#Breakfast4brain
ครั้งหนึ่ง Hedy Lamarr เคยได้รับการยกย่องในฐานะ ‘ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก’ บนแผ่นฟิล์ม
จากบทบาทการแสดงในภาพยนตร์ทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา นานกว่าสามทศวรรษ ร่วมกับนักแสดงระดับตำนานอย่าง Clark Gable หรือ Spencer Tracy
ในอีกมุม นักแสดงสาวชาวอเมริกัน-ออสเตรียรายนี้ ยังเป็นที่ยกย่องในฐานะความคิดสร้างสรรค์ด้วย
เพราะเธอคือหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดการสื่อสารแบบไร้สาย ซึ่งถูกพัฒนาต่อเนื่องมาจนกลายเป็นเทคโนโลยีที่เราใช้กันอย่างในปัจจุบัน
..
.
Lamarr ซึมซับความสนใจด้านเทคโนโลยี และพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง หลังต้องตระเวนไปตามงานประชุมและสัมมนาด้านอาวุธสงครามต่างๆ พร้อมกับสามีคนแรก Friedrich Mandl
Mandl คือพ่อค้าอาวุธชาวออสเตรีย ผู้ถูกจัดให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศในเวลานั้น
แต่ความรู้เหล่านี้ยังไม่เคยถูกนำมาใช้งาน เมื่อเธอย้ายมาใช้ชีวิตในสหรัฐ และเริ่มรับงานแสดงในฮอลลีวู้ด ในช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษที่ 1930-1940
กระทั่งโลกเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เธอและเพื่อนสนิท George Antheil ก็ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหาตอร์ปิโดของกองทัพเรือสหรัฐ ที่มักถูกดักทางได้จากฝ่ายตรงข้าม จนไม่สามารถยิงได้เข้าเป้า
..
.
Lamarr ซึ่งจริงจังกับเรื่องดังกล่าวมาก ถึงขนาดเตรียมตัดสินใจเลิกเป็นนักแสดง นำเสนอแนวคิดการส่งสัญญาณ ในลักษณะของ Frequency-Hopping Spread-Spectrum (FHSS) ถึงกองทัพเรือสหรัฐ
ภายใต้แนวคิดนี้ จะมีการสลับแชนแนลโดยไม่มีแบบแผนตายตัว เพื่อแก้ปัญหาการดักข้อมูล หรือส่งสัญญาณรบกวนระหว่างการรบ
ซึ่งถือเป็นแนวคิดยุคบุกเบิกของการเข้ารหัส (Encryption) ด้วย
ทั้งคู่จดสิทธิบัตรแนวคิดดังกล่าวไว้เมื่อ 11 สิงหาคม 1942
แต่ด้วยความที่การใช้งานยังซับซ้อน ขณะที่ Lamarr และ Antheil ก็ประสบปัญหาในการระดมทุนเพื่อมาพัฒนาให้ใช้งานได้จริง
สุดท้าย กองทัพเรือสหรัฐก็ไม่ได้นำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาต่อในช่วงสงครามโลก
และยังถูกใช้งานจริงเพียงครั้งเดียว ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา เมื่อปี 1962
..
.
ส่วนในเชิงพาณิชย์ กว่าจะถูกนำมาพัฒนาต่อ ก็ต้องรอจนถึงตอนปลายทศวรรษที่ 1950 เมื่อวิศวกรของ Sylvania Electronic Systems Division นำไอเดียนี้มาต่อยอด
กระทั่งกลายเป็นองค์ประกอบในเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายในปัจจุบัน อย่าง Bluetooth, Wi-Fi หรือ CDMA
ส่วน Lamarr ที่หวนกลับไปเอาดีทางการแสดงเช่นเดิม หลังถูกปฏิเสธแนวคิด ก็ต้องรอจนถีงปี 1997 กว่าจะได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกไอเดียนี้ ในงานประกาศรางวัล Pioneer Award โดย มูลนิธิโลกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation)
หรือเพียง 3 ปี ก่อนเธอจะเสียชีวิตในวัย 85
และเมื่อทราบเรื่อง Lamarr ก็ไม่ได้แสดงท่าทีตื่นเต้นใดๆ เพียงแต่กล่าวว่า “ได้เวลาแล้วสินะ”
..
.
Anthony Loder ลูกชายแท้ๆของ Lamarr กล่าวถึงแง่มุมในความเป็นคนช่างคิดและสร้างสรรค์ของแม่ไว้ดังนี้
“ท่านเป็นคนที่สร้างสรรค์ และไม่เคยหยุดหาคำตอบ เมื่อไหร่ที่เราคุยกันถึงปัญหา ท่านจะหาทางออกได้เสมอ”
..
.
Better be AHEAD
#AHEADASIA
.
เรียบเรียงจาก
.
Mothers of Technology: 10 Women Who Invented and Innovated in Tech
.
Hedy Lamarr: Invention of Spread Spectrum Technology
.
How actress Hedy Lamarr became the ‘mother of Wi-Fi’
.
ติดตาม #Breakfast4Brain ได้ทุกเช้าตรู่วันจันทร์ถึงศุกร์ที่เพจ AHEAD ASIA
และในโอกาสวันแม่ที่กำลังจะมาถึง เราจะขอนำเสนอแง่มุมต่างๆ และเรื่องราวที่น่าสนใจของ ‘แม่’ ทั้งในแวดวงธุรกิจและนวัตกรรมตลอดทั้งสัปดาห์นี้
หากถูกใจอย่าลืมกดแชร์ กดไลค์ คอมเมนท์ แนะนำติชม กดติดดาว หรืออะไรที่สบายใจเพื่อให้กำลังใจทีมงาน AHEAD.ASIA หาเรื่องราวดีๆมาให้คุณรู้ เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน