8 ข้อคิดจากงาน Echelon Thailand 2017

ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับงานใหญ่ประจำปีของสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน Echelon Thailand 2017 ณ อาคาร C-Asean รัชดา เมื่อ 15-16 ที่มีเป้าหมายในการสร้าง ecosystem เพื่อยกระดับวงการให้แข็งแรง

โดยเฉพาะบนเวที Future Stage ซึ่งได้รับเกียรติจากสปีกเกอร์ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ และนี่คือบางส่วนของประเด็นน่าสนใจที่ทีมงาน AHEAD ASIA คัดเลือกและสรุปไว้จากทั้ง 2 วัน

 

#8 Cyber Security ใกล้ตัวกว่าที่คิด

 

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่พ้นกรณี ransomeware ‘Wannacry’ ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก

ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นที่ Alex Lin หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนิเวศ (Head of Ecosystem Development) จาก SGInnovate ขึ้นพูดในช่วง Building Up Thailand’s Competitive Advantage in Southeast Asia พอดี

Lin กล่าวว่าคนมักมองว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องของอนาคต แต่ในความเป็นจริง มันใกล้ตัวกว่านั้นมาก หรืออาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องของ ‘วันพรุ่งนี้’ มากกว่า เหมือนในกรณีของ Wannacry ที่ผู้รู้จะต้องเป็นฝ่ายอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้เหมือนเป็นเรื่องปกติ เพราะสุดท้าย เราทุกคนล้วนต้องใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี

แม้แต่รัฐเองก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเช่นกัน แม้จะไม่อยู่ในสถานะที่คิดค้นนวัตกรรมด้วยตัวเองได้ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎที่ตนเองตั้งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพ หรือภาคธุรกิจที่มองเห็นโอกาสจากปัญหา และคิดค้นสิ่งใหม่ๆขึ้นมาเพื่อแก้ไข

 

#7 Partnership & Localization คือกุญแจ

 

ส่วนในหัวข้อ Advanced Technologies and Business Models in China that SEA Can Learn From นั้น

Grace Yun Xia ผู้อำนวยการอาุวุโสฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการลงทุน ของ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านอินเตอร์เน็ตของจีน ก็ยกตัวอย่างแนวทางที่ Tencent ใช้ในการบุกเบิกตลาดใหม่ นั่นคือการเข้าไปร่วมทุน หรือซื้อกิจการในประเทศนั้นๆ เพื่อสร้างพันธมิตร จากนั้นจึงพยายามปรับโมเดลธุรกิจผ่านการ Localization

โดยเฉพาะในกรณีของ SEA ที่มีประชากรรวมกันถึง 600 ล้านคน แต่มีความแตกต่างเรื่องภาษาและวัฒนธรรมค่อนข้างมาก องค์กรไหนที่มีแผนจะลงทุน ก็ต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ชัดเจน แล้วจึงค่อยนำโมเดลธุรกิจเดิมมาปรับให้เหมาะสม

 

#6 UGC คอนเทนท์สำหรับคนรุ่นใหม่

 

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO ของ Ookbee เล่าถึงการปรับแนวทางธุรกิจขององค์กร ในยุคที่คน Gen ใหม่ ไม่เสพคอนเทนท์จากหนังสือแล้ว

เพราะจากเดิมที่หวังแค่แชร์ตลาดหนังสือเล่มด้วย ebook แต่กลายเป็นว่าเด็กรุ่นใหม่นั้นติดตามคอนเทนท์บน Facebook หรือ Instagram ที่จะกรองเนื้อหาตามความชอบของแต่ละคนเท่านั้น

ทำให้ Ookbee ต้องปรับตัวตามเป็นแพลตฟอร์ม ในลักษณะ UGC (User Generated Content) แทน โดยสร้างคอมมูนิตี้ที่ทั้งคนทำคอนเทนท์และคนเสพอยู่ร่วมกัน โดยคอนเทนท์เหล่านี้จะถูกอัพโหลดผ่านแพลตฟอร์ม ของ Ookbee ซึ่งรายได้จะมาจากการโฆษณา หรือระบบพรีเมียมสำหรับคนที่ไม่ต้องการเห็นโฆษณา

หรืออาจต่อยอดไปถึงการจัดอีเวนท์ จัดสัมมนา หรือแม้แต่การพิมพ์หนังสือสำหรับเก็บเป็นคอลเลคชั่นนักสะสมตามจำนวนที่สั่ง

 

#5 Micro Moments ช่วงเวลาชิงความสนใจ

 

ปัจจุบัน การเสพสื่อของคนมีความเฉพาะตัวมากขึ้น การทำโฆษณาหรือแบรนดิ้งก็ต้องปรับตัวตามเช่นกัน โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลที่ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว

จากการที่เคยชิงพื้นที่ช่วง Prime Time นักการตลาดก็จะต้องมาใส่ใจกับ Micro-Moments (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และส่งผลต่อความคิดในทันที) ให้มากขึ้น โดยต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งถูกที่ ถูกเวลา ตามแต่ละแพลทฟอร์ม เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้สึกอยากซื้อ/อยากใช้บริการให้ได้

 

#4 แตก ‘LINE’

 

ในหัวข้อ ‘Insights from Localising and Evolving LINE through Partnerships’

คุณกวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ Head of Corporate Strategy and New Business จาก LINE Thailand เชื่อว่าในอีก 5 ปีจากนี้ การทำธุรกรรมและกิจกรรมทั้งหมดของเรา จะถูกรวมศูนย์อยู่ที่โมบายล์ดีไวซ์

เพราะสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ทคือเส้นทางหลักในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทยส่วนใหญ่ การสเกลอัพของ LINE จึงเน้นไปที่การสร้างพาร์ทเนอร์ชิพกับองค์กรอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานแอพเขียว ได้อะไรมากกว่าการส่งข้อความหรือสติกเกอร์

โดย 2 องค์ประกอบหลัก 1) คอนเทนท์ เช่นการจับมือกับผู้ผลิตต่างๆป้อนให้กับ LINE TV หรือข่าวสารใน LINE TODAY และ 2) บริการต่างๆ ผ่านแชทบอทของ official accounts ของ Wongnai, Expedia, Uber ฯลฯ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอพต่างๆเพิ่ม

 

#3 ตีบวกทักษะด้วยคอร์สออนไลน์

 

ในยุคปัจจุบันที่คนต้องการทักษะในการทำงานมากขึ้น สวนทางกับเวลาที่น้อยลง ทำให้เริ่มมีทางเลือกใหม่ๆ อย่างการเรียนออนไลน์ที่ผู้สนใจสามารถเลือกวิชาที่ต้องการได้สะดวกขึ้น

คุณฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Skilllane กล่าวถึงข้อดีของการเรียนในลักษณะนี้ ในหัวข้อ ‘Embracing A New Paradigm For Smarter Education in Thaiand’ ว่านอกจากความสะดวก คอร์สยังถูกวางให้โฟกัสที่ตัวผู้เรียนเป็นหลักด้วย

เพราะหากติดขัดอะไร ยังสามารถทบทวนหรือสอบถามกับผู้สอนทางออนไลน์ให้เข้าใจได้ ก่อนจะเข้าสู่บทต่อๆไป

ผิดกับในห้องเรียนปกติ ที่ผู้สอนต้องดูแลนักเรียนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน หากใครไม่เข้าใจ ก็อาจจะตามไม่ทันจนกระทบต่อทักษะในระดับที่สูงกว่าไปด้วย

คุณฐิติพงศ์ ยังเชื่อว่าแนวทางนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์สำหรับสอนนักเรียนในที่ห่างออกไปตามจังหวัดต่างๆ โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล และยังขยายฐานผู้เรียนได้เป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบห้องเรียนแบบเดิมด้วย

 

#2 เริ่มต้นด้วย Passion อย่าง Garena

 

คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ นำเสนอมุมมองและประสบการณ์ในฐานะซีอีโอของบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ Influencing SEA through Gaming: Talking Ecosystem, Women in Tech, Ecommerce, and Fintech ว่าในฐานะสตาร์ทอัพ จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งควรเกิดจาก passion ในสิ่งนั้น

เหมือนที่ Forrest Li ผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นศิษย์เก่า MBA ของสแตนฟอร์ด รุ่นเดียวกับคุณนกหลงใหลในเกมคอมพิวเตอร์ ขณะที่ตัวคุณนกเองก็คิดแบบเดียวกัน

ก่อนจะขยับจากสิ่งที่คุ้นเคย (เกม/อีเวนท์) ไปยังด้านอื่นๆอย่างเช่น payment (Airpay) และ อีคอมเมิร์ซ (Shopee)

หรือแม้แต่การนำองค์ความรู้ที่มีไปสนับสนุน e-sport ที่ยังเป็นเรื่องใหม่ในภูมิภาค ทั้งการจัดอีเวนท์ ให้การสนับสนุนนักกีฬาสู่ระดับทวีปและระดับโลก หรือแม้แต่การร่วมกับมหาวิทยาลัยเอกชนเพื่อจัดตั้งหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

#1 เรียนรู้จาก Startup Nation

 

และการที่ชาติในอาเซียนจะเติบโตบนเส้นทางนี้ ยังมีอะไรบ้างที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากอิสราเอล ชาติที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Startup Nation ในหัวข้อ What Can SEA Learn From Startup Nation โดย Barak Sharabi ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ Tech ของ MNCs และ Eden Pozin หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า จากสถานฑูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

นอกจากองค์ประกอบอื่นๆที่เรามักพูดถึงกันเป็นประจำ Sharabi ยังย้ำถึงเรื่อง mindset ของคนที่จะเป็น startup คือการกล้าคิดกล้าทำ (To dare is to do) ว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแม้จะล้มเหลว แต่สิ่งที่จะได้กลับมาก็คือประสบการณ์ พร้อมย้ำว่าคนที่ไม่เคยล้มเหลว คือคนที่ไม่เคยลงมือทำอะไร

ส่วน Pozin ก็เสริมว่าการกลัวความล้มเหลวจนไม่กล้าทำอะไร ก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญสำหรับการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมา

ขณะเดียวกัน Sharabi ก็ยังเชือว่าบุคลิกบางอย่างของคนไทยที่ควรรักษาไว้ อย่างความเกรงใจผู้อื่น ก็ยังเป็นเรื่องที่ควรสงวนไว้ และพยายามผสมผสานสิ่งดีๆจากชาติอื่นเพื่อพัฒนาตัวเอง

 

นอกจากนี้ หากมีข้อแนะนำใดๆ สามารถนำเสนอในหน้าเพจได้ทันที และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Go-jek

สงคราม 2 ล้อ Go-jek ปะทะ GrabBike

Next Article

รู้ว่าคุณไม่รู้...และเรียนรู้ บทเรียนจาก Bill Gates

Related Posts