ดร. สารินทร์ ภูมิรัตน กับ EPIBONE สตาร์ทอัพไทยในเวทีโลก

ในโลกที่กำลังถูก disrupt ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้หลายสิ่งที่เราเคยรับรู้ว่ามีแต่ในภาพยนต์ไซไฟ เริ่มเขยิบใกล้ความเป็นจริงเรื่อยๆ

รถยนต์ไร้คนขับ โดรนโดยสาร หรือปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ ฯลฯ

และในอนาคตอันใกล้ หากคุณกระดูกหัก การรักษาก็อาจไม่ต้องดามเหล็กหรือวัสดุอื่น แต่อาจเปลี่ยนใส่กระดูกชิ้นใหม่ที่ปลูกขึ้นจากเซลล์ของคุณเอง ด้วยเทคโนโลยีจาก EPIBONE บริษัทปลูกกระดูกจากสเต็มเซลล์รายแรกของโลก

และความน่าทึ่งที่เหมือนหลุดมาจากนิยายวิทยาศาสตร์นี้ เป็นผลงานของคนไทย

‘อิ๊ก’ ดร. สารินทร์ ภูมิรัตน ในฐานะ CO-FOUNDER และ CSO (CHIEF SCIENTIFIC OFFICER) ของบริษัท

ความน่าสนใจของ EPIBONE นั้น การันตีด้วยรางวัล Pioneer Award สาขา Life Sciences and Health จาก World Economic Forum ที่เมือง Davos และยังได้รับความสนใจจากสื่อชั้นนำ อย่าง CNN, BBC, Forbes, New York Times, Huffington Post และ Bloomberg

แต่สิ่งสำคัญกว่าสำหรับ ‘ดร.อิ๊ก’ คือความคาดหวังส่วนตัวว่าในอนาคต สตาร์ทอัพรายนี้ จะมีส่วนเปลี่ยนประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ของโลกไปตลอดกาล

 

มากกว่าคำว่าเท่

CREDIT: Epibone

หลังจากย้ายมาศึกษาระดับ ม.ปลาย ที่สหรัฐ ‘ดร.อิ๊ก’ ได้เข้าศึกษาในระดับ ป.ตรี สาขา Biomedical/Medical Engineering และ Economic ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น และต่อโทที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสาขา Biomedical/Medical Engineering

และทำปริญญาเอกที่มหาวิยาลัยโคลอมเบียสาขา Biomedical Engineering

“ผมเลือกเรียนสาขานี้เพราะชื่อมันดูเท่ดี”

แต่เมื่อสิ่งที่เรียนโฟกัสแคบเข้าเรื่อยๆ ‘ดร.อิ๊ก’ ก็พบว่างานวิจัยที่ทำ มีสัญญานว่าจะนำไปสู่อะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ จนนำไปสู่การจับคู่กับเพื่อนร่วมห้องทดลอง Nina Tandon ดอกเตอร์ด้าน Stem Cells & Tissue Engineering

ทั้งคู่ตกลงว่า Nina จะเป็น CEO และ Co-Founder ดูภาพรวมและธุรกิจ ส่วน ‘ดร.อิ๊ก’ รับตำแหน่ง CSO (CHIEF SCIENTIFIC OFFICER) และ CO-FOUNDER เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสร้างกระดูกจากสเต็มเซลล์ให้สำเร็จ

ถัดมา สิ่งที่ ‘ดร.อิ๊ก’ ต้องเรียนรู้นอกห้องแล็บ คือเรื่องจำเป็นสำหรับการก่อตั้งบริษัท

 

รู้ว่า ‘ไม่รู้’

CREDIT: Epibone

‘ดร.อิ๊ก’ และ Nina ตัดสินใจเข้าเรียนคอร์ส Innovation Entrepreneurship ที่มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ตามคำแนะนำของ กอร์ดาน่า วุนยัค โนวาโควิช โปรเฟสเซอร์ที่ ‘ดร.อิ๊ก’ เรียนปริญญาเอกด้วย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง EPIBONE ในตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์

และเป็นที่นี่เองที่สอนให้ ‘ดร.อิ๊ก’ ได้เรียนรู้อีกโลกหนึ่ง ซึ่งไม่เคยสัมผัสมาก่อน

“ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นเด็กเนิร์ดมาตลอด พอมาได้ออกจากแลบมาเรียนรู้โลกธุรกิจมันก็สนุกดี”

เพราะคอร์ส Innovation Entrepreneurship คือบทพิสูจน์ความตั้งใจของทั้งคู่ในการเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะสตาร์ทอัพ และบททดสอบแรกคือการต้องออกจากห้องแล็บไปพูดคุยกับคนในวงการ ไม่ว่าจะเป็น หมอผ่าตัด คนไข้ คนขายอุปกรณ์การแพทย์ หรือ นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 20 คน เพื่อหาข้อมูลว่าโปรดักต์ของ EPIBONE น่าสนใจมากน้อยแค่ไหน

บททดสอบนี้ ไม่เพียงทำให้ ‘ดร.อิ๊ก’ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่หาไม่ได้จากในห้องแล็บ ยังเป็นการฝึกรับมือกับ Criticism Feedback ด้วย

“การเรียนที่นี่ สอนให้ผมรู้ว่า….ผมไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก” ‘ดร.อิ๊ก’ อธิบาย “ผมไม่เคยรู้มาก่อน ว่าการตั้งบริษัทมันมีเรื่องมากมายขนาดนี้ แม้แต่จะทำงบซักอันนึง ยังต้องทำ Excel ซะยาวเหยียด”

“ผมก็ค่อยๆเรียนรู้เรื่องเหล่านี้มาเรื่อยๆ มาตลอด จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังเรียนรู้อยู่” 

 

บทเรียนจากชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก

อีกหนึ่งบทเรียนนอกห้องของ ‘ดร.อิ๊ก’ เกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน เมื่อมีคนจาก บริษัท “bgC3” ติดต่อเข้ามาทาง Linkedin ว่า Mr.Gates สนใจโปรเจกต์ และอยากพูดคุยด้วย

Mr.Gates ที่ว่า ก็คือ Bill Gates ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft นั่นเอง

แม้การพูดคุยในครั้งนี้ จะเป็นแค่ study session ของ Gates เท่านั้น โดยไม่มีเรื่องการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นั่นก็เป็นบทเรียนให้ ‘ดร.อิ๊ก’ รู้สึกประทับใจมาก เพราะแม้แต่คนที่รวยและประสบความสำเร็จที่สุดในโลกอย่าง Gates ยังไม่คิดจะหยุดเรียนรู้

แล้วคนตัวเล็กๆที่ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเขา จะหยุดเรียนรู้และคิดว่าตัวเองเจ๋งได้อย่างไร

 

ฟักตัวกับ Breakoutlab

CREDIT: Epibone

ความยากของการทำ “Biotech Startup” นั้น อาจต้องใช้เวลานานเป็น 10-20 ปี กว่าจะเห็นผล เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ จึงต้องมีการทดลองในคนถึง 3 ครั้ง กว่าจะได้รับการรับรอง

ยิ่งเรื่่องที่ EPIBONE กำลังทำนั้น ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกในการหาทุน โดยเฉพาะจากนักลงทุนที่มองหาผลกำไรเป็นหลัก

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทีมงาน และความน่าสนใจของตัวโปรดักต์ ทำให้สุดท้าย EPIBONE ก็ได้รับเงินสนับสนุนจาก “BreakoutLab” กองทุนที่ก่อตั้งขึ้นโดย Peter Thiel ผู้ก่อตั้งบริษัท PayPal ร่วมกับ Elon Musk

ไม่ใช่เพียงแค่เงิน แต่ BreakoutLab ยังช่วยให้ EPIBONE ได้มีโอกาสเข้าคอมมูนิตี้ของ Biotech Startup เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูล เรียนรู้ และ เติบโตไปกับกลุ่มคนในสายงานที่คล้ายกัน

การเรียนลัดจากคนที่กำลังทำ หรือเคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงสำคัญมาก

นอกจากเรื่องคอมมูนิตี้แล้ว การจ้างคนเข้ามาทำงานด้วยก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่สตาร์ทอัพ คนยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

 

ความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนโลก

ปัจจุบัน การทดลองสร้างกระดูกจากสเต็มเซลล์ ของ EPIBONE นั้นสามารถทดลองในหมูได้เกือบจะสำเร็จแล้ว

แต่ ‘ดร.อิ๊ก’ ยอมรับว่ายังห่างจากคำว่าประสบความสำเร็จอีกไกล เพราะหลังทดลองในสัตว์สำเร็จ ก็ยังเหลือขั้นตอนขอเริ่มทดลองในคน ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยๆ 7-8 ปี กว่าจะเป็นสินค้าที่ใช้ในคนได้

“ถ้าผมทำไม่สำเร็จขึ้นมา ทุกอย่างจบ กลับไปเป็นศูนย์ นั่นคือความเสี่ยงที่คนทำสตาร์ทอัพทุกคนต้องรับให้ได้” 

“แต่ในเมื่อผมเสี่ยงมาขนาดนี้แล้ว ก็ต้องเสี่ยงกันต่อ และหนทางข้างหน้าผมยังอีกยาวไกล อีกหลายก้าว และ เป็นก้าวใหญ่ๆทั้งนั้น”

ขณะเดียวกัน ก็เป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้หลายคนสงสัย เพราะในความเป็นจริง ‘ดร.อิ๊ก’ สามารถเลือกใช้ชีวิตแบบธรรมดา เป็นที่ปรึกษาบริษัท หรือทำงานในห้องแล็บก็ได้

แต่คำตอบที่ได้จากเจ้าตัวคืออยากให้ EPIBONE เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้นได้ ตัวเขาเองก็สนุกกับมัน ทุกเช้าที่ตื่นขึัน เขาจะตรงไปที่ห้องแล็บติดตามความก้าวหน้าของชิ้นงาน

และความกระหายที่จะเดินหน้าต่อนี้เอง ก็คือคุณสมบัติของสตาร์ทอัพที่ต้องการไปให้ถึงจุดหมาย

และจุดหมายของ ‘ดร.อิ๊ก’ และ EPIBONE ก็อาจเปลี่ยนแปลงการแพทย์ของโลกใบนี้ได้ ถ้าเขาทำมันสำเร็จ

 

สามารถติดตามรายละเอียดของ EPIBONE ได้ที่ epibone.com 

นอกจากนี้ ใครที่สนใจจะฟังประสบการณ์จากปากของ  ‘ดร.อิ๊ก’ ก็สามารถติดตามได้ในงาน TEDxBangkok 2017 ‘little things mingle’ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น7 สยามสแควร์วัน ในเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 8.00 – 18.00 น. โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook TEDxBangkok ทั้งเสียงภาษาไทยและอังกฤษ

 

สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

 

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
เจฟฟ์ เบโซส

ห้องทดลองของ เจฟฟ์ เบโซส

Next Article

เมื่อ Amazon รุกคืบ SEA

Related Posts