บทเรียนจาก Yahoo!

Yahoo! คือหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี จากยุคบุกเบิกอินเตอร์เน็ต

แต่ปัจจุบัน สถานะของ Yahoo! หดเหลือเพียงส่วนหนึ่งของ Oath บริษัทลูกในเครือยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม Verizon เท่านั้น

เมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติให้ขายสินทรัพย์ และธุรกิจหลัก ในราคา 4,500 ล้านดอลลาร์ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในดีลนี้ อาทิ หุ้นใน Alibaba, Yahoo! Japan และสิทธิบัตรเทคโนโลยีต่างๆ จะยังอยู่ในความดูแลของกลุ่มบริษัทเดิม แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Altaba Inc.

คำถามที่ตามมา คือเกิดอะไรขึ้นกับหนึ่งในองค์กรที่ถือเป็นตำนานของซิลิคอน วัลลีย์ จนลงเอยด้วยบทสรุปแบบนี้

กำเนิดเสิร์ชเอ็นจิน

Yahoo! ถือกำเนิด เมื่อเดือนเมษายน 1994 ในลักษณะเดียวกับยักษ์ใหญ่อื่นๆในโลกไอที คือการมองเห็นโอกาสและช่องทางใหม่ๆของสองนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

Jerry Yang หนุ่มไต้หวันอพยพที่หลงใหลในคณิตศาสตร์ และ David Filo โปรแกรมเมอร์ผู้เงียบขรึมจากหลุยเซียนา

ทั้งคู่สร้างดัชนีรวบรวมลิงค์ของเว็บไซต์ต่างๆในยุคนั้น โดยใช้ชื่อว่า ‘Jerry and David’s Guide to the World Wide Web’

หนึ่งปีถัดมา หลังได้เงินทุนจาก Sequoia Capital ทั้งคู่ก็ตัดสินใจจดทะเบียนบริษัท พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Yahoo!

และเติบโตอย่างรวดเร็วในภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอม พร้อมกับบริษัทร่วมยุค ทั้ง MSN, Alta Vista, Netscape, Lycos, Excite ฯลฯ

จากจุดขายในยุคแรกอย่างเสิร์ชเอ็นจิน Yahoo! ขยายกิจการออกไป ด้วยการควบรวมบริษัทอื่น เพื่อแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ อาทิ Rocketmail (Yahoo! Mail) ClassicGames.com (Yahoo! Games) ฯลฯ

รวมถึง Yahoo! Messenger ซึ่งเป็นบริการส่งข้อความแบบ instant message ยุคบุกเบิกด้วย

หลักฐานความรุ่งเรืองของ Yahoo! คือการที่หุ้นของบริษัทพุ่งไปแตะ all-time high ที่ 118.75 ดอลลาร์ ในปี 2000

รุ่งเรืองสู่ถดถอย

แต่หลังฟองสบู่ไอทีแตกในปีถัดมา จนทำให้หุ้นของบริษัทตกลงมาต่ำสุดที่ 8.11 ดอลลาร์ ท่าทีของ Yahoo! ก็เปลี่ยนไป และไม่ทะเยอทะยานเหมือนเดิมอีก

Yang เลือก Terry Semel อดีตผู้บริหาร Warner Brothers มารับตำแหน่งซีอีโอ เพื่อเปลี่ยนแนวทางจากไอทีไปสู่องค์กรสื่อแทน

แนวทางของ Semel ก็เลือก ‘ลดความเสี่ยง’ สวนทางกับสิ่งที่บริษัทหัวก้าวหน้า อย่าง Yahoo! ควรจะเป็น จนพลาดหลายดีลสำคัญที่กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการในเวลาต่อมา

เช่น ในปี 2002 Yahoo! มีโอกาสซื้อกิจการของ Google แต่ Semel เลือกกดราคาไว้ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งที่มูลค่าขั้นต่ำของ Google ในเวลานั้น อาจสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์

หรือในปี 2006 Semel ก็ตัดสินใจลดข้อเสนอซื้อ Facebook ในยุคตั้งไข่ จาก 1,000 ล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 850 ล้านดอลลาร์

ผลคือทั้งสองข้อเสนอนั้นถูกปฏิเสธ ก่อนที่ทั้ง Google และ Facebook จะเติบโตจนแซงหน้า Yahoo! ในเวลาต่อมา

ทางเลือกที่ผิดพลาด

กลับกัน เมื่อถึงเวลาที่ต้องถอย Yahoo! กลับเลือกเดินหน้าต่อ

เพราะหลังสูญเสียตำแหน่งผู้นำในตลาดเสิร์ชเอ็นจินไป

Yahoo! ยังได้รับข้อเสนอขอซื้อกิจการ ในราคา 45,000 ล้านดอลลาร์ จาก Microsoft ในยุคของซีอีโอ Steve Ballmer ที่ต้องการได้ know-how ของ Yahoo! เพื่อแข่งขันกับ Google เมื่อปี 2008

แต่ Yang ที่กลับมารับตำแหน่งซีอีโอแทน Semel เลือกปฏิเสธ

จากหัวหอกในยุคบุกเบิกของไอที Yahoo! จึงค่อยๆกลายเป็นผู้ตาม และต้องเลย์ออฟพนักงานมากถึง 2 พันคนในปี 2012 หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของทั้งองค์กร

จาก Yahoo! สู่ Alibaba

กระนั้น ก็ใช่ว่า Yang จะตัดสินใจผิดพลาดไปหมดทุกอย่าง

หนึ่งในดีลที่น่าจะถือว่าดีที่สุดของ Yahoo! เกิดขึ้นในปี 2005 คือการลงทุนซื้อหุ้น 40% ของ Alibaba เป็นเงิน 1,000 ล้านเหรียญ

เพราะปัจจุบัน Alibaba Group กลายเป็นอภิมหาอำนาจในวงการอีคอมเมิร์ซของโลกไปเรียบร้อย

แม้จะถูกขายออกไป 25% หลัง Yang ตัดสินใจแยกตัวจาก Yahoo! แต่หุ้น 15% ที่ยังถืออยู่ ก็งอกเงยจนมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านเหรียญ

น่าเสียดาย คือมันไม่อาจช่วยให้ Yahoo! อยู่รอดในวงการได้ และเสียสถานะผู้นำวงการ กระทั่งถูกควบรวมกิจการในที่สุด

เรียบเรียงจาก

What Sank Yahoo? Blame Its Nice Guy Founders

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
McDonald's

จากเซลส์แมนสู่แบรนด์ระดับโลก Ray Kroc ยอดนักขาย ผู้ปั้น McDonald's

Next Article
ผู้ก่อตั้ง Google

ความผิดพลาดซ้ำซากของ Yahoo!

Related Posts