แม้ทุกวันนี้ Facebook จะถือเป็น ‘ทุกสิ่ง’ สำหรับโซเชียลมีเดีย
แต่ย้อนกลับไปเมื่อราวสิบปีที่แล้ว (2005-2008) MySpace ต่างหากคือเว็บไซต์เบอร์หนึ่งในสายโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคนภายในหนึ่งเดือน
เฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกรกฎาคมปี 2006 ที่ทำสถิติแซงหน้า Google และ Yahoo! Mail เป็นเว็บไซต์ที่ชาวอเมริกันคลิกเข้าไปใช้งานมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม MySpace กลับไม่สามารถยืนระยะสถานะเบอร์หนึ่งในตลาดนี้ไว้ได้ เมื่อถูกคลื่นลูกหลังอย่าง Facebook แซงหน้าเป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งสำหรับอเมริกันชนจนได้ ในปี 2009 ขณะที่ยอดผู้ใช้งานที่เคยแตะหลักร้อยล้าน ก็ลดลงเหลือเพียง 70 ล้านในปี 2010
ส่วนในปี 2011 บริษัทก็ถูกขายให้กับ Specific Media Group และ Justin Timberlake ป๊อปสตาร์ชาวอเมริกัน ในราคาเพียง 35 ล้านดอลลาร์
ขณะที่มูลค่าในปัจจุบันของ Facebook ซึ่งประมาณการโดย Market Realist นั้นสูงถึง 408.6 พันล้านดอลลาร์
อะไรคือสาเหตุให้ MySpace ที่ครั้งหนึ่งดูยิ่งใหญ่จนไม่น่าจะมีใครโค่นลงได้ พลาดท่าให้กับ Facebook ในสมรภูมิโซเชียลมีเดียครั้งนี้?
บริหารแบบมืออาชีพ vs คิดนอกกรอบ
หลังถูกเทกโอเวอร์โดย News Corp. ของ Rupert Murdoch ด้วยมูลค่าถึง 580 ล้านดอลลาร์ในปี 2005 MySpace ดูจะพร้อมขึ้นครองเป็นเจ้าตลาดตัวจริงในโลกโซเชียล ด้วยความพร้อมในทุกด้าน ทั้งยอดผู้ใช้งาน ความนิยม และการอยู่ในความดูแลของผู้บริหารมืออาชีพ
แต่ในธุรกิจใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะดำเนินไปอย่างไร กลายเป็นว่าการเลือกบริหารงานแบบมืออาชีพ กลับกลายเป็นข้อเสีย
การวางแผนล่วงหน้า และปฏิบัติตามนโยบายแบบธุรกิจทั่วไป ใช้ไม่ได้กับโซเชียล มีเดียที่ประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ
กลับกัน Facebook ยุคแรกที่ไม่ได้บริหารงานโดยซีอีโอมืออาชีพ เลือกที่จะ “ปล่อย” ให้ตลาดเป็นคนตัดสินว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไหทางไหน
เมื่อไม่ถูกจำกัดด้วยนโยบายจากเบื้องบน Facebook จึงสามารถลองผิดลองถูกได้อย่างเต็มที่ โดยยึดผลตอบรับจากผู้ใช้งานเป็นหลัก และกลายเป็นผลดีกับเว็บไซต์
แบนเนอร์ vs โฆษณาแบบไม่ยัดเยียด
MySpace เลือกยึดรูปแบบเดิม คือการใส่แบนเนอร์สำหรับโฆษณาลงไปบนหน้าเว็บไซต์ และเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยอาศัยข้อมูลต่างๆของผู้ใช้บริการ ตั้งแต่โลเคชั่นไปจนถึงภาพยนตร์เรื่องโปรด ฯลฯ
แต่ปัญหาคือไม่ว่า MySpace จะเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ตรงขนาดไหน ผู้ใช้งานก็ไม่กดคลิกไปดูแบนเนอร์เหล่านั้นอยู่ดี เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการ
ข้อมูลที่ผู้ใช้ MySpace ต้องการ คืออยากรู้ว่าเพื่อนๆทำอะไรอยู่ การพยายามยัดเยียดแบนเนอร์ลงไปให้มากที่สุด นอกจากจะไม่เกิดผลใดๆแล้ว ยังทำให้หน้าตาของเว็บไซต์ดูรกด้วย
ตรงกันข้าม Facebook ไม่พยายามจะยัดเยียดโฆษณา แต่ใช้วิธีค่อยๆปรับพฤติกรรมผู้ใช้งาน กระทั่งคนเหล่านั้นพร้อมที่จะแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้ และไม่รู้สึกว่าโฆษณาที่ผ่านสายตานั้นเป็นการยัดเยียด
อดีตซีอีโอ MySpace: “Facebook ทำให้โลกโซเชียลสมบูรณ์แบบ”
CREDIT: business insider
Mike Jones อดีตซีอีโอของ MySpace ยอมรับว่าสิ่งที่บริษัทตนทำ คือการนำโซเชียล มีเดียมาเผยแพร่สู่คนทั่วไป แต่ Facebook ต่างหากที่ทำให้สิ่งนี้ “สมบูรณ์แบบ”
Jones มองว่า MySpace ทำให้ผู้ใช้รู้สึก “ไม่สนุก” ด้วยการบังคับให้ใช้ชื่อปลอม เพื่อปิดบังตัวตนระหว่างใช้งาน เพราะมองว่าเป็น “ความเสี่ยง” และ “เรื่องละเอียดอ่อน”
ผิดกับ Facebook ที่กระตุ้นให้คนใช้ชื่อจริงมากกว่า และเมื่อผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับแนวทางนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่ MySpace จะปรับเปลี่ยนให้ทันได้ เมื่ออีกฝ่ายแซงหน้าไปแล้วในเรื่องประสบการณ์ใช้งาน
อดีตประธาน Facebook: “MySpace คิดมากเกินไป”
CREDIT: showbiz411
Sean Parker ผู้ร่วมก่อตั้ง Napster และอดีตประธาน Facebook มองว่าความผิดพลาดใหญ่ของ MySpace คือการไตร่ตรองทุกกลยุทธ์มากเกินไป แทนที่จะลงมือทำ หรือแม้แต่ก็อปปี้ฟีเจอร์ดีๆของ Facebook ไปใช้ ทั้งที่มีความพร้อมเหนือกว่าฝ่ายตนในแทบทุกเรื่อง
“อันที่จริง พวกเขามีโอกาสหลายครั้งเลยที่จะก๊อปปี้เรา เพื่อให้ทันกัน และถ้าพวกเขาลงมือทำจริงๆ มันก็จะได้เปรียบมาก เพราะพวกเขาเป็นยักษ์ใหญ่ มีเครือข่ายที่กว้างขวางกว่าเรามาก”
เรียบเรียงจาก
FORMER MYSPACE CEO EXPLAINS WHY MYSPACE LOST OUT TO FACEBOOK SO BADLY
Former MySpace CEO explains why Facebook was able to dominate social media despite coming second
Sean Parker On Why Myspace Lost To Facebook
How Facebook learned from MySpace’s mistakes
หากมีข้อแนะนำ สามารถคอมเมนท์ได้ในเพจ AHEAD.ASIA และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน