Dotcom Bubble หรือฟองสบู่ดอทคอม (1995-2000) จัดเป็นหนึ่งในสิบวิกฤตทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน
ช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษที่ 1990 กับยุคมิลเลนเนียม คือยุคเฟื่องของอินเตอร์เน็ตในสหรัฐ บริษัทชั้นนำหลายราย ทั้ง เว็บพอร์ทัล-อีคอมเมิร์ซ-เสิร์ชเอ็นจิน อาทิ Yahoo!, Amazon, Ebay หรือ Google ล้วนเกิดขึ้นในยุคนั้น
สถิติในปี 1998 ระบุว่า มีเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้นถึง 400,000 เว็บ คิดเป็น 200 เท่าจากปี 1995 ที่มีเพียง 2,000 ราย
ในยุคนั้น นักลงทุนจำนวนมากที่เห็นความสำเร็จของบริษัทชั้นนำข้างต้น ล้วนแต่พร้อมจะลงทุนกับธุรกิจดอทคอมอยู่แล้ว โครงการใหม่ๆที่ฟังดูเข้าท่า มีโอกาสดีที่จะทำ IPO เพื่อเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ไม่ยาก
เห็นได้จากมูลค่าของ NASDAQ ซึ่งเป็นที่รวมของยักษ์ใหญ่ด้านเทค ก็เติบโตจาก 1,000 จุด ในปี 1995 ไปถึงระดับ 5,000 จุด ในเวลาเพียงห้าปี จนใครก็อยากโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้…
ไม่ว่าจะมีความพร้อมแค่ไหนก็ตาม
สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมดอทคอม เร็วเกินกว่าที่เทคโนโลยีในยุคนั้นจะตามได้ทัน
ความผิดหวังของผู้บริโภคที่อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทันใจ นำมาซึ่งความถดถอยในตลาดทุน เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในบริษัทและสตาร์ทอัพสายเทค
จุดต่ำสุดของฟองสบู่ดอทคอมมาถึง เมื่อดัชนี NASDAQ ที่เคยขึ้นไปแตะ 5,132 จุดในเดือนมีนาคม ปี 2000 ตกลงมาอยู่ที่ 1,470 จุดในเวลาไม่กี่เดือน
หลายบริษัทที่เคยมีมูลค่านับพันล้าน ในช่วง IPO แทบกลายเป็นศูนย์ในชั่วพริบตา กระทั่งหุ้นของ Amazon.com ที่เคยสูงถึง 107 ดอลลาร์ ก็ตกลงมาเหลือเพียง 7 ดอลลาร์ ในตอนนั้น
แม้หลายบริษัทจะเอาตัวรอด และฟื้นคืนกลับมาได้ แต่กว่า 90% ก็ล้มหายตายจากไป ทิ้งรอยแผลใหญ่ให้เศรษฐกิจสหรัฐนานหลายปี
และนี่คือส่วนหนึ่งของบรรดาคีย์เพลย์เยอร์ที่มีส่วนก่อให้เกิดฟองสบู่ดอทคอมในเวลานั้น ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม…
Yahoo!
ผู้บุกเบิกโลกอินเตอร์เน็ต ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นสารพัด แต่ภาพจำแรกของเว็บไซต์ คือการเสิร์ชหาคอนเทนท์ออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในยุคนั้นมากที่สุด
ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน 1994 ยอดเข้าชม Yahoo! เพิ่มจาก 1,000 คนต่อสัปดาห์ เป็น 50,000 คนต่อวัน ทั้งที่เทคโนโลยียุคนั้นยังไม่อำนวย
กระทั่งจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายมาถึง เมื่อ Netscape Navigator เบราเซอร์ที่ใช้งานง่าย และมาพร้อมกับปุ่ม Directory ซึ่งจะยิงตรงไปสู่ Yahoo! ช่วยให้เว็บไซต์มียอดผู้เข้าชมต่อวันสูงถึง 1 ล้านคน ในเดือนมกราคม 1995
ช่วงนี้เองที่ เจอร์รี่ หยาง และ เดวิด ไฟโล เชื่อว่า Yahoo! พร้อมแล้วสำหรับการระดมเงินจากนักลงทุน เช่นเดียวกับการหารายได้จากค่าโฆษณา
และขยายไปยังบริการอื่นๆ เช่นการเซ็นสัญญากับ Reuters ในเดือนสิงหาคม 1995 เพื่อนำเสนอข่าวสำคัญ 10 เรื่องในแต่ละวันทางหน้าเว็บไซต์
การเติบโตของบริษัทเล็กๆที่มีพนักงานฟูลไทม์แค่ 6 คนเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะในเดือนเมษายน 1996 Yahoo! ก็ทำ IPO เพื่อเข้าสู่ตลาดหุ้น ด้วยราคาที่พุ่งขึ้นจากเดิม 3 เท่าไปอยู่ที่ 33 เหรียญต่อหุ้น
และเติบโตจนเป็นเว็บไซต์ที่มีคนใช้งานมากสุดเป็นอันดับสอง รองจาก AOL ในยุคที่ฟองสบู่ดอทคอมเฟื่องฟูถึงขีดสุด
แต่ผลกระทบเมื่อฟองสบู่แตกก็รุนแรงจนบริษัทเสียศูนย์ไปไม่น้อยเช่นกัน เมื่อหุ้นของบริษัทที่เคยทำ all-time high ที่ 118.75 เหรียญในปี 2000 ลดวูบเหลือเพียง 8.11 เหรียญในปีเดียว
หยาง ยังอยู่ประคับประคอง Yahoo! ต่อมา ก่อนลาออกในปี 2012 เพราะแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นที่ไม่พอใจเจ้าตัวในการปล่อยให้ แจ๊ค หม่า มีอิสระในการบริหาร Alibaba ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 40% มากเกินไป (แม้สุดท้าย หม่า จะแสดงให้เห็นว่า Yang เลือกถูกก็ตาม)
ปัจจุบัน หยาง ก่อตั้ง AME Cloud Ventures เพื่อเป็น VC ให้กับสตาร์ทอัพใหม่ๆมากมาย รวมถึงกลับไปรับตำแหน่งบอร์ดของ Alibaba ตามคำเชิญของ หม่า
ด้าน ไฟโล เลือกเก็บตัวเงียบตั้งแต่เริ่มแรก และมีชื่อในบอร์ดของบริษัทเรื่อยมา โดยทำควบคู่ไปกับ K12 Start Fund เพื่อลงทุนในบริษัทสาย ed tech (เทคโนโลยีด้านการศึกษา) และ Yellow Chair Foundation กองทุนไม่หวังผลกำไรที่สนับสนุนการศึกษา ศิทธิมนุษยชน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
Broadcast.com
เจ้าของไอเดียวิทยุทางอินเตอร์เน็ตยุคแรก ซึ่งก่อตั้งโดย Christopher Jaeb ก่อนได้ Todd Wagner กับ Mark Cuban มาสมทบ
ทั้งหมดกลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วข้ามคืน หลังขายกิจการให้ Yahoo! เมื่อ 1 เมษายน 1999 ในราคา 5,700 ล้านดอลลาร์ Jaeb ย้ายไปใช้ชีวิตในฮาวาย และทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ส่วน Wagner กับ Cuban ผันตัวไปทำธุรกิจบันเทิง รวมถึงซื้อกิจการของ Dallas Mavericks และปั้นทีมจนเป็นแชมป์ NBA 2011
Geocities
อีกหนึ่งเว็บพอร์ทัลยุคบุกเบิก ที่ก่อตั้งโดย David Bohnett และ John Rezner ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ Yahoo! และทำ IPO ในปี 1998 ก่อนถูก Yahoo! ซื้อกิจการในปีถัดมา
ทั้ง Bohnett และ Reznet ที่ได้เงินไปหลายร้อยล้านดอลลาร์จากการขายกิจการ ผันตัวไปทำกิจการการกุศลและสิ่งแวดล้อมแทน
theGlobe
โซเชียล เน็ตเวิร์ค รุ่นบุกเบิกที่ก่อตั้งในปีเดียวกับ Yahoo! โดย Stephan Paternot และ Todd Krizelman
หลังเข้าสู่ตลาดหุ้น ราคาของบริษัทก็พุ่งกระฉูดจากตอนเปิดตัวถึง 606% ไปแตะที่ 97 เหรียญ แต่ภายหลังฟองสบู่แตก ราคาหุ้นของบริษัทก็ดำดิ่งจนเหลือไม่ถึง 10 เซนต์
Paternot แยกตัวจากบริษัทก่อนฟองสบู่แตก และหันไปลงทุนกับสตาร์ทอัพสายอินเตอร์เน็ทแทน ส่วน Krizelman โยกเงินบางส่วนไปไว้กับบริษัทอื่น ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากหายนะครั้งนี้มากนัก ปัจจุบัน เจ้าตัวเป็นเจ้าของ MediaRadar แพลทฟอร์มที่จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการโฆษณาในฟอร์แมตต่างๆ
Napster
Napster ต้นตำรับไฟล์แชริ่งด้านเพลง ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องโดยศิลปินในยุคนั้น จนต้องปิดตัวลง และถูกซื้อกิจการไปในที่สุด
Sean Fanning พยายามเริ่มต้นใหม่กับ Snocap แพลทฟอร์มมาร์เก็ตเพลสด้านเพลง แตไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนย้ายไปทำ Rupture โซเชียลเน็ตเวิร์ค เฉพาะทางสำหรับผู้เล่น World of Warcraft เกม MMO ตามด้วย Path.com เว็บไซต์แชร์ภาพ และล่าสุดคือ Airtime.com เว็บไซต์สำหรับไลฟ์วิดีโอ
ส่วน Sean Parker เคยร่วมงานกับ Facebook ในช่วงสั้นๆ และร่วมลงทุนใน Spotify และก่อตั้ง Airtime.com ร่วมกับ Fanning เพื่อนเก่า
LYCOS
เว็บพอร์ทัลร่วมยุคกับ Yahoo! และเป็นหนึ่งในไม่กี่เว็บไซต์ที่ยังอยู่รอดมาจนทุกวันนี้ เพราะ Bob Davis ผู้ก่อตั้งวางรากฐานไว้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยการขยายแบรนด์ออกไปยังด้านอื่นๆ เพื่อส่งเสริมกัน อาทิ Gamesville, WhoWhere, Wired Digital ฯลฯ
Davis ลาออกจากตำแหน่งหลังฟองสบู่แตก เพื่อหันไปตั้งบริษัท VC ในชื่อ Highland Capital Partners และมีชื่อเป็นบอร์ดของหลายบริษัทในวงการ
AltaVista
เสิร์ชเอ็นจินยุคบุกเบิกในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งก่อตั้งโดย Louis Monier และ Michael Burrows เมื่อปี 1995 และสนับสนุนบริการนี้แก่ Yahoo! ในปี 1996
สถานการณ์ผันผวนในยุคฟองสบู่ ทำให้ AltaVista ไม่ได้เข้าสู่ตลาดหุ้นเหมือนบริษัทอื่น ก่อนสถานการณ์จะยิ่งแย่ เมื่อถูก Google แซงหน้าไปได้ในตลาดเสิร์ชเอ็นจิน กระทั่งถูก Yahoo! ซื้อกิจการในปี 2003 และปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในปี 2013
Burrows ย้ายไปทำงานกับ Microsoft ช่วงสั้นๆ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเสิร์ชเอ็นจินของ Google และยังอยู่กับบริษัทมาจนปัจจุบัน ส่วน Monier ก็เคยทำงานกับทั้ง eBay และ Google ช่วงสั้นๆ และผันตัวไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคให้กับบริษัทต่างๆแทน
Excite
เว็บพอร์ทัลที่ก่อตั้งโดย Joe Kraus และเพื่อนนักศึกษาจากสแตนฟอร์ด เช่นเดียวกับ Yang และ Filo ซึ่งในระยะแรกได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลายราย รวมถึงมีโอกาสเข้าสู่ตลาดหุ้นในเดือนเมษายน 1996 ด้วย
Excite คือหนึ่งในสองบริษัทที่ปฏิเสธจะซื้อ อัลกอริทึม PageRank จาก Sergey Brin กับ Larry Page ก่อนที่ทั้งคู่จะนำไปสร้าง Google ในเวลาต่อมา
ด้วยหลายๆเหตุผล Excite ก็ประสบปัญหาในการบริหารตั้งแต่ฟองสบู่ยังไม่แตก จนต้องประกาศล้มละลาย เพื่อฟื้นฟูกิจการ Kraus ยังอยู่ในแวดวงนี้ และเป็นผู้ก่อตั้ง JotSpot ซึ่งถูก Google ซื้อกิจการไปในเวลาต่อมา และปัจจุบันผันตัวมาเป็น angel investor และเป็นพาร์ทเนอร์กับ Google Ventures ในปี 2009
Ask Jeeves
เสิร์ชเอ็นจิน ที่ก่อตั้งโดย Garrett Gruener และ David Warthen จุดเด่นของ Ask Jeeves คือผู้ใช้สามารถพิมพ์ภาษาพูดธรรมดาได้ในการค้นหา ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่ล้ำหน้ากว่าเสิร์ชเอ็นจินอื่นๆในยุคเดียวกัน
Ask Jeeves เป็นอีกรายที่ราคาหุ้นดำดิ่งในช่วงฟองสบู่แตก (จาก 190 เหรียญเหลือ 0.86 ในปี 2002) แต่ก็ยังประคองตัวไว้ได้ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น Ask.comในเวลาต่อมา และเปลี่ยนจากเสิร์ชเอ็นจินเป็นการให้บริการตอบข้อมูลต่างๆแทน
ปัจจุบัน Gruener หันไปลงทุนกับสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคโนโลยีแทน ขณะที่ Warthen หันไปก่อตั้งสตาร์ทอัพสายไลฟ์สตรีม GlobalStreams และวิดีโอเกม Eye Games แทน
AHEAD TAKEAWAY: ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย?
ในยุคที่สตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีกลับมาบูมอีกคร้งในปัจจุบัน ทำให้หลายคนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ฟองสบู่ดอทคอมอาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกครั้ง
Mark Cuban ซึ่งผ่านเหตุการณ์เมื่อปี 2001 มา ให้ทรรศนะผ่านบล็อกของตนว่าสตาร์ทอัพดังๆหลายรายในปัจจุบัน ถึงจะถูกมองว่ามีมูลค่ามหาศาล แต่ไม่ได้แปลว่ามีเงินสดไหลเวียนอยู่จริง
ขณะที่ Amish Shah ซึ่งคลุกคลีกับวงการนี้มานาน ให้ความเห็นว่าโอกาสจะเกิดซ้ำรอยนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะยุคนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงเงินไปกับสตาร์ทอัพ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องยากที่บริษัทเล็กๆเหล่านี้จะทำกำไรได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งต่างจากยุคดอทคอมที่ทุกคนหวังจะได้กำไรคืนกลับมาในชั่วข้ามคืน
นอกจากนี้ นักลงทุนจำนวนมาก ก็ล้วนแต่มีบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนั้น จนเป็นเรื่องยากที่จะแห่ลงทุนจนกลายเป็นยุคฟองสบู่อีกครั้ง
เรียบเรียงจาก
What Did We Learn From the Dotcom Stock Bubble of 2000?
If you’re too young to remember the insanity of the dot-com bubble, check out these pictures
17 Dot-Com Bubble Companies And Their Founders
Yahoo’s journey through the dotcom bubble โดย Paul Bennetts
หากมีข้อแนะนำใดๆ สามารถเสนอต่อทีมงานในหน้าเพจ AHEAD.ASIA ได้ทันที และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน