ผู้ก่อตั้ง Tesla

อีลอน มัสก์ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง Tesla : เรื่องเล่าจากผู้บุกเบิกตัวจริง

ทุกครั้งที่เอ่ยถึง Tesla ชื่อแรกที่ทุกคนจะนึกถึง คือ อีลอน มัสก์ ชายผู้ถูกยกให้เป็น โทนี สตาร์ค ในโลกแห่งความเป็นจริง

แต่เราคงพูดว่า เขาคือ ผู้ก่อตั้ง Tesla ไม่ได้อย่างเต็มปาก

เพราะที่จริงแล้ว มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด และ มาร์ค ทาร์เพนนิง สองวิศวกรชาวอเมริกันต่างหาก ที่เป็นเจ้าของไอเดียรถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้า และผู้บุกเบิกเส้นทางของบริษัทนี้เอาไว้

ก่อนที่ มัสก์ จะเข้ามาสมทบในฐานะนักลงทุน ก่อนจะขยับไปสู่การเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และดึงอำนาจในการบริหารมาอยู่ในมือ

จนนำไปสู่การแตกหักกับ เอเบอร์ฮาร์ด และ ทาร์เพนนิง ในเวลาต่อมา

และนี่คือเรื่องราวยุคแรกเริ่มของ Tesla ซึ่งเล่าผ่านมุมมองของ เอเบอร์ฮาร์ด ผู้ก่อตั้ง และ CEO คนแรกของบริษัท

 

Tarpening และ Eberhard สองผู้ก่อตั้ง Tesla “ตัวจริง”

เมื่อเศรษฐีใหม่อยากมีรถสปอร์ต

จุดเริ่มต้นของ Tesla เกิดขึ้นเมื่อ ทาร์เพนนิง ซึ่งทำงานในซาอุดีอาระเบีย เดินทางกลับมาพักผ่อนที่แคลิฟอร์เนีย และมีโอกาสได้เจอกับ เอเบอร์ฮาร์ด

ด้วยความที่มีรสนิยมหลายอย่างใกล้เคียงกัน ทำให้ทั้งคู่เกิดสนิทสนม จนตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกัน

ไอเดียแรกสุด คือ อุปกรณ์อ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์ ‘Rocket eBook’ ที่ขายได้ถึง 2 หมื่นเครื่อง ในปี 1999 ซึ่งทำเงินมหาศาลให้ทั้งคู่ หลังตัดสินใจขายกิจการให้ Gemstar-TV Guide ในราคาถึง 187 ล้านดอลลาร์ ภายในปีเดียว

การกลายเป็นมหาเศรษฐีในเวลาอันสั้น ทำให้ เอเบอร์ฮาร์ด อยากมีรถสปอร์ตเป็นของตัวเอ

 

tzero รถสปอร์ตพลังไฟฟ้ารุ่นบุกเบิก

นึกถึงไฟฟ้ากระแสสลับ นึกถึง (Nikola) Tesla

แต่ด้วยความที่ยุคนั้น ราคาน้ำมันในตลาดกำลังพุ่งสูง อันเป็นผลจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้ เอเบอร์ฮาร์ด เกิดไอเดียว่าเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างรถสปอร์ตที่ใช้พลังงานประเภทอื่น แทนที่จะเป็นน้ำมัน

จนนำไปสู่การค้นคว้าหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ ตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน ฯลฯ จนได้ข้อสรุปว่าพลังงานไฟฟ้า คือตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุด

ซึ่งในเวลาต่อมา ความคิดดังกล่าวได้รับการยืนยันว่าจริง เมื่อเจ้าตัวได้ทดลองขับ tzero โรดสเตอร์พลังไฟฟ้า ที่ผลิตโดยสตาร์ทอัพ AC Propulsion และพบว่าเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ก็แรงไม่แพ้รถสปอร์ตยี่ห้อดังๆ

แต่การเสนอตัวร่วมงานกับผู้ผลิตรถรุ่นดังกล่าวก็ไม่เป็นผล ทำให้ เอเบอร์ฮาร์ด ตัดสินใจตั้งบริษัทของตัวเอง โดยได้ชื่อบริษัทจากผู้คิดค้นมอเตอร์พลังไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) นิโกลา เทสลา เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่อัจฉริยะผู้ล่วงลับ

 

สร้างเองไม่ได้ ให้ดัดแปลง

ทั้ง เอเบอร์ฮาร์ด และ ทาร์เพนนิง รู้ดีว่าเวลานั้น Tesla ยังไม่พร้อมสำหรับการผลิตรถขึ้นมาใหม่ทั้งคัน

ทางออกคือการพัฒนาจากรถที่มีอยู่แล้ว เหมือน tzero ที่ดัดแปลงมาจาก Piontek Sportech

หลังจากหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ตัวเลือกของทั้งคู่คือ Elise รถสปอร์ตขนาดเล็กที่ผลิตโดย Lotus ของสหราชอาณาจักร พร้อมติดต่อขอไลเซนส์เทคโนโลยีจาก AC Propulsion มาใช้ในการพัฒนารถรุ่นแรกคือ Roadster

 

Lotus Elise รถต้นแบบ ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็น The Roadster

นายทุนคนใหม่

ในช่วงแรกนั้น เอเบอร์ฮาร์ด และ ทาร์เพนนิง เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งคู่ก็รู้ดีว่าเป็นเรื่องยากที่บริษัทจะไปต่อได้ ด้วยเงินที่มีอยู่

จนในปี 2004 เอเบอร์ฮาร์ด ที่รู้จักกับ มัสก์ เพราะเคยฟังอีกฝ่ายพูดในงานสัมมนาเกี่ยวกับอวกาศที่สแตนฟอร์ด ก็ส่งอีเมลเพื่อชักชวนให้มาร่วมลงทุนใน Tesla ด้วยกัน

สุดท้าย หลังการพูดคุยที่ออฟฟิศของ SpaceX ในแคลิฟอร์เนีย มัสก์ ก็ตัดสินใจลงทุนก้อนแรก เป็นเงิน 7.5 ล้านดอลลาร์ใน Tesla พร้อมารับตำแหน่งประธานบอร์ด

 

ปัญหาที่แก้ไม่ได้

ในงานเปิดตัว Roadster ที่ซานตา มอนิกา ในเดือนกรกฎาคม 2006 เอเบอร์ฮาร์ด สร้างความประทับใจให้ผู้มาร่วมงาน จนยอดออร์เดอร์รถมีเข้ามาเกินกว่าจำนวน 100 คันตามที่ตั้งใจไว้

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงของการผลิต เอเบอร์ฮาร์ด ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ ทั้งในการผลิตรถยนต์ รวมถึงบริหารองค์กรที่มีพนักงานกว่าร้อยคน ก็พบปัญหามากมาย จนกำหนดส่งมอบสินค้าที่ตั้งใจไว้ต้องล่าช้าไปจากเดิมถึงสองปี

ในความล่าช้าที่เกิดขึ้น อดีตพนักงานหลายคนของ Tesla ยืนยันว่า มัสก์ ซึ่งในเวลานั้นไม่ได้มีอำนาจในการบริหารโดยตรงก็มีส่วน โดยเฉพาะการเข้ามาแทรกแซงเป็นระยะ จนการทำงานไม่ไหลลื่นอย่างที่ควรจะเป็น

 

Musk กับ Eberhard และ Arnold Schwarzenegger ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียขณะนั้น ในงานเปิดตัว The Roadster

ยึดอำนาจ

สุดท้าย ในเดือนกันยายน 2007 เอเบอร์ฮาร์ด ก็ถูกถอดจากตำแหน่ง CEO โดยไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า เปิดทางให้ ไมเคิล มาร์คส์ ซึ่งถนัดในเรื่องงานบริหาร เข้ามาแทนที่

และต่อให้ยังมีชื่ออยู่ในบอร์ด แต่ เอเบอร์ฮาร์ด ก็ไม่มีอำนาจใดๆ แม้ Tesla จะเป็นบริษัทที่เขาสร้างขึ้นมากับมือก็ตาม

มาร์คส์ กล่าวถึง เอเบอร์ฮาร์ด ว่าเป็นวิศวกรที่เก่ง และมีวิสัยทัศน์ แต่ไม่ใช่ซีอีโอที่ดีหรือบริหารงานเป็น

และเมื่อ มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักของบริษัทเห็นว่าเขาทำงานนี้ไม่ได้ ก็เท่ากับหมดความชอบธรรมที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อโดยปริยา

แต่ไม่ใช่แค่ เอเบอร์ฮาร์ด เพราะสุดท้าย Marks ก็ถูกแทนที่โดย เซเยฟ ดรอรี ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

 

สุดท้ายต้องลงมือเอง

จนเมื่อโปรดักชั่นของ The Roadster เป็นรูปเป็นร่างในเดือนมีนาคม 2008 ดรอรี ก็ต้องหลีกทางให้ มัสก์ ซึ่งลงทุนกับบริษัทไปแล้วกว่า 55 ล้านดอลลาร์ เข้ามาควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง

The Roadster ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก รถกว่า 75% ถูกเรียกคืนเพื่อเข้ารับการแก้ไขข้อบกพร่อง เพราะลูกค้าระดับไฮโพรไฟล์หลายคน แสดงความผิดหวังถึงรถรุ่นนี้้ผ่านสื่อมวลชน หนึ่งในนั้น คือ จอร์จ คลูนีย์ ซึ่งเป็นร้อยคนแรกที่จองรถตั้งแต่งานเปิดตัวในปี 2006

หลังเข้ารับตำแหน่งซีอีโอ มัสก์ ก็จัดการปรับโครงสร้างองค์กรขนานใหญ่ พร้อมปั้นให้ Tesla Motors กลายเป็น ‘เรือธง’ ในวงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้อย่างในปัจจุบัน

“ผมลงทุนกับ Tesla ไปมาก เพราะฉะนั้น มันก็สมเหตุสมผลที่ผมจะเข้ามาควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง มัสก์ อธิบายถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ

 

AHEAD FACTS

  • มัสก์ ได้รับค่าจ้าง ในฐานะ CEO ของ Tesla ปีละ 1 ดอลลาร์ (33 บาท)
  • เขาใช้เงินส่วนตัวลงทุนกับ Tesla ไปทั้งสิ้น 70 ล้านดอลลาร์
  • ตั้งแต่นำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2010 มูลค่าหุ้นของ Tesla นั้น ขยับสูงขึ้นจากเดิมกว่า 1,000% แล้ว “แต่” ผลประกอบการของบริษัทยังไม่เคยทำกำไรแม้แต่ปีเดียว (และคาดว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปจนถึงปี 2020 “เป็นอย่างน้อย”)
  • มีการประเมินว่าในปี 2020 โรงงาน Gigafactory จะผลิตแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน ในปริมาณมากกว่าที่โรงงานทั้งโลก ผลิตได้ในปี 2013
  • Model X เมื่อชาร์จไฟเต็ม จะวิ่งได้ระยะทางถึง 250 ไมล์ หรือ 402 กิโลเมตร
  • The Roadster รถรุ่นแรกของบริษัท ถูก Top Gear รายการโทรทัศน์ของ BBC วิจารณ์แบบยับเยินเรื่องคุณภาพ จนถูกทาง Tesla ยื่นฟ้อง แต่ผลสุดท้าย ทาง Top Gear เป็นฝ่ายชนะคดี

 

เรียบเรียงจาก

The Making Of Tesla: Invention, Betrayal, And The Birth Of The Roadster

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Belichick

กฎแห่งผู้นำ 5 ข้อของ Bill Belichick

Next Article

Solar City พลิกโฉมพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยไอเดีย

Related Posts