Pony Ma: ทำทุกอย่างเพื่อสร้าง Tencent

ที่ผ่านมา ชื่อของ หม่า ฮั่วเถิง (Ma Huateng) หรือ Pony Ma อาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าคนแซ่เดียวกันอย่าง Jack Ma

แต่ในอนาคตอันใกล้ เราน่าจะได้ยินชื่อของเจ้าตัวถี่ขึ้น เมื่อ Tencent Holdings บริษัทที่เจ้าตัวก่อตั้ง และดำรงตำแหน่ง CEO มีมูลค่า market value แซงหน้า Facebook ไปเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ Pony Ma ยังได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ว่าเป็นชายที่ร่ำรวยที่สุดเป็นลำดับ 2 ของจีน ลำดับที่ 8 ใน tech industry และลำดับที่ 31 ในทุกอุตสาหกรรม ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 47,800 ล้านดอลลาร์

..

.

แม้เจ้าตัวจะพยายามทำตัวโลว์โพรไฟล์ไม่ออกสื่อมากนัก แต่พฤติกรรมเก็บตัวเงียบนั้น แทบจะสวนทางกับ Tencent ที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง และมีผลิตภัณฑ์มากมายที่เราคุ้นเคยกันดี

อาทิ แอพแชท Wechat, เว็บไซต์ Sanook กับแอพฟังเพลง JOOX รวมถึงการเป็นเจ้าของเกม MOBA ยอดฮิต ทั้ง League of Legends และ Arena of Valor (หรือ ROV ในบ้านเรา)

เฉพาะอย่างยิ่ง Wechat ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการกว่า 900 ล้านคน จนกลายเป็นแพลทฟอร์มขนาดใหญ่สำหรับ Tencent ในการขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อาทิ อี-เพย์เมนท์ (Wechat Pay) ฯลฯ

..

.

Pony Ma เชื่อว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ Tencent ประสบความสำเร็จ คือการเลือกใช้กลยุทธ์ให้เหมาะสมกับคนในท้องถิ่น แทนการยึดมั่นกับสูตรใดสูตรหนึ่ง

วิธีของ Tencent คือการเข้าไปซื้อกิจการหรือเป็นพันธมิตรกับบริษัทในประเทศเป้าหมาย เพื่อทำตลาดโดยใช้ชื่อเดิมที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว เหมือนที่เข้าซื้อหุ้น Sanook ในบ้านเรานั่นเอง

“การลงทุนกับบริษัทท้องถิ่นเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับเรา เพราะคนเหล่านั้นย่อมคุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า”

..

.

แต่กว่าจะมายืนถึงจุดนี้ได้ Pony Ma ก็ยอมรับว่าเขาลองผิดลองถูกมาสารพัดเช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 Ma และเพื่อน 4 คน มองเห็นศักยภาพของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตว่าจะมีอิทธิพลต่อคนทั่วโลก

จึงตัดสินใจก่อตั้ง Tencent ขึ้นด้วยเงินทุนที่ได้จากการเล่นหุ้น ราว 500,000 หยวน มีธุรกิจหลัก คือการวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสำหรับองค์กร จากนั้น จึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เป็นโปรแกรมแชทตัวแรก ที่ใช้ชื่อว่า QICQ

ปัญหาของ Tencent คือโปรแกรมดังกล่าวนั้นยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนจำนวนมาก จึงมีแต่คนมาลงทะเบียนทิ้งไว้ แต่ไม่มีใครใช้งานเป็นเรื่องเป็นราว

..

.

กลยุทธ์ที่ Ma เลือกใช้ คือสร้างแอคเคาท์ปลอมขึ้น ใช้รูปโพรไฟล์เป็นสาวสวย รวมถึงพิมพ์ข้อความด้วยภาษาแบบผู้หญิง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยขึ้น

นอกจากปลอมตัวเพื่อสร้างกระแสแล้ว ในช่วงที่บริษัทยังไม่มีรายได้ Ma ยังต้องรับบทบาทสารพัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการประคองให้บริษัทอยู่รอ

เจ้าตัวจึงต้องรับหน้าที่สารพัด ตั้งแต่ CEO เว็บดีไซเนอร์ ไม่เว้นกระทั่งภารโรงทำความสะอาด

..

.

จนเมื่อ QICQ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ก็เป็นเหตุให้บริษัทถูก AOL บริษัทแม่ของ ICQ ฟ้องในฐานะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จนต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น QQ แทน

แม้จะแพ้คดีความจนต้องเปลี่ยนชื่อ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป เพราะเวลานั้น QQ มีฐานผู้ใช้งานเกินกว่า 100 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อย

จนเมื่อสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น Tencent ก็จัดการเปิดตัว Wechat แอพพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความ ในปี 2011 ซึ่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทในที่สุด เมื่อได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวจีนด้วยกัน และเติบโตเป็นแพลทฟอร์มในการให้บริการต่างๆ

..

.

แม้จะประสบความสำเร็จแล้ว Tencent ก็ยังไม่หยุดนิ่ง และพยายามขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

นั่นคือเหตุผลที่บริษัทเข้าซื้อกิจการของ Riot Games จากสหรัฐ ผู้ผลิตเกม League of Legends ตามด้วยการพัฒนาเกม MOBA ของตัวเอง โดย Tencent Games ในชื่อ King of Glory ซึ่งก็คือ Arena of Valor ในเวลาต่อมา

และเมื่อเร็วๆนี้ Tencent ก็เพิ่งเข้าไปถือหุ้น 12% ใน Snapchat ของ Evan Spiegel ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะถูกใช้ในเครื่องมือช่วยในการเปิดตลาดต่างประเทศนั่นเอง

..

.

Ma เชื่อว่านอกจากผลิตภัณฑ์และแผนการตลาดที่ดีแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบของความสำเร็จคือการไม่ถอดใจยอมแพ้ไปก่อน

เหมือนที่เขาต้องเจอปัญหามากมายในช่วงเริ่มต้น แต่ก็กัดฟันสู้จนผ่านพ้นมาได้ในที่สุด

“ต่อให้สิ่งต่างๆไม่เป็นใจให้ คุณก็ต้องไม่ยอมแพ้ และต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไป”

 

*UPDATED on November 22, 2017

Better be AHEAD
#AHEADASIA

 

เรียบเรียงจาก

The King of Biggest Internet Firm: The Life Story of Ma Huateng

 

 

ติดตาม #Breakfast4Brain ได้ทุกเช้าตรู่วันจันทร์ ถึง ศุกร์ที่เพจ AHEAD ASIA 

ถ้าหากถูกใจอย่าลืมกดแชร์ กดไลค์ คอมเมนท์ แนะนำติชม กดติดดาว หรืออะไรที่สบายใจเพื่อให้กำลังใจทีมงาน AHEAD.ASIA หาเรื่องราวดีๆมาให้คุณรู้ เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
16
Shares
Previous Article

5 เรื่องน่ารู้จาก Microsoft Build 2017 #Day2

Next Article
Go-jek

สงคราม 2 ล้อ Go-jek ปะทะ GrabBike

Related Posts