สตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะสายฟินเทคหรือสายใดๆก็ตาม ต้องเข้าใจในกระแสความเป็นไปของโลก เพื่อปรับตัวให้เท่ากัน นั่นคือความท้าทายที่รออยู่ ในมุมมองของ คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย
คุณกรณ์ ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งในฐานะ entrepreneur จากการตั้งบริษัทของตัวเอง หลังเดินทางกลับจากอังกฤษ และงานบริหารในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง มองว่าฟินเทคเป็นเทคโนโลยี ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
หนุนฟินเทคไทยสู่นานาชาติ
ในฐานะประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย คุณกรณ์ ได้ยกวิสัยทัศน์ 4 เรื่องที่เป็นเป้าหมายหลักในการทำงานไว้ดังนี้
- ผลักดันให้คนไทยเข้าถึงบริการในระบบที่เป็นธรรมและโปร่งใส
- ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทุกประเภท เนื่องจากอุตสาหกรรมการเงินเป็นกลุ่มที่ส่วนต่างกำไรสูงสุดในบรรดาธุรกิจทั้งหมด
- ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน เพื่อให้เกิดการพัฒนา
- และสุดท้ายคือ ส่งเสริมให้ฟินเทคไทยแข่งขันในต่างประเทศได้
เข้าใจและปรับตัวตามโลก
การที่สตาร์ทอัพของไทย ทั้งในสายฟินเทคและสายอื่นๆ จะเติบโตต่อไปได้ คุณกรณ์ก็แนะนำว่าจำเป็นจะต้องเข้าใจและปรับตัวให้ทันปัจจัยเหล่านี้ด้วย
- กระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะ Disruptive Technologies ที่พลิกโฉมให้โลกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยดีหรือเหมาะสมเมื่อหลายปีก่อน อาจกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว
- วัฒนธรรมการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยยกตัวอย่างการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ที่กลายมาเป็นแนวโน้มใหม่ของโลก อาทิ airbnb/Uber/Co-working space
- การ Urbanization ที่เกษตรกรจำนวนมากย้ายมาอยู่ในเมือง เพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า และเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พฤติกรรมในการบริโภคของคนเหล่านี้ ก็จะเปลี่ยนไปด้วย เห็นได้จากสังคมจีนที่ประชากรมีกำลังซื้อมากขึ้น และกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในฐานะนักท่องเที่ยว
- สังคมสูงอายุ (Ageing Society) ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่ประชากรในวัยทำงานจะลดลง ซึ่งจะส่งผลให้รัฐต้องแบกรับภาระดูแลคนมากขึ้นโดยปริยาย ทางออกที่จำเป็นก็คือ ต้องเปิดรับแรงงานต่างประเทศมากขึ้น พร้อมพัฒนาประชากรในวัยทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
รวมตัวเพื่อแข่งขัน
ขณะเดียวกัน คุณกรณ์ ก็ฝากคำเตือนถึงบรรดาสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหลาย หรือแม้แต่ภาครัฐไว้ด้วย ว่ายังมีความจำเป็นต้องสร้างคอมมูนิตี้ให้แข็งแรง
เพราะไม่แน่ว่าวันหนึ่ง กลุ่มทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่มีความพร้อมกว่าในทุกด้าน เช่น Alibaba อาจตัดสินใจเดินหน้าเต็มตัวในประเทศที่เล็กกว่า และเมื่อถึงวันนั้น หากทุกฝ่ายที่กล่าวมาไม่มีความแข็งแรงมากเพียงพอ ก็อาจมีบทสรุปด้วยการถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งไปก็ได้
และนั่นคือส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ ที่ทั้ง 10 ทีม ที่เข้าร่วมในโครงการ Krungsri RISE Batch 2 รอบสุดท้าย ได้แก่ SetRobot, Baania, AIYA, Horganize, BigStone, QueQ, ReFinn, ZipEvent, Jabjai for school และ Carpool ได้รับในการร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ ในหัวข้อ The Challenges for Fintech Startup ณ RISE Academy เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา
และภายหลังเปิดตัวรุ่นสองไปอย่างยิ่งใหญ่แล้ว คุณแซม ตันสกุล ในฐานะ MD ของ Krungsri Finnovate ที่มาร่วมกล่าวเปิดงานในวันนี้ ก็เปรยว่าในเร็วๆนี้ จะมีข่าวดีสำหรับ Krungsri RISE รุ่นแรกอีกด้วย ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีอะไรดีๆเกิดขึ้น