เจอร์รี่ หยาง

เมื่อ เจอร์รี่ หยาง พบ แจ๊ค หม่า : จาก Yahoo! สู่ Alibaba

เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าความสำเร็จครั้งไหนของ เจอร์รี่ หยาง (Jerry Yang) ยิ่งใหญ่กว่ากัน

ระหว่าง การก่อตั้ง Yahoo! หนึ่งในเว็บพอร์ทัลผู้บุกเบิกยุคดอทคอม

กับการลงทุน (หรือเดิมพัน?) ซื้อหุ้นของ Alibaba ยุคแรก ด้วยเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์ เพราะเชื่อมั่นในตัว แจ๊ค หม่า ก่อนอีกฝ่ายจะเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอี-คอมเมิร์ซของโลกในเวลาต่อมา

เพราะทั้งสองครั้ง ล้วนแต่มีส่วนเปลี่ยนแปลงให้โลกออนไลน์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

Yahoo! Japan

หยาง อาจไม่มีวันได้พบกับ หม่า หากปราศจากชายชื่อ มาซาโยชิ ซอน

ย้อนไปในปี ในปี 1995 หรือไม่นานหลังการก่อตั้ง Yahoo! ทั้ง หยาง และ เดวิด ไฟโล มีโอกาสได้พบกับนักธุรกิจด้านเทเลคอมชาวญี่ปุ่น เจ้าของบริษัท SoftBank ซึ่งสนใจจะลงทุนในสตาร์ทอัพโนเนมของสองหนุ่มจากสแตนฟอร์ด

ไม่นานหลังการพูดคุย ซอน จึงตัดสินใจซื้อหุ้น 5% ของ Yahoo! ในราคา 2 ล้านดอลลาร์ และค่อยๆเพิ่มเป็น 105 ล้านดอลลาร์ ในปี 1996 ตามด้วย 250 ล้านดอลลาร์ ในปี 1998 ทำให้ช่วงหนึ่งเจ้าตัวมีหุ้นในYahoo! ถึง 37%

ความสนิทสนมระหว่างสองฝ่าย ยังนำไปสู่การก่อตั้ง Yahoo! Japan เว็บพอร์ทัลรายแรกของญี่ปุ่น โดยมี มาซาฮิโระ อิโนอุเอะ ผู้ช่วยของ ซอน รับตำแหน่งประธานบริษัท ซึ่งก็ได้รับความนิยมจนมีผู้ใช้งานนับล้านในเวลาอันรวดเร็ว

 

พบกันที่กำแพงเมืองจีน

 

 

ความสำเร็จของ Yahoo! ในเอเชีย ทำให้ หยาง มีโอกาสเดินทางไปจีนเป็นครั้งแรก ในปี 1997

และเจ้าหน้าที่ระดับล่างรายหนึ่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของจีน มอบหมายให้มาดูแล Yang ระหว่างเดินเยี่ยมชมกำแพงเมืองจีน ก็คือ แจ๊ค หม่า อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ที่เคยล้มเหลวกับการทำธุรกิจแรกมาก่อน

“เขาสนใจเรื่องอินเตอร์เน็ต รวมถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตมาก” หยาง เล่าย้อนถึงการเจอกับ หม่า ครั้งแรก

ไม่กี่เดือนหลังการพูดคุยกัน หม่า ก็เริ่มสตาร์ทอัพของตัวเอง เพื่อเชื่อมโยงบริษัทในจีนกับโลกภายนอก ในชื่อ Alibaba

ขณะที่ภาพของคนทั้งคู่ในวัยหนุ่มบนขั้นบันไดของกำแพงเมืองจีน ฝีมือ ฮีเธอร์ คิลเลน ก็ยังถูกติดไว้บนผนังสำนักงานของ Alibaba ในหังโจวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ลงทุน

 

 

ฤดูใบไม้ผลิปี 1999 ขณะที่ฟองสบู่ไอทีถึงจุดสูงสุด Yahoo! กลายเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมลำดับต้นๆของโลก ว่ากันว่า มูลค่าทรัพย์สินของ ซอน พุ่งสูงจนเกือบเทียบเท่า บิล เกตส์

เวลานั้น Alibaba ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ หม่า กับพนักงานยังต้องทำงานอย่างหนักในอพาร์ทเมนท์ของเขาที่หังโจว

เมื่อได้พบกัน Son รู้สึกประทับใจในตัวอีกฝ่ายมาก โดยเฉพาะทีท่าที่ชวนให้นึกถึง Yahoo! ยุคเริ่มต้น จนสนใจอยากจะลงทุนกับอดีตครูสอนภาษาอังกฤษรายนี้

ซอน ลงทุนเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์ ใน Alibaba และค่อยๆเพิ่มจำนวนหุ้นในบริษัทเป็น 37% แม้หลังจากนั้นไม่นาน มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของเจ้าตัวจะหายวับไปเกือบ 90% ในช่วงที่ฟองสบู่ไอทีแตกตอนต้นยุค 2000 ก็ตาม

 

ดีลประวัติศาสตร์

 

 

ตัดกลับมาในปี 2005 หยาง และ หม่า มีโอกาสได้คุยกันแบบจริงจังอีกครั้ง เมื่อทั้งคู่ได้รับเชิญให้เดินทางไปร่วมงานสัมมนาผู้บริหารจากจีนและซิลิคอน วัลลีย์ ที่เพบเบิล บีช ในแคลิฟอร์เนีย

เวลานั้น แม้ Alibaba จะมีพนักงานกว่า 2,400 คน และยอดขายกว่า 50 ล้านดอลลาร์แล้ว แต่สถานะของบริษัทก็ยังไม่มั่นคง

และ หม่า ก็ต้องการเงินทุนสนับสนุน เพื่อแข่งขันกับ EachNet บริษัทอี-คอมเมิร์ซคู่แข่ง ซึ่งเพึ่งถูกซื้อกิจการไปโดย Ebay

ความตั้งใจแรกของ หม่า คือการขอความช่วยเหลือจาก โรบิน ลี ซีอีโอของ Baidu แต่กลับเป็น หยาง ที่แสดงความสนใจที่จะลงทุนใน Alibaba กว่าใครเพื่อน

ทั้งคู่แยกตัวออกไปเดินคุยกันบนชายหาดนานถึง 30 นาที ระหว่างมื้อค่ำในวันงาน และใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจว่าจะร่วมมือกัน

 

ชัยชนะแรกของ Alibaba

Yahoo! ลงทุนกับ Alibaba เป็นเงินสด 1 พันล้านดอลลาร์ ร่วมด้วยสินทรัพย์อื่นๆของ Yahoo! China มูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ แลกกับหุ้น 40%

ส่วนที่เหลือแบ่งเท่าๆกัน ระหว่าง หม่า และ SoftBank ฝ่ายละ 30%

เปรียบเทียบกัน การดำเนินงานของ EachNet เต็มไปด้วยความล่าช้า

เพราะ Ebay ยืนกรานถือสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจทุกอย่างจากสำนักงานใหญ่ที่อยู่คนละทวีป รวมถึงส่วนแบ่ง 3% และมาตรฐานการทำงานตามแบบฉบับของบริษัท

หม่า ซึ่งสังเกตการณ์อยู่วงนอกรับรู้เรื่องนี้ และเลือกใช้ความคล่องตัว และข้อได้เปรียบเรื่องราคาของ Taobao เว็บไซต์หลักของตน ช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมา

และในเวลาเพียงปีเศษ Taobao ก็ครองมาร์เก็ตแชร์ในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของจีน ได้ถึง 82% ขณะที่ EachNet มีเพียง 7% เท่านั้น

 

งานเลี้ยงเลิกรา

 

 

ณ อีกฟากของโลก หยาง ต้องหวนกลับมาบริหาร Yahoo! อีกครั้ง ในตำแหน่งซีอีโอ แทน เทอร์รี่ ซีเมล ที่อำลาไปในปี 2007 ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม เมื่อโมเมนตัมในอุตสาหกรรมนี้ เหวี่ยงกลับไปหา Google บริษัทที่ Yahoo! เคยปฏิเสธการซื้อถึงสองหนในอดีต

แต่ยังไม่ทันที่ หยาง จะได้เริ่มงาน ก็มีข้อเสนอขอซื้อกิจการบริษัท มูลค่า 44,600 ล้านดอลลาร์ จาก Microsoft เข้ามาให้พิจารณา เพราะ สตีฟ บอลเมอร์ ซีอีโอของ Microsoft ในเวลานั้น ต้องการผนึกกำลังกับ Yahoo! เพื่อแข่งขันกับ Google

หยาง คัดค้านดีลนี้อย่างเต็มที่ จนสุดท้าย Microsoft ตัดสินใจถอนตัวไปเอง ทำให้ราคาหุ้นของ Yahoo! ดำดิ่งหนักกว่าเดิม และเจ้าตัวก็ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น

เมื่อรวมกับการปล่อยให้ หม่า มีอิสระในการบริหาร Alibaba อย่างเต็มที่ ก็ยิ่งทำให้ผู้ถือหุ้นไม่พอใจกว่าเดิม

สุดท้าย หยาง ก็ถูกบีบให้ลาออกจากทุกตำแหน่งในองค์กร ส่วน Yahoo! ก็ตัดสินใจขายหุ้นส่วนหนึ่งของ Alibaba คืนให้ หม่า ในราคา 7 พันล้านดอลลาร์ (เฉลี่ยหุ้นละ 17 ดอลลาร์) เมื่อเดือนกันยายนปี 2012

โดยหารู้ไม่ว่าราคาหุ้นของ Alibaba จะพุ่งไปถึง 94 ดอลลาร์ ในอีกเพียงสองปีถัดมา และกลายเป็นมหาอำนาจของวงการอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกในปัจจุบัน

ส่วน Yahoo! ก็ค่อยๆถดถอยจนสุดท้ายต้องขายกิจการหลักให้กับ Verizon บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ ปิดตำนานผู้บุกเบิกยุคดอทคอมในที่สุด

ด้าน หยาง หลังลาออกจาก Yahoo! ก็ผันตัวไปเปิด VC ของตน ในชื่อ AME Cloud Ventures และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสตาร์ทอัพกว่า 50 ราย อาทิ Evernote, Wattpad และ Tango

และเมื่อถูกถามถึงความสำเร็จในปัจจุบันของ Alibaba เจ้าตัวก็ปฏิเสธจะพูดถึงดีล 1 พันล้านดอลลาร์ในครั้งนั้น และเลือกยกเครดิตให้กับ หม่า และผู้ช่วย โจ ไซ แทน

“ผมไม่ได้ทำอะไรเลยนะ พวกเขาต่างหากที่สร้างบริษัทนั้นขึ้นมา”  

 

AHEAD FACTS

  • ชื่อเดิมของ Yahoo! คือ Jerry and David’s Guide to the World Wide Web โดยในยุคแรกนั้น มีรูปแบบเป็นเว็บท่า ที่รวบรวมและจัดระเบียบเว็บไซต์ต่างๆเอาไว้ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถค้นหาชื่อและลิงค์ของเว็บที่ต้องการ ได้ใน index
  • ในยุคฟองสบู่ดอทคอม ราคาหุ้นของ Yahoo! เคยทำนิวไฮไว้ที่ 118.75 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2000 และลดเหลือ 8.11 ดอลลาร์ ในเดือนกันยายน 2011
  • Yahoo! เคยมีโอกาสซื้อกิจการของ Google ถึงสองครั้ง ในราคา 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 30 ล้านบาท) และ 5,000 ล้านดอลลาร์ (150,000 ล้านบาท) แต่ก็ตัดสินใจไม่ลงทุน ก่อนที่ Google จะเติบโตจากการเป็นเว็บเสิร์ชเอ็นจิน ขึ้นมาเป็นคู่แข่งและเบียดแย่งฐานลูกค้าของ Yahoo! ไปในที่สุด
  • Yahoo! เคยยื่นข้อเสนอ 1,000 ล้านดอลลาร์ (30,000 ล้านบาท) เพื่อเทกโอเวอร์ Facebook ในปี 2002 แต่ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ตอบปฏิเสธ
  • เงินเดือนก้อนแรกของ แจ๊ค หม่า สมัยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อยู่ที่ราวๆ 12-15 ดอลลาร์ (4-500 บาท)
  • หม่า เริ่มต้นเป็นไกด์พานักท่องเที่ยวทัวร์ตามสถานที่ต่างๆตั้งแต่อายุ 12 เพราะต้องการฝึกภาษาอังกฤษ
  • เมื่อตัดสินใจก่อตั้ง Alibaba เขาระดมทุนจากเพื่อนและคนรู้จัก 18 คน ได้เงินทั้งสิ้น 60,000 ดอลลาร์ (1.8 ล้านบาท) ในเวลาเพียงสองชั่วโมง

 

เรียบเรียงจาก

Finding Alibaba: How Yang Made The Most Lucrative Bet In Silicon Valley History

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

กางคัมภีร์ แจ๊ค หม่า เรียนรู้ 40 กระบวนท่าพิชิตธุรกิจ

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
ผู้ก่อตั้ง Google

ความผิดพลาดซ้ำซากของ Yahoo!

Next Article

สงครามเสิร์ชเอ็นจิน

Related Posts