Crisis Management ของ 500 Startups และความเห็นของคนในวงการ

นับเป็นมรสุมครั้งใหญ่สำหรับ 500 StartUps สำหรับกรณีอื้อฉาวของ Dave McClure ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และโน้มเอียงไปทางการล่วงละเมิดทางเพศผู้สมัครงาน

กระทั่งถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่งซีอีโอ ภายหลังเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยโดยสื่อใหญ่อย่าง The New York Times

แม้แต่ Christine Tsai อีกหนึ่งหุ้นส่วนของ 500 StartUps ที่เข้ามารับช่วงจาก McClure ยังยอมรับว่าพฤติกรรมของอดีตซีอีโอรายนี้ เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ (unacceptable) และไม่ได้สะท้อนถึงวัฒนธรรมกับคุณค่าขององค์กร (culture and values) แต่อย่างใด

พร้อมขออภัยสำหรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แม้รู้ดีว่ามันอาจยังไม่เพียงพอที่จะช่วยฉุดภาพลักษณ์องค์กรขึ้นได้

Tsai อธิบายว่าการตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งซีอีโอครั้งนี้ เป็นเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน 500 StartUps ครั้งใหญ่ โดยจะเข้ามาดูแลทิศทางของทีมบริหาร รวมถึงการดำเนินงานทั่วไปทั้งหมด

ขณะที่บทบาทในองค์กรของ McClure ซึ่งตกลงเข้ารับการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว จะถูกจำกัดไว้ในฐานะหุ้นส่วนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเชิงลบจากนักลงทุน

Tsai ยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความหนักใจให้เธอมาก เพราะนั่นหมายถึงผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรขึ้นมา ต้องก้าวลงจากหน้าที่บริหาร แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ 500 StartUps สามารถเติบโตได้ต่อไปอย่างมั่นคงและแข็งแรง

ขณะเดียวกัน Tsai ก็ยอมรับผิดว่าเธอและองค์กรนั้นมีส่วนต้องรับผิดชอบในเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย เพราะหากเธอหรือคนอื่นๆตัดสินใจแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้เร็วกว่านี้ ปัญหานี้ก็อาจไม่เกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ เธอยังยกประโยคที่มักหยิบยกขึ้นมาใช้เสมอ เมื่อมีใครต้องการคำแนะนำจากเธอ นั่นคือ

‘จงสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ตัวคุณอยากให้เกิดในโลกใบนี้’

“Be the change you wish to see in the world.”

ความเปลี่ยนแปลงที่ Tsai ต้องการให้เกิดขึ้น คือทุกคนในวงการสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นใครเพศไหน หรือมีพื้นฐานอย่างไร ควรรู้สึกเป็นที่ยอมรับและไม่ถูกคุกคาม ทั้งจากการล่วงละเมิดทางเพศหรือการแบ่งแยก เพื่อให้ทุกคนสามารถดึงศักยภาพส่วนที่ดีที่สุดออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

Tsai ยืนยันว่าทั้งเธอ และ 500 StartUps จะยังคงเดินหน้าต่อในการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แม้รู้ดีว่ายังมีงานหนักอีกมากรออยู่ก็ตาม

 

CREDIT: Krating Poonpol

ด้าน คุณเรืองโรจน์ พูนผล จาก 500 TukTuks ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 500 Startups ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Krating Poonpol แสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้เช่นกัน

พวกเรา (ผม, คุณหมู และ คุณมะเหมี่ยว) ในฐานะที่พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของ”ครอบครัว 500 Startups” จึงอยากออกมาแสดงความเสียใจและแสดงความรับผิดชอบร่วมกันกับกองทุน 500 Startups Global ด้วยครับ และคุณมะเหมี่ยว Pahrada Mameaw Sapprasert ในฐานะที่เป็นผู้หญิงและในฐานะที่เป็น 500 Startups employee ได้ให้ความเห็นส่วนตัวว่าที่ผ่านมาทุกคนใน 500 Startups ให้เกียรติกันและกันเสมอรวมถึงคุณ Dave ด้วย ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราทุกคนเสียใจและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

การเปลี่ยนโครงสร้างของ 500 Startups ครั้งนี้ย่อมมีผลกระทบต่อกองทุน 500 TukTuks ในฐานะกองทุนลูก และผู้ใช้ platform การลงทุนและบริหารจัดการของ 500 Startups แต่เนื่องจากโดยการออกแบบตั้งแต่ต้น (by design) โครงสร้าง microfund ทุกๆกองของ 500 รวมทั้ง 500 TukTuks นั้นมี day-to-day operation และการบริหารจัดการและการวางยุทธศาสตร์การลงทุนที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากกองทุนแม่ ดังนั้นผลกระทบที่มีต่อ 500 TukTuks ในแง่การดำเนินการและยุทธศาสตร์การลงทุนนั้นจึงมีน้อยมาก

โดยส่วนตัวแล้วสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนี้นั้นมันเร็วมากๆเพราะพึ่งเห็นข่าวหลังจากลงจากสนามบินและทำให้ผมค่อนข้างช็อกมากๆแต่เราเชื่อว่าการตัดสินใจที่เป็น tough choice มากๆครั้งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและและเป็นการยืนยันถึงจุดยืนของ 500 ที่ตั้งใจจะเป็นกองทุน VC และ Ecosystem Building Platform ระดับโลกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ว่า เชื้อชาติ,ศาสนา, สีผิว, อายุ, เพศ ใดๆก็ตามสามารถสร้างธุรกิจ startups ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากขึ้นมาได้อย่างแท้จริงและเราเชื่อว่ากองทุน 500 จะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจากบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนี้อย่างแน่นอนครับ

โดยล่าสุด AHEAD.ASIA ได้ติดต่อขอความเห็น ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการสตาร์ทอัพ และ Crisis Management ได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้ดังนี้

 

CREDIT: Medium


คุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ผู้ก่อตั้งบริษัท RGB72 และ ผู้จัดงาน Creative Talk หนึ่งใน Mentor คนสำคัญของวงการสตาร์ทอัพไทยให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการเรื่องนี้ว่า

“ผมมองว่าการที่ Dave McClure ออกจากการเป็น CEO คือสิ่งที่จำเป็นและถูกต้อง ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างกล้าหาญ  ส่วนคำถามที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของบรรดาสตาร์ทอัพต่อองค์กรอย่าง  500 Startups หรือไม่นั้น ผมคิดว่า ไม่ เพราะนี่เป็นเรื่องส่วนบุคคล”

“ยิ่งเมื่อเห็นการเข้ามาจัดการกับ Crisis ของทาง 500 Startups ที่ชัดเจน เด็ดขาด และตรงไปตรงมา ของทั้งฝั่งไทย ( 500 Tuk Tuk ) และ ฝั่งต่างชาติ ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า 500 Startups มีระบบการจัดการที่ดี และมีความเป็นมืออาชีพสูง”

 

ขณะที่คุณอู๋ กิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด บริษัทรับจัดการเกี่ยวกับ Social Analysis และดูแลเรื่อง Crisis Menagement โดยตรง มองว่า

“เรื่องแรกประเด็นความถูกต้องสิ่งที่ Dave McClure ทำ ไม่ถูกต้อง ไม่ควรจะเกิดขึ้นในทุกๆวงการ และทุกๆอุตสาหกรรม”

“แต่เรื่องการแถลงการณ์ และจัดการเรื่องนี้ของ 500 Startups นั้นผมมองว่าทำได้อย่างรวดเร็วและถูกจุด โดยเฉพาะในการจัดการกรณีวิกฤติผ่านทาง Christine Tsai ซีอีโอคนใหม่”

“เพราะตามประสบการณ์ของผมนั้น เรื่องแรกที่จะต้องทำเมื่อเกิดกรณีวิกฤติคือ เลือกประเด็น และ คนที่จะพูดให้ถูกต้อง ( State the right issue and right spokesperson ) ซึ่งเมื่อคนทำผิดเป็นถึงอดีตซีอีโอ ก็คงไม่มีบุคคลไหนที่จะเหมาะกว่า Christine Tsai ที่เป็น Co-CEO / Managing Partner”

“และทำได้อย่างดีเมื่อออกมาพูดถึงปัญหาตรงๆโดยที่ไม่มีการบิดเบือนสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับเน้นประเด็นในการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่วัฒนธรรม หรือสิ่งที่ 500 Startups สนับสนุน”

ส่วนการแถลงการณ์ไปในทางเดียวกันกับ Christine Tsai ของคุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล แห่ง 500 Tuk Tuk คุณกิตติพงศ์มองว่า

“คุณกระทิง” ที่เกี่ยวข้องในฐานะกองทุนลูกของ 500 Startups ก็ออกมาพูดถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นจุดยืนเดียวกันกับ Christine Tsai พร้อมทั้งแสดงความเสียใจและรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าคนในองค์กรได้รับข่าวสารและมีความเข้าใจปัญหาอย่างครบถ้วนถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแสดงว่าทุกคนองค์กรทราบและต้องการที่จะแก้ปัญหาเดียวกัน”

“เพราะในความเป็นจริงนั้น ทุกคนในองค์กรล้วนแต่มีความสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงให้กับแบรนด์ครับ”

 

หากมีข้อแนะนำ สามารถคอมเมนท์ได้ในเพจ AHEAD.ASIA และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Henry Ford

เฮนรี ฟอร์ด ผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยสายพาน

Next Article

Kodak: ความพ่ายแพ้ของผู้บุกเบิก

Related Posts