5 สุดยอดการพิทช์ ในวงการสตาร์ทอัพ

ในโลกของสตาร์ทอัพ การหาทุนนั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการคิดไอเดียอะไรใหม่ๆขึ้นมาได้ เพราะนั่นคือขั้นตอนสู่การทำให้ความคิดเหล่านั้นเป็นความจริงขึ้นมา

ฉะนั้น การพิทช์ เพื่อขอทุนจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่เหล่าสตาร์ทอัพต้องมี ไม่ว่าคุณจะต้องการเงินทุนหลักหมื่นหรือหลักล้านก็ตาม

และนี่คือการพิทช์งานของสตาร์ทอัพ 5 ราย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการว่ามีประสิทธิภาพ จนเป็นจุดเริ่มของการเติบโตในลำดับต่อไป

#5
Klash

โดย: อเล็กซ์ เนปชนิก
ปี: 2012

Klash คือแอพพลิเคชั่น สำหรับท้าทายเพื่อนในการ ‘ปล่อยของ’ สารพัดรูปแบบ

ตั้งแต่ การเปลือยในรายการโทรทัศน์ ไปจนถึงเลิกสูบบุหรี่ ฯลฯ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย อเลสซานโดร เปตรุชชานี และ อเล็กซ์ เนปชนิก

การพิทช์ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อขอทุนจาก เจสัน คาลาคานิส ในฐานะ angel investor โดย เนปชนิก ลงทุนปรากฎตัวในชุดว่ายน้ำ ‘แมนกินี’ ตามคำท้าของเพื่อนๆ ซึ่งตอบโจทย์บุคลิกของแอพนี้ 100%

พร้อมย้ำว่าแอพนี้ จะช่วยแก้ไข pain point ที่เป็นปัญหาใหญ่ในโลกใบนี้คือการมีเรื่องสนุกๆน้อยเกินไปได้

หน้าตาขึงขังของ เนปชนิก ที่คอนทราสต์กับชุดว่ายน้ำหลุดโลกแบบสุดๆ สร้างความประทับใจให้กับ คาลาคานิส จน Klash ได้เงินทุนไปใช้พัฒนาแอพต่อในที่สุด

#4
Loopt

โดย: แซม อัลท์แมน
ปี: 2008

Loopt คือแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และถูกซื้อกิจการไปโดย Green Dot Corporation ในราคา 43 ล้านดอลลาร์

แต่ก่อนนั้น Loopt ก็สามารถระดมทุนได้ถึง 32 ล้านดอลลาร์ จาก Y Combinator, New Enterprise Associates และ Sequoia Capital จากการพิทช์ที่ตรงประเด็น และทรงพลังของ อัลท์แมน ในงาน Apple Worldwide Developers Conference 2008 

อัลท์แมน เริ่มต้นสั้นๆด้วยการกล่าวถึงตัวผลิตภัณฑ์ ก่อนจะหยิบ pain point ขึ้นมาระบุว่าบ่อยครั้งที่เราอาจจะนั่งอยู่ในร้านใดร้านหนึ่ง โดยไม่รู้ว่ามีเพื่อนอีกคนอยู่ใกล้ๆและตามมาสมทบได้

ก่อนวกกลับมาที่ตัวแอพ เพื่อโชว์ว่า Loopt สามารถแก้ปัญหานี้ ด้วยการระบุตำแหน่งของเพื่อนหรือคนรู้จักได้ หากคนเหล่านั้นอยู่ในละแวกใกล้เคียง

แม้จะไม่มีความพยายามโน้มน้าวบรรดา VC แต่การพูดที่สั้นกระชับ แม่นยำ และตรงประเด็น ก็มากพอแล้วที่จะทำให้ Loopt เป็นที่สนใจของนักลงทุน

ถ้าใครดูการพิทช์ครั้งนี้จบแล้ว รู้สึกว่าหน้าของคนบนเวทีคุ้นๆแล้วละก็ ไม่ต้องแปลกใจ เพราะ อัลท์แมน ในคลิปนี้ ก็คือคนเดียวกับที่ดำรงตำแหน่งประธานคนปัจจุบันของ Y Combinator และ OpenAI นั่นเอง

#3
ZocDoc

โดย: ไซรัส มาสซูมี
ปี: 2007

ZocDoc คือบริการค้นหา เพื่อนัดหมายแพทย์ได้ทันทีตามต้องการ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อเดือน และได้รับเงินลงทุนราว 95 ล้านดอลลาร์ จาก Khosla Ventures, SV Angel และ เจฟฟ์ เบโซส แห่ง Amazon และมีมูลค่าราวๆ 750 ล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน

ความสำเร็จนี้ มาจากการพิทช์ที่ทรงประสิทธิภาพของ มาสซูมี ในงาน TechCrunch 40 ที่เริ่มต้นด้วยการเกริ่นถึงอาการป่วยเป็นไซนัสที่เขามี ระหว่างขึ้นเครื่องเดินทางจากซีแอทเทิลไปนิวยอร์คแบบติดตลกเล็กๆ ว่ามันเจ็บเหมือนโดน ไมค์ ไทสัน กัดหู

แต่เมื่อพยายามค้นหาในเว็บไซต์บริษัทประกัน เพื่อนัดแพทย์สำหรับทำการรักษา กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ทั้งเรื่องข้อมูลที่ผิด รายละเอียดด้านความถนัดของแพทย์ ฯลฯ จนต้องใช้เวลาถึงสี่วัน กว่าจะนัดได้

ก่อนตบเข้าประเด็นสำคัญ ว่า ZocDoc คือตัวเลือกที่ใช่ในการแก้ painpoint ที่เล่ามาทั้งหมด – ในทันที

#2
SendGrid

โดย: ไอซาเช ซัลดานา
ปี: 2009

SendGrid เป็นบริการอีเมลแบบคลาวด์-เบส สำหรับส่งอีเมลด้านธุรกรรมโดยเฉพาะ

ในการพิทช์งานครั้งนี้ ซัลดานา เกริ่นตั้งแต่ต้นว่าปัจจุบัน เขามีอีเมลเรื่องการชำระเงินจากลูกค้าหลายร้อยราย ซึ่งทำให้สิ่งที่เขาจะพูดต่อ ดูมีน้ำหนักมากขึ้น และดึงความสนใจจากผู้ฟังได้ดี

จากนั้น เขาถึงยกข้อมูลว่า 20% ของอีเมลที่มีการส่งออกไปนั้น ไปไม่ถึงผู้รับ พร้อมยกสถิติที่ผ่านการคำนวณแล้วขึ้นมาเปรียบเทียบว่าอีเมลเพียงแค่ 1% ที่ส่งไปไม่ถึงลูกค้า จะทำให้ eBay สูญเสียรายรับไปถึง 14 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ก่อนวนกลับมาย้ำว่าลูกค้าที่บริษัทมีอยู่แล้วในมือ เป็นทรัพย์สินที่มีค่าแก่การให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และบริการของ SendGrid จะช่วยให้ทรัพย์สินที่ว่ายังอยู่กับบริษัทต่อไป

ความน่าเชื่อถือในการพูดของ ซัลดานา ทำให้เขาได้รับทุนไปกว่า 27.4 ล้านดอลลาร์ จาก Foundry Group, เดวิด โคเฮน, เจฟฟ์ คลาเวียร์, SoftTech VC และ 500 Startups

และนับแต่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการ SendGrid ในการส่งอีเมลถึงลูกค้ามากกว่า 30,000 ล้านฉบับ โดยมีคู่ค้าสำคัญอย่าง Pinterest, Foursquare, Spotify และ Hootsuite

เดวิด โคเฮน จาก TechStars ได้วิเคราะห์เทคนิคการพิทช์ของ ซัลดานา ไว้ในคลิปนี้ ตั้งแต่นาทีที่ 14:55 เป็นต้นไป

Lifesaver

โดย: ไมเคิล พริทเชิร์ด
ปี: 2009

Lifesaver คือเครื่องกรองน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค สำหรับใช้ในบริเวณที่หาแหล่งน้ำสะอาดได้ยาก

พริทเชิร์ด เริ่มต้นการพิทช์โดยพูดถึงน้ำดื่มที่แจกให้ผู้เข้าฟังดื่มระหว่างงาน TED 2009

ก่อนตรงเข้าประเด็นทันทีว่าน้ำที่คนเหล่านั้นดื่มไป มาจากแหล่งน้ำสกปรกที่อาจก่อให้เกิดโรคท้องร่วงได้ เพื่อย้ำว่าระหว่างที่ทุกคนกำลังฟังสิ่งที่เขาเล่า ประชากรบางส่วนของโลกกำลังประสบปัญหาเดียวกันนี้

จากนั้นจึงนำเสนออุปกรณ์ดังกล่าว ว่าสามารถช่วยแก้ไข pain point ตรงนี้ได้ เพราะน้ำที่ทุกคนดื่มไปนั้น ก็ผ่านการกรองโดย Lifesaver มานั่นเอง

ปัจจุบัน Lifesaver มีส่วนในการช่วยให้ประชากรโลกหลายแสนคนในพื้นที่ทุรกันดารทั่วโลก ได้มีน้ำสะอาดสำหรับใช้อุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี

เรียบเรียงจาก

The Art of Startup Fundraising 

Here Are The Best Startup Pitches We’ve Ever Seen 

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

เมื่อ SoundCloud กำลังจะหายไป

Next Article

Napster vs Metallica

Related Posts