง
Gates ยกตัวอย่าง IBM เป็นกรณีศึกษาองค์กรใหญ่ที่ก้าวผิดพลาด ในการรับมือความเปลี่ยนแปลง
“IBM ควรครองความยิ่งใหญ่เหนือทุกบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ พวกเขามีครบ ทั้งคนฉลาดที่สุด และข้อมูลจากผู้บริโภค แต่การเลือกเดินทางผิดทำให้พวกเขาไปไม่ถึงจุดสูงสุด ฉะนั้น ผมอยากให้ทุกคนบอกตัวเองทุกเช้าว่า วันนี้คุณจะไม่เลือกเดินผิดทาง”
Gates ยอมรับว่าแม้แต่เขาเอง ก็ไม่ได้เลือกทางถูกทุกครั้ง
เหมือนกรณีของอินเตอร์เน็ต ที่เขาเคยมองว่ามันเป็นตัวเลือกลำดับที่ห้าหรือหกในการพัฒนา แต่กลายเป็นว่ามันก้าวหน้าเร็วกว่าที่เขาคิด
คำถามถัดมาคือเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้น ควรทำอย่างไร
“ผมต้องกระตุ้นคนในองค์กรให้รู้ถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น เราใช้เวลาแลกเปลี่ยนไอเดียรับมือกันหลายเดือน กระทั่งตกผลึกถึงแนวทางแก้ไข”
Gates เสริมว่าเขายังได้บทเรียนเพิ่มจากกรณีนี้ คือวิกฤตจากความเปลี่ยนแปลง มักเกิดขึ้นในทุก 3 หรือ 4 ปี และหนทางรับมือคือต้องพยายามไล่ตามกระแสปัจจุบันให้ทัน
ความสุขในการทำงาน
ทั้ง Gates และ Buffett เห็นตรงกันว่าคุณควรหาความสุขจากงานที่ทำให้เจอ “ทำในสิ่งที่คุณอยากทำ ร่วมงานกับคนที่คุณชอบ”
“ผมปฏิเสธการทำธุรกิจไปหลายครั้ง ต่อให้เป็นดีลที่น่าสนใจแค่ไหน เพราะผมไม่ชอบร่วมงานกับคนบางคน และก็ไม่อยากจะฝืนตัวเอง” Buffett อธิบาย
ขณะที่ Gates เสริมว่านอกจากมีความสุขในการทำงานแล้ว เรายังควรพยายามยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นด้วย
เหมือนที่เขารู้สึกว่าคู่แข่งทางธุรกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการคิดค้นอะไรใหม่ๆ คือสิ่งที่ทำให้งานของตนที่ Microsoft น่าตื่นเต้นเสมอ
Role Model
ทั้ง Gates และ Buffett ต่างยกให้พ่อและแม่เป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต
Buffett ยังเสริมว่าเขาได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากภรรยาเช่นกัน
ประเด็นที่ทั้งสองคนอยากสื่อ คือเรามักมองหาแบบอย่างจากคนอื่น แต่ละเลยแง่ดีของคนใกล้ตัว ทั้งที่เราสามารถเรียนรู้จากคนรอบข้างได้
ลองนึกถึงคุณสมบัติที่ทำให้คุณกับเพื่อนสนิทสนมกัน หรือคำสอนของพ่อแม่ที่ช่วยให้คุณ ‘เติบโต’ ขึ้น
‘ถูก-ผิด’ในการตัดสินใจ
Buffett ไม่ได้เจาะจงถึงดีลไหนเป็นพิเศษ แต่เชื่อว่าการไม่ปล่อยโอกาสในสิ่งที่ตนเชื่อมั่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีโอกาสทำกำไรมากที่สุด คือวิธีการตัดสินใจของตน
“ถ้าคุณรู้จักและเข้าใจธุรกิจนั้นดี และราคาเหมาะสม ทุกอย่างมันถูกต้อง ก็เดินหน้าต่อได้เลย”
Buffett ย้ำว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่เขาตัดสินใจถูกต้อง พร้อมเปรียบดีลที่ผิดพลาดเหมือนก้นบุหรี่
“คุณอาจจะเห็นควันลอยขึ้นมา และคิดว่ามันยังสูบได้อยู่ แต่อย่าหลงไปกับเรื่องราคาถูกอย่างเดียว ถ้าสภาพของมันไม่ไหวแล้วก็คือไม่ไหว”
ในมุมมองของ Gates อีกองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจคือ ‘คนรอบข้าง’
“มันช่วยได้เยอะ ถ้าคุณทำงานกับคนที่ทุ่มเทและไว้ใจได้ คนที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน แต่มีทักษะต่างกันหรือคอยตรวจสอบคุณได้ ความแตกต่างแบบนี้ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆขึ้นตลอด ฉะนั้น การเลือกพาร์ทเนอร์ที่จะมาร่วมงาน ก็เป็นเรื่องสำคัญ”
สิ่งที่อยากย้อนกลับไปแก้ไข
Gates กล่าวว่าตนอยากปรับปรุงการจัดการเรื่องเวลาใหม่ เพราะแม้จะประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่ก็ยังมีข้อเสียตรงนี้อยู่ จนต้องขอให้ Steve Ballmer เพื่อนสมัยเรียนฮาวาร์ด มาช่วยแนะนำเรื่องการจัดตารางเวลา เพื่อให้มีเวลาทำในสิ่งสำคัญๆได้มากขึ้น
ขณะที่ Buffett มีมุมมองที่ต่างออกไป
“ผมไม่เคยนึกย้อนกลับไปถึงเรื่องเก่าๆ ผมพยายามใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำมันให้ดีที่สุด แล้วคุณจะรู้สึกดีกับมันเอง”
สามารถชมคลิปการสนทนาฉบับเต็มได้ที่นี่
AHEAD FACTS
- Mary แม่ของ Bill Gates คือผู้ที่ชักนำให้ลูกชายได้มีโอกาสรู้จักกับ Warren Buffett เป็นครั้งแรก ในการทานอาหารมื้อค่ำร่วมกัน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1991 ที่ Hood Canal ตอนแรก Bill ลังเลที่จะตอบตกลง เพราะเกรงว่า ‘ไม่มีอะไรจะคุย’ กับอีกฝ่าย เพราะรู้มาว่า Buffett ไม่สนใจในเรื่องคอมพิวเตอร์ แต่สุดท้าย เจ้าตัวก็ตอบตกลง และค้นพบว่าเขากับ Buffett ต่างก็ชอบอ่านหนังสือ และสนใจเรื่องการทำธุรกิจ
- Buffett เป็นคนแนะนำหนังสือชื่อ Business Adventures ของ John Brooks ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าเป็น ‘ตำราธุรกิจที่ดีที่สุดในโลก’ ให้ Gates ได้รู้จัก พร้อมให้ยืมอ่าน ที่สำคัญคือ จนถึงทุกวันนี้ Buffett ก็ยังไม่ได้หนังสือเล่มดังกล่าวคืน
- ก่อนพบกับ Buffett ในปี 1991 นั้น Gates ในวัย 35 ปี ยังอยู่ในอันดับที่ 28 ในลิสต์ของ Forbes เท่านั้น แต่หลังจากได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจหลายอย่างจากอีกฝ่าย เจ้าตัวก็ใช้เวลาอีกเพียง 4 ปี ขยับขึ้นไปเป็นชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก และครองตำแหน่งดังกล่าวต่อเนื่องมาโดยตลอด และเพิ่งถูก Jeff Bezos แซงหน้าไปเมื่อปีที่ผ่านมานี่เอง
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน