Match the message to the moment หรือการเลือกใช้ข้อความที่มีความหมายเหมาะสมกับสถานการณ์ให้เกิดผลตามที่หวัง คือหนึ่งใน 8 คุณสมบัติที่ Harvard Business Review ได้บรรยายคุณสมบัติของ Sir Alex Ferguson ผู้ที่เป็นใครคนนึงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น โค้ชที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ภาพ: businessinsider
จากการทางทีมงานของ Havard เฝ้าสังเกตติดตามโค้ชรายนี้ในปีสุดท้ายที่อดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดคุมทีม เพื่อค้นหาเอกลักษณ์การบริหารงานของโค้ชทียิ่งใหญ่ที่สุดแห่งวงการฟุตบอล หรือที่ศาสตราจารย์ Anita เรียกว่าสูตรสำเร็จเฟอร์กูสัน Ferguson’s Formula
โดย Match the message to the moment เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เชิงจิตวิทยาที่ Sir Alex Ferguson เลือกใช้อย่างชาญฉลาดในการถ่ายทอดและส่งต่อความหมายผ่านทางข้อความไปสู่ทีมในแต่ละห้วงเวลาที่แตกต่างกัน
ศาสตราจารย์ Harvard สรุปว่าแม้ตำนานผู้จัดการทีมรายนี้จะมีภาพลักษณ์ของการเป็นโค้ชที่ใจร้อนปากร้าย แต่เขากลับไม่ได้เป็นผู้ที่ใช้ความเกรี้ยวกราดและดุดันตลอดเวลาในการบริหารทีมหากแต่เลือกใช้วิธีที่แตกต่างกันตามสถานการณ์เพื่อให้ได้ผลลัพทธ์ที่หวัง
เขาใช้คำพูดอย่างหนึ่งในช่วงที่กำลังเป็นผู้นำ อีกแบบหนึ่งในช่วงที่เป็นผู้ตาม ปรับให้เหมาะสมกับช่วงเวลาต่างๆ ไม่ว่าในห้องแต่งตัวช่วงพักครึ่ง ก่อนการแข่งขัน หรือช่วงการซ้อม แม้แต่การปรับคำพูดให้เหมาะสมกับตัวบุคคล เหมือนที่เขาไม่เคยโวยวายใส่ เอริค คันโตน่า เพราะรู้ว่าทำอย่างนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร คือสิ่งที่ผู้จัดการทีมรายนี้เชี่ยวชาญ
ตัวอย่างคำพูดที่นำไปสู่ผลลัพธ์ของ Ferguson คือช่วงพักครึ่งเวลาของการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ Uefa Champions League กับ บาเยิร์น มิวนิค ในปี 1999 เขาพูดกับลูกทีมที่กำลังตกเป็นรอง 1 ประตูว่า
“At the end of this game, the European Cup will be only six feet away from you, and you’ll not even able to touch it if we lose. And for many of you, that will be the closest you will ever get. Don’t you dare come back in here without giving your all.”
_
“เมื่อจบเกมนี้ถ้วยยูโรเปี้ยนคัพจะอยู่ห่างออกไปแค่หกฟุต แต่พวกนายจะไม่มีปัญญาได้สัมผัสมัน และสำหรับหลายคนในนี้ นี่อาจเป็นครั้งเดียวที่ได้อยู่ใกล้ถ้วยใบนี้มากที่สุด เพราะฉนั้นอย่าเสนอหน้ากลับมาในห้องนี้ ถ้าพวกนายไม่ได้ทุ่มเททุกอย่าง”
ซึ่งลูกทีมของเขาก็ลงไปทุ่มเททุกอย่างเหมือนที่ผู้จัดการรายนี้ต้องการ สามารถพลิกกลับมาชนะคู่แข่งได้ในนาทีสุดท้าย กลายเป็นหนึ่งในนัดชิงชนะเลิศที่ตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลรายการนี้
โดยการเลือกใช้ข้อความที่แตกต่างแต่เหมาะสมนี้แหล่ะ ที่ศาสตราจารย์ Anita สรุปว่ามันส่งผลต่อผลงานของทีมและเป็นหนึ่งในสูตรที่ผู้จัดการทีมชาวสกอตต์ใช้บริหารทีม Manchester United จนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จในสาขาของเขา ซึ่งองค์กรทางภาคธุรกิจก็น่าจะสามารถนำมาปรับใช้ได้
“กรณีศึกษาการนำมาใช้ในสนามธุรกิจ”
ซึ่งตัวอย่างในโลกธุรกิจที่ผู้เขียนเห็นว่าชัดเจนที่สุดเคสหนึ่งคือ Steve Job ผู้ก่อตั้ง Apple และกอบกู้บริษัทแห่งนี้ให้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งอีกครั้งได้มีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องความเกรี้ยวกราด แต่ในบางจังหวะเขาก็รู้จัก Match the message to the moment เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เช่นในปี 1983 ที่ Job ใช้คำหวานเพื่อหวานล้อม John Sculley อดีต CEO ของ Pepsi Cola ในเวลานั้นมาเป็น CEO ของ Apple ได้
ภาพ: merinews
ทั้งที่ในเวลานั้น Apple มีขนาดเล็กกว่าบริษัทเดิมของ John Sculley เป็นยุคทองของน้ำอัดลม การเป็น CEO ของบริษัทอย่าง Pepsi ถือเป็นความสำเร็จของนักบริหารมืออาชีพ
แต่ Steve Job ก็ทำมันสำเร็จด้วยหนึ่งในพิชที่ดีที่สุดในโลก ด้วยการ Match the message to the moment ว่า
“Do you want to sell sugared water for the rest of your life? Or do you want to come with me and change the world?”
_“คุณจะขายน้ำผสมน้ำตาลนี่ไปตลอดชีวิต หรือจะมาช่วยผมเปลี่ยนโลกใบนี้ด้วยกัน”
นั่นทำให้ John Sculley ยอมทิ้งเป๊บซี่มาทำงานที่ Apple แม้ว่าช่วงเวลาของทั้งคู่จะจบลงไม่สวย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได่ว่า การใช้ข้อความที่มีความหมายเหมาะสมกับสถานการณ์และจังหวะเวลานั้นๆ เป็นคุณสมบัติของผู้นำอย่าง Steve Job ใช้ในการได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ
“ตัวอย่างที่ใกล้ตัว”
ขณะที่ในเมืองไทยก็มีตัวอย่างในเรื่องการใช้ข้อความ หรือคำพูดที่ใช่เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ต้องการเช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2539 ด้วยกลยุทธ์ขายเหล้าพ่วงเบียร์หรือ bundle marketing ที่ถูกหยิบมาใช้อย่างเหมาะเจาะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสิงห์ที่เคยเป็นเจ้าตลาดเบียร์ และครองส่วนแบ่งถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์
จนในปี 2540 สิงห์เสียความเป็นเจ้าตลาดเป็นครั้งแรกด้วยการมีส่วนแบ่งตลาดแค่ 44.02% ก่อนที่จะลงไปต่ำสุดถึง 34.88% เท่านั้นในปี 2542
ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยการตั้งคุณสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ปี 2543 ซึ่งนอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆในองค์กรแล้ว ทายาทรุ่นที่ 4 ของสิงห์รายนี้ยังเลือกใช้ข้อความที่มีตวามหมายเหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ เริ่มต้นจากการประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ที่หลายคนน่าจะเคยผ่านตาและจำกันได้ดี
“ผมยอมรับว่าแพ้ แต่ผมไม่ยอมแพ้ เพราะผมคือสิงห์”
ซึ่งดูเผินๆเหมือนจะเป็นการยอมแพ้ แต่ความจริงเป็นการเลือกใช้ข้อความให้เหมาะสมกับสถาณการณ์
การยอมรับความพ่ายแพ้ทำให้ไม่มีอะไรต้องกดดันอีก และการประกาศไม่ยอมแพ้เพราะผมคือสิงห์คือการกระตุ้นให้คนในองค์กรเชื่อในความสามารถของตัวเองและลุกขึ้นมาสู้ไปพร้อมกับเขา
นั่นคือสิ่งที่หลายคนทราบ
แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนคือ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สันติใช้วิธีส่งข้อความนึงออกมาให้พนักงานของสิงห์แข่งกันแปล โดยใครแปลถูกใจจะได้รางวัล ซึ่งคำนั้นคือ
“There’s a will, there’s a way”
โดยคำแปลที่ถูกเลือกเพื่อแปลงความหมายเป็นพลังให้ทีมงานจนกลับมาชนะคู่แข่งขัน ถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า
“ตั้งใจให้จริง ทุกสิ่งเป็นไปได้”
ด้วยการแข่งกันแปลในครั้งนั้น ทุกคนจึงรับรู้ถึงข้อความว่า เราจะกลับมาชนะได้ ขอเพียงตั้งใจให้จริง ซึ่งวันนี้กาลเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าหากคนของสิงห์ตั้งใจจริง ทุกสิ่งเป็นไปได้ เมื่อพวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดได้อีกครั้ง
แต่เมื่อวันที่นำทีมกลับมาชนะ เอาส่วนแบ่งตลาดคืนกลับมาได้ เป็นวันที่สถานการณ์เปลี่ยนเป็นสิงห์จะต้องหนีคู่แข่งให้ได้ สันติเลือกที่จะโยนทิ้งสโลแกนที่นำชัยชนะกลับมาทิ้งไป แล้วนำคำใหม่ออกมาเป็นธีมในการพูดให้สัมภาษณ์ สื่อสารทั้งในและนอกองค์กรด้วยคำพูดว่า
“สิ่งที่ทำให้เรามาถึงวันนี้ อาจไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราก้าวไปถึงวันหน้า”
ข้อความนี้ถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเปลี่ยน mindset ของทีมงานไม่ให้ยึดกับสิ่งเก่าๆ แม้ว่าจะเคยนำความสำเร็จมาให้ก็ตาม พร้อมทั้งย้ำในเรื่อง “คิดแล้วต้องทำ” เพื่อบอกว่าอย่าลังเลที่จะสร้างสิ่งดีที่แปลกใหม่ คิดอะไรได้ทำเลยอย่ารอ อย่าคิดเพราะคนอื่นจะตามมาทัน
และนั่นเป็นตัวอย่างของการ Match the message to the moment หรือใช้ข้อความที่มีความหมายเหมาะสมเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการจากในสนามกีฬามาสู่สนามธุรกิจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้นำควรมี เพื่อนำไปใช้ร่วมกับคุณสมบัติอื่นๆ ในการนำองค์กรสู่ความสำเร็จ
*ขอบคุณภาพจาก shutterstock
**เรียบเรียงจาก hbr