ธนาคารกสิกรไทย พลิกโฉมธุรกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ เป็นรายแรกของโลก เพื่อลดต้นทุน เวลา และเพิ่มความปลอดภัย พร้อมตั้งเป้าขยับอัตราส่วนให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35% สิ้นปีหน้า
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เผยว่าทางธนาคารเล็งเห็นถึงประโยชน์ของบล็อกเชน ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม ในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเอกสาร จึงได้จับมือ ไอบีเอ็ม สร้างระบบต้นแบบใช้รับรองเอกสารต้นฉบับด้วยเทคโนโลยีนี้ พร้อมทำการทดสอบบน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย
พร้อมกันนี้ ยังได้จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล และบจก. พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง ร่วมพัฒนา บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain) เพื่อยกระดับการจัดการเอกสารหนังสือค้ำประกันแก่หน่วยงานผู้รับหนังสือค้ำประกัน และคู่ค้าผู้วางหนังสือค้ำประกัน ตลอดกระบวนการ ด้วยคุณสมบัติสำคัญ 3 ข้อคือ มีความน่าเชื่อถือ ติดตามตรวจสอบได้ / ปลอมแปลงได้ยาก / รวดเร็ว
ในปี 2560 คาดว่าประเทศไทยจะมีการออกหนังสือค้ำประกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 1.35 ล้านล้านบาท
ในจำนวนนี้ประมาณ 25% เป็นหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารกสิกรไทย ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการใช้บริการผ่านสาขา 80% และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 20%
โดยธนาคารตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปี 2561 จะเพิ่มสัดส่วนการใช้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35% ในจำนวนนี้เป็นการใช้ผ่านบล็อกเชน 5%
นายพิพิธ เสริมว่านี่จะเป็นการพัฒนาให้เป็นมาตรฐานใหม่ที่เป็นสากล เพราะทุกภาคส่วนสามารถเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ร่วมกัน ลดปริมาณการใช้กระดาษ และเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งการบริหารจัดการ และการแข่งขันของประเทศไทย