Nike

ถอด 5 บทเรียนจาก ‘Shoe Dog’ บันทึกของ ฟิล ไนท์ ผู้ก่อตั้ง Nike

ในอุตสาหกรรมเครื่องกีฬา Nike คือหนี่งในแบรนด์ที่แข็งแรงและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยโลโก้สุดคลาสสิค ‘Swoosh’ และสโลแกนอมตะอย่าง Just Do It.

จุดเริ่มต้นของบริษัท เกิดขึ้นในปี 1964 เมื่อ ฟิล ไนท์ อดีตนักกรีฑาประเภทลู่ของมหาวิทยาลัยโอเรกอน และ บิลล์ เบาเออร์แมน ตัดสินใจทำธุรกิจจัดจำหน่ายรองเท้ากีฬา Onitsuka Tiger จากญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อบริษัทว่า Blue Ribbon Sports (BRS)

กิจการของ BRS เป็นไปด้วยดี กระทั่งเริ่มขัดแย้งกับ Onitsuka Tiger จนนำไปสู่การแตกหัก

และ BRS ตัดสินใจสร้างแบรนด์รองเท้าของตัวเองในชื่อ Nike ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเทพธิดาแห่งชัยชนะในปกรณัมกรีก เมื่อปี 1971

ในเวลาไม่ถึงสิบปี Nike ก้าวขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดรองเท้ากีฬาในสหรัฐได้ถึง 50% ด้วยกลยุทธ์การเซ็นสัญญากับนักเทนนิสแบดบอยในยุค 1970s อย่าง จอห์น แม็คเอนโร หรือการนำเทคโนโลยี Air มาใช้ และครองความยิ่งใหญ่มาได้จนถึงปัจจุบัน

Shoe Dog‘ คือบันทึกความทรงจำของ ไนท์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง BRS ตอนอายุ 24 ปี ที่บอกเล่าเหตุการณ์ ปัญหา และประสบการณ์มากมายกว่าจะนำ Nike ขึ้นถึงจุดสูงสุด

และนี่คือบทเรียน 5 ข้อจาก ‘Shoe Dog’ ที่ทีมงาน AHEAD.ASIA เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณในการพัฒนาตนเอง

 

#5
เชื่อมั่นในสินค้า

CREDIT: pinterest.com 

ระหว่างออกเดินทางเที่ยวรอบโลกในช่วงวัยรุ่น ไนท์ เคยใช้ชีวิตช่วงสั้นๆที่ฮาวาย และเริ่มงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นเซลส์แมนขายเอ็นไซโคลพิเดีย

ผลลัพธ์คือล้มเหลว และยิ่งล้มเหลวหนักกว่า กับงานที่สองคือการขายระบบรักษาความปลอดภัย

เหตุผลหลักของการล้มเหลวทั้งสองหน คือบุคลิกของ ไนท์ เป็นคนเก็บตัว (Introvert) ไม่เหมาะกับงานขาย

แต่ใช่ว่าการเป็นคนประเภท Introvert จะขายอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อเจ้าตัวหันมาจับธุรกิจขายรองเท้ากีฬา ความชื่นชอบส่วนตัว และประสบการณ์ในฐานะนักกรีฑา ก็ช่วยดึงศักยภาพในตัวของ ไนท์ ออกมาจนได้

เพราะมันคือสินค้าที่เขาเชื่อมั่น และรู้จักดีที่สุดนั่นเอง

 

#4
ลงมือทำ

CREDIT: cnn.com

ไนท์ ได้ไอเดียในการนำรองเท้า Onitsuka Tiger จากญี่ปุ่นมาขายในสหรัฐ ระหว่างท่องเที่ยวรอบโลก

ทันทีที่คิดได้ เขาตัดสินใจลงมือทำทันที ทั้งที่ยังไม่มีเงินทุน ไม่มีบริษัท หรือออฟฟิศใดๆ ด้วยการขึ้นรถไฟจากโตเกียวมุ่งหน้าสู่โกเบ เพื่อพบผู้บริหารของ Onitsuka และกล่อมให้อีกฝ่ายเชื่อถือจนสามารถทำสัญญาได้สำเร็จ ก่อนจะย้อนกลับมาแก้ปัญหาอื่นๆทีหลัง

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบริษัท (BRS) การตั้งสำนักงานในแมสซาชูเซตต์ส และหาเงินมาจ่ายค่าสินค้า Onitsuka ตามกำหนดสินเชื่อ

 

#3
ทีมงานดี ธุรกิจดี

CREDIT: linkedin.com

ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไนท์ ร่วมงานกับคนที่เขาไว้ใจได้เสมอ ไล่ตั้งแต่ผู้ร่วมก่อตั้ง เบาเออร์แมน ซึ่งเป็นโค้ชกรีฑาที่มหาวิทยาลัย ไปจนถึงนักกีฬาคนอื่นๆ ทั้งเรียนที่เดียวกันหรือจากทีมคู่แข่ง ฯลฯ

แม้แต่ เพนนี ภรรยาคู่ชีวิต ก็ยังเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของบริษัท และเป็นคนดูแลบัญชีให้ BRS ในช่วงแรก

ความไว้วางใจที่ ไนท์ มอบให้พนักงานทุกคน ยังส่งผลย้อนกลับมาช่วยให้ BRS รอดพ้นจากปัญหาการเงินอีกด้วย

เพราะพ่อแม่ของพนักงานยุคบุกเบิกคนหนึ่ง เคยยอมแบ่งเงินเก็บก้อนสุดท้ายมาให้บริษัทนำไปหมุนเพื่อต่ออายุ

“ถ้าคุณไม่เชื่อบริษัทที่ลูกชายคุณทำงานอยู่ คุณจะเชื่อใคร?” คือประโยคจากพ่อและแม่ของพนักงานคนนั้น

 

#2
ลุยเต็มที่แต่ไม่ประมาท

CREDIT: www.runnersworld.com

ในช่วงที่ BRS ยังเป็นแค่สตาร์ทอัพเล็กๆ ไนท์ ต้องทำงานฟูลไทม์เป็นนักบัญชี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ควบคู่กันไป เพราะในช่วงแรก เขายังต้องการรายได้ที่มั่นคงสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ

จนเมื่อมั่นใจว่าธุรกิจนี้ไปได้สวย เขาถึงตัดสินใจลาออกมาทุ่มให้กับ BRS อย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา

อีกตัวอย่างของความไม่ประมาทของ ไนท์ คือการเตรียมแผนสำรองไว้ เมื่อเริ่มระแคะระคายว่า Onitsuka กำลังติดต่อดิสทริบิวเตอร์รายอื่นในสหรัฐ เพื่อมาแทนที่ BRS

เมื่อ Onitsuka แตกหักกับ BRS ในช่วงต้นยุค 1970s ไนท์ ก็เปิดตัว Nike แบรนด์รองเท้าของตนเองทันที เพื่อให้เขาและพนักงานอีก 30 คนของ BRS ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

#1
ชัดเจนในการเจรจาและสิ่งที่ทำ

CREDIT: oregonlive.com

สิ่งหนึ่งที่ ไนท์ ยึดถือเสมอในการเจรจา คือต้องรู้่ก่อนว่าต้องการอะไรจากการพูดคุย และเป็นฝ่ายเปิดปากก่อน

ยกตัวอย่างการคุยกับพาร์ทเนอร์ทางการเงินรายหนึ่ง เขาเปิดการเจรจาด้วยการย้ำว่าเป็นแค่การกู้ยืม และจะไม่มีการแบ่งหุ้นใดๆให้เป็นการแลกเปลี่ยน

หรือการคุยกับซัพพลายเออร์ ที่เขาย้ำว่าจะต้องส่งของให้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ ‘เท่านั้น’

เช่นกันในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัท ไนท์ กล้าปฏิเสธข้อเสนอลงทุนจากบริษัทที่ใหญ่กว่า ไม่แบ่งหุ้นใดๆให้กับพนักงานยุคก่อตั้ง

หรือแม้แต่การนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้น เขาก็ระบุเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่าจะขายเฉพาะ ‘B shares’ ที่เป็นหุ้นปันผล ผู้ถือจะไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใดๆทั้งสิ้น

ไนท์ อธิบายว่าการประกาศเจตนาของตนให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มเจรจา จะช่วยไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างทั้งสองฝ่ายในภายหลัง

 

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

การตลาดเอ็กซ์ตรีมแบบ Red Bull

Next Article

แชมป์พรีเมียร์ลีก ราคา 1 ปอนด์

Related Posts