Betamax – ความพ่ายแพ้ในโลกอนาล็อกของSony

#Breakfas4brain

ปัจจุบัน การเข้าถึงภาพยนตร์ของเรานั้นง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสบนสมาร์ทดีไวซ์

แต่ถอยหลังกลับไปไม่นาน การจะดูหนังซักหนึ่งเรื่อง อาจต้องเดินออกจากบ้านไปยังร้านเพื่อเช่ากลับมาดู

ในฟอร์แมตของการจัดเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันไป อาจจะเป็นดีวีดี หรือ วีซีดี ในยุคดิจิทัล

หรือกระทั่งม้วนวิดีโอเทปในยุคที่ข้อมูลยังเป็นอนาล็อก

ฟอร์แมตที่ครั้งหนึ่ง Sony เป็นผู้คิดค้น และเปิดตัวก่อน แต่กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในตลาดที่ตนสร้างขึ้นมากับมือ

..
.

ถอยหลังกลับไปในตอนต้นทศวรรษที่ 1970 Sony พยายามหาทางหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องฟอร์แมตของวิดีโอเทป ไม่ให้ซ้ำรอยกรณีของคาสเซตต์เทป

ด้วยการเปิดสาธิตเครื่องต้นแบบของ Betamax ต่อผู้ผลิตรายอื่นๆ เพื่อโน้มน้าวให้เลือกใช้รูปแบบเดียวกัน

จากนั้น ในปี 1975 Sony ก็วางตลาดม้วนวิดีโอ และเครื่องเล่น Betamax เป็นครั้งแรก

แต่นั่นไม่ได้หยุด JVC ในการพัฒนา และเปิดตัว VHS ขึ้นมาในฐานะคู่แข่ง เช่นเดียวกับ Video 2000 จาก Philips ในเวลาไม่ห่างกันนัก

การเปิดตัวของฟอร์แมตเหล่านี้ ที่สามารถบันทึกข้อมูลลงสู่ม้วนวิดีโอเทปได้

นำไปสู่ความกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะเป็นต้นเหตุของการละเมิดลิขสิทธิ์ และเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นหลายครั้ง

โดยเฉพาะกรณีระหว่าง Sony Corporation of America กับ Universal City Studios ที่ยืดเยื้อไปจบในศาลฎีกา ด้วยชัยชนะของฝ่ายแรก

..
.
แม้จะเป็นผู้ชนะในชั้นศาลเรื่องคดีละเมิดลิขสิทธิ์

แต่ในการแข่งขันกับฟอร์แมต VHS แล้ว Betamax กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ด้วยเหตุผลสำคัญอย่าง ความสะดวกในการใช้งาน

ว่ากันเฉพาะในเรื่องคุณภาพการบันทึกข้อมูล Betamax นั้นเหนือกว่า แต่กลับมีข้อจำกัดตรงระยะเวลาที่เก็บได้เพียงหนึ่งชั่วโมง

เท่ากับว่าหากจะดูภาพยนตร์หนึ่งเรื่องในระบบ Betamax อาจต้องใช้วิดีโอเทปถึงสองม้วนเป็นอย่างน้อย

เปรียบเทียบกับ VHS ที่แม้จะภาพคมชัดน้อยกว่า แต่สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 2 ชั่วโมงแบบสบายๆ

นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบากว่า และราคาถูกกว่า

..
.
ไม่ว่า Sony จะพยายามเน้นย้ำกับผู้บริโภคถึงเรื่องความคมชัดทั้งภาพและเสียงมากน้อยแค่ไหน

แต่ความสะดวกในการใช้งาน ยังคงเป็นตัวเลือกลำดับแรกที่ผู้บริโภคนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องเล่นวิดีโอ ที่ถือว่ามีราคาแพงและเป็นของฟุ่มเฟือยในยุคนั้น

ที่สำคัญ เมื่อเวลาผ่านไป ความแตกต่างในเรื่องคุณภาพของทั้งสองฟอร์แมตก็เริ่มเหลือน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อ VHS ถูกพัฒนาต่อเนื่องจนสามารถเทียบเคียงกับ Betamax ได้

อีกหนึ่งปัจจัยตัดสิน คือ JVC เลือกที่จะขายไลเซนส์ของ VHS ให้ผู้ผลิตรายอื่นๆนำไปผลิตเครื่องเล่นวิดีโอของตัวเองได้

ผิดกับ Sony ที่ยึดมั่นกับการเก็บสิทธิ์ในการผลิตเครื่อง Betamax ไว้กับตนเอง

..
.
แม้การแข่งขันระหว่างสองฟอร์แมต จะยืดเยื้อมาจนถึงทศวรรษที่ 1980

แต่ Betamax ซึ่งได้รับความนิยมในแถบอเมริกาใต้ และญี่ปุ่นเป็นหลักเท่านั้น ก็ไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดในภาพรวมจาก VHS ซึ่งมาทีหลังได้เลย

กระทั่งในปี 1988 Sony ก็หันมาผลิตเครื่องเล่นวิดีโอในฟอร์แมต VHS ด้วยตัวเอง คล้ายจะเป็นสัญญาณยอมรับในความพ่ายแพ้

ซึ่งก็เป็นจริง เพราะสายการผลิตของ Betamax ก็ถูกยุติลงในสี่ปีถัดมา

แต่หลังสงครามนี้จบลง VHS ก็ครองความยิ่งใหญ่ในตลาดวิดีโอเทปได้อีกไม่นาน

เมื่อรูปแบบของการบันทึกภาพและเสียงเริ่มเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990

และสุดท้าย วิดีโอเทปก็กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกกลืนโดยสิ่งที่ใหม่กว่าในเวลาต่อมาอยู่ดี

..
.
Better be AHEAD
#AHEADASIA
.
เรียบเรียงจาก
.
Betamax vs. VHS: How Sony Lost the Original Home Video Format War
.
Sony finally decides it’s time to kill Betamax
.
The Decline and Fall of Betamax
.
ติดตาม #Breakfast4Brain ได้ทุกเช้าตรู่วันจันทร์ถึงศุกร์ ที่เพจ AHEAD ASIA
.
หากถูกใจอย่าลืมกดแชร์ กดไลค์ คอมเมนท์ แนะนำติชม กดติดดาว หรืออะไรที่สบายใจเพื่อให้กำลังใจทีมงาน AHEAD.ASIA หาเรื่องราวดีๆมาให้คุณรู้ เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

แบงค์กรุงเทพลุยสตาร์ทอัพ เปิดตัว“Bangkok Bank InnoHub” FundRadars Everex สตาร์ทอัพไทยที่เข้ารอบ

Next Article

Friendster: เริ่มก่อนไม่ได้แปลว่าชนะ

Related Posts