ในยุคสมัยที่แทบทุกธุรกิจ ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ กลายเป็นว่าในอุตสาหกรรมกีฬานั้น แทบจะหาสตาร์ทอัพเด่นๆที่เข้ามาพลิกโฉมธุรกิจได้ยาก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างตายตัว และผูกขาดไว้เฉพาะกับคนบางกลุ่ม การที่สตาร์ทอัพซึ่งทุนน้อย แต่ต้องการสร้างอิมแพกต์อย่างรวดเร็ว อาจยืนระยะไม่อยู่
กระนั้น ในปัจจุบัน ก็ยังมีสตาร์ทอัพที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาอย่างต่อเนื่อง
และนี่คือ 7 สตาร์ทอัพที่มีไอเดียน่าสนใจ และหลายรายก็ได้แรงสนับสนุนจาก 500 Startups โปรแกรมแอคเซเลอเรเตอร์ที่อยู่เบื้องหลังเทคสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายราย
YouStake
เป็นแพลทฟอร์มมาร์เกตเพลสแบบออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้แฟนและคนทั่วไปได้ลงทุนกับนักกีฬา/ผู้เล่นคนโปรด แบบ peer to peer แลกกับผลตอบแทนจากผลงานในการแข่งขัน
pain point ที่เป็นจุดเริ่มของแนวคิดนี้ คือมีนักกีฬามากมายที่มีทักษะเพียงพอ แต่ขาดทุนทรัพย์ในการก้าวไปถึงระดับมืออาชีพ ช่วงต้นจะเน้นไปที่นักโป๊กเกอร์ ก่อนขยายไปยังกีฬาอื่นๆเช่น eSports รวมถึงกีฬาทั่วไปในอนาคต
OpenSponsorship
เป็นมาร์เกตเพลสที่ช่วยให้แบรนด์ต่างๆได้ค้นพบ ติดต่อ และตกลงสัญญาสปอนเซอร์ กับนักกีฬา อีเวนท์ หรือแม้แต่ทีมกีฬาที่เคมีตรงกัน
จุดแข็งของ OpenSponsorship คือคุณสมบัติในการช่วยให้นักกีฬามีความเข้าใจใน asset ต่างๆ อาทิ โซเชียลมีเดีย/ การปรากฎตัว / ถ่ายภาพ / ตำแหน่งโลโก้บนเสื้อ และสามารถตั้งราคาเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ทำให้ปิดดีลกับสปอนเซอร์ได้ง่าย
Ader
ในยุคสมัยที่กีฬาอิเลคทรอนิคส์กำลังมาแรง จนการตลาดและการโฆษณาต้องหันกลับมาให้ความสนใจ
แต่ด้วยความที่กีฬาชนิดนี้ยังเป็นเรื่องเฉพาะทาง (niche) พอสมควร Ader จึงเป็นมาร์เก็ตเพลส ที่จะทำหน้าที่เชื่อมแบรนด์ต่างๆกับอินฟลูเอนเซอร์สาย eSports ให้
โดยบรรดาอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมาจาก Twitch เว็บไซต์สำหรับแคสต์เกมที่มีคนเข้าไปชมในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยล้านคน
Mars Reel
เครือข่ายในวงการกีฬา สำหรับโมบายล์ดีไวซ์ โดยจะคอยเสาะหานักกีฬาดาวรุ่ง ทีมกีฬา หรือลีกที่น่าสนจากทั่วโลก แต่ยังไม่อยู่ในกระแส เพื่อทำวิดีโอสนุกๆและกระชับสำหรับผู้ชมที่เป็นคนรุ่นใหม่
ArrowPass
ระบบการคุมทางเข้าออก / ชำระเงิน / จัดการสินค้า / e-ticket ด้วยเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) จากสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการต่อคิวเข้าสนาม ซื้อสินค้าที่ระลึก ฯลฯ
นอกจากจะใช้ในสนามกีฬาในวันที่มีการแข่งขันแล้ว Arrowpass ยังสามารถประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ เช่นคอนเสิร์ต หรืองานอีเวนท์ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากได้ด้วย
Brizi
เป็นสตาร์ทอัพที่มีจุดตั้งต้นจากไอเดียเรื่อง fan content โดยแฟนๆบนอัฒจันทร์สามารถเลือก และบังคับมุมกล้องสำหรับเซลฟี่ได้ด้วยตัวเอง ด้วยการระบุเลขที่นั่งผ่านสมาร์ทโฟน โดยไม่จำเป็นต้องโหลดแอพใดๆเพิ่มด้วย
เป็นการสร้าง engagement ให้แฟนบอลในสนามได้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเปิดให้ใช้งานแล้วในหลายๆรายการ เช่น NBA รอบเพลย์ออฟ หรือเทนนิส ยูเอส โอเพ่น
DasDak
หนึ่งในปัญหาที่แฟนกีฬาพบ เวลาไปชมเกมในสนาม คือไม่อยากลุกจากที่นั่งไปซื้อขนมหรือเครื่องดื่ม เพราะนอกจากจะต้องต่อคิวแล้ว ยังเสียเวลาเดินกลับมาหาที่นั่ง ทำให้อาจพลาดช่วงเวลาสำคัญไปก็ได้
DasDak จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยให้บริการสั่งอาหารจากที่นั่งผ่านทางมือถือ และจะมีพนักงานนำมาเสิร์ฟให้ถึงที่
เรียบเรียงจาก
Startups Primed To Disrupt The Sports Industry
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า