ทำอย่างไร เมื่อถูกขโมยไอเดีย STARTUP

หนึ่งในปัญหาสุดคลาสสิกของการเป็นสตาร์ทอัพ คือ “ทำอย่างไรเมื่อถูกขโมยไอเดีย”

เรื่องแบบนี้ คงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าคนในแวดวง

AHEAD ASIA Friday คลับตอบปัญหาเรื่องสตาร์ทอัพ Entrepreneur นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยพี่ห้อย พี่สอด เลยถือโอกาสไปสอบถามคนเหล่านี้ ในแง่มุมต่างๆ ว่าแต่ละคนคิดอย่างไร ไปดูกัน

 

นท ชุติโสวรรณ

Co-Founder CHOMCHOB

ไม่มีไอเดียไหนใหม่ที่สุด ทุกๆไอเดียที่เกิดขึ้นล้วนแต่ต่อยอด ประยุกต์ และสังเคราะห์ จนกลายมาเป็นไอเดียใหม่

ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้น ก็จะมองเห็นภาพรวมของการทำ Startup และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมียุทธศาสตร์

ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกขโมยไอเดีย เพราะทุกอย่างที่เราคิดขึ้น อย่างน้อยต้องมีใครซักคนคิดมาก่อนอยู่แล้ว

การมีไอเดียที่ดี ไม่ได้การันตีความสำเร็จ แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางไอเดียดีแต่ไม่ถูกเวลา ไม่สามารถหารายได้ ไม่สามารถเติบโตได้เร็วพอก็ไม่เกิด

สิ่งที่เราต้องทำ คือหันมาโฟกัสเรื่องการทำธุรกิจให้สำเร็จ

เริ่มต้นและดำเนินธุรกิจให้ถูกเวลา อยู่บนวิถีทางที่เหมาะกับเรา มีโมเดลหารายได้สมเหตุสมผล และยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการขยายตลาด

เข้าใจว่า บางจังหวะ ต้องเร็ว…บางจังหวะ ต้องรอ หากำแพงกั้นคู่แข่งไม่ให้เข้ามาในธุรกิจเราได้ง่าย เพราะการลอกเลียนไอเดีย สามารถเกิดได้ตลอดเวลา ในทุกๆอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ไม่มีใครเลียนแบบเราได้ คือความเป็นผู้ประกอบการในตัวเรา

 

ดาริน สุทธพงศ์

Founder & CEO Indie Dish

ดีใจครับ..เพราะ

  1. มีคนคิดว่าไอเดียเราดี
  2. มาช่วยขยายตลาดให้เรา

    อิง คิดว่าการทำ Startup ไอเดียสำคัญ แต่ไม่ที่สุด Startup มันเป็นเรื่องของ Execution ทั้งนั้น

ถ้าเราเลือกจะทำไอเดียอะไร ก็ต้องคิดแล้วว่า
เราจะเป็นคนที่ Execute ไอเดียนั้นได้ดีที่สุด

เพราะฉะนั้นการโดนขโมยไอเดีย ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมาก

 

ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์

Co-Founder & Tax Designer iTax – Siam University Lecturer

ถ้าไอเดีย Startup ในที่นี้หมายถึง “กระบวนการ (Process)” 

เช่น ทำแอพบนมือถือให้เรียกรถแท็กซี่มารับเราที่บ้าน อาจจะดำเนินคดีตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาได้ยาก เพราะโดยปกติไอเดียที่เป็นกระบวนการความคิด จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ก็ต่อเมื่อได้จดสิทธิบัตรแล้วเท่านั้น กระบวนการความคิดที่ยังไม่มีสิทธิบัตรจึงอาจไม่สามารถดำเนินการใดๆได้

 

วิธีป้องกันโดยทั่วไป

นักกฎหมายมักจะแนะนำให้จดสิทธิบัตรก่อนเผยแพร่เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้อื่นมาขโมยไอเดียไปได้ เช่น Effect หน้าจอ iPhone ที่เด้งกลับเวลาที่เราเลื่อนหน้าจอไปจนสุด ซึ่ง Apple ได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองแล้ว 

(ลองสังเกตุว่าเวลาเลื่อนหน้าจอ Andriod จนสุดจึงไม่มี Effect หน้าจอเด้งกลับ เพราะเหตุผลเรื่องสิทธิบัตรของ Apple)

 

แต่ในความเป็นจริง

การขอสิทธิบัตรเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการค่อนข้างสูง และใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผู้ยื่นคำขอฯ บางรายใช้เวลานานถึง 12 ปีจึงจะได้รับสิทธิบัตร ซึ่งอาจไม่เหมาะกับโลก Startup ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้น เมื่อ idea ที่ยังไม่ได้จดสิทธิบัตรถูกขโมย ต้องทำใจยอมรับว่าเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

ดร. วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์

Budnow CEO – True Incube Advisor

ไอเดียดีๆ มีอยู่ทั่วไป

เชื่อสิครับ สิ่งที่เราคิดว่าดี อาจไม่ใช่เราคนแรกที่คิดซะด้วยซ้ำ จงโฟกัสกับสิ่งที่เราทำ ให้ความสำคัญกับ Execution มากกว่า idea

หากเราทำสำเร็จมัน คือธุรกิจของเรา แต่ในทางตรงกันข้ามก็แค่ “ทำใจครับ” อาจมีคนอื่นที่เหมาะสมกว่า

 

รังสรรค์ พรมประสิทธิ์

CEO YMMY Co., Ltd. (QUEQ)

สำหรับผม..ในโลก StartUp ไอเดียมีค่าน้อยมาก เราโดนลอกไอเดียกันอยู่ตลอดเวลา

ในไทยก็มีไม่น้อยที่เอาไอเดียต่างชาติมาสร้างธุรกิจ ถ้าไม่ถึงกับไอเดียทางธุรกิจ ก็มีเรื่องการออกแบบ การทำการตลาด หรือแม้แต่แพทเทิร์นการทำงาน …เราลอกกันไปกันมาทุกวัน

จริงๆแล้วบริษัทใหญ่ๆอย่าง แอปเปิ้ล ไมโครซอฟท์ หรือ ซัมซุง ก็ขโมยไอเดียกันมาตั้งแต่ยุคกำเนิดเทคโนโลยียุคใหม่

ผมว่าการขโมยไอเดีย คือการส่งต่อความรู้ และคัดสรรทางธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์พัฒนาต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนดังอดีตกาล กระบวนการคัดสรรทางธรรมชาติจะอนุญาตให้ ผู้ที่นำไอเดียไปประยุกต์ใช้ได้จริงและประสบความสำเร็จได้อยู่รอด และดำรงอยู่ต่อไป

จนกว่าจะมีผู้ลอกที่แกร่งยิ่่งกว่าเข้ามาแทน

 

มุมมองพี่ห้อย-พี่สอด

จากที่ พี่ห้อย พี่สอด ไปคุยกับคนในวงการสตาร์ทอัพพอ สรุปได้ว่า

“การถูกขโมยไอเดียนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นธรรมชาติของมัน และไม่ได้เกิดแค่กับวงการสตาร์ทอัพเท่านั้น
จะป้องกันโดยการจดสิทธิบัตรก็ต้องคิดให้ดีว่าคุ้มไหม”

เพราะเอาจริงๆแล้วมีไอเดีย ไม่ได้หมายความว่าจะทำสำเร็จ การลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงต่างหากที่สำคัญกว่า

เหมือนที่ Chris Sacca อดีตนักกฏหมายที่เคยทำงานกับ Google ก่อนผันตัวเองมาเป็นผู้ก่อตั้ง Lowercase Capital VC กองทุนที่ลงทุนและช่วยพัฒนาสตาร์ทอัพอย่าง Uber, Twitter, Instragram และ Kickstarter 

เคยลั่นไว้ว่า

“Ideas are cheap, execution is everything”

“กี่ไอเดียก็ไม่มีราคา ถ้าไม่สามารถทำได้จริง”

 

ติดตาม AHEAD ASIA Friday กับสารพันปัญหาเรื่องสตาร์ทอัพ Entrepreneur นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ทุกวันศุกร์ 

และสำหรับใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

"Ferguson’s Formula" จากสนามกีฬา สู่สนามธุรกิจ

Next Article

ในวันพรุ่งนี้ที่โลกดิจิทัลล้อมรอบตัวเรา และ Media Touch Point ชื่อ Nasket

Related Posts