เราทุกคนต่างคุ้นเคยกับคำว่าเทคโนโลยีกันพอสมควร แต่เรารู้มากน้อยแค่ไหนว่ามันส่งผลต่อชีวิตของเราและโลกใบนี้อย่างไร
และในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีที่ต้องจับตามองนั้นมีอะไรบ้าง
นั่นคือมุมมองที่ Will Weisman Executive Director ของ Singularity University พูดถึง ในวันแรกของงาน Singularity University Global Summit ที่ซานฟรานซิสโก
ประตูสู่การเข้าถึง
Weisman สรุปถึงนิยามของเทคโนโลยีไว้ดังนี้
‘Technology is that force which takes something SCARCE and makes it ABUNDANT.’
เป็น ‘พลัง’ ที่ช่วยให้สิ่งที่ ‘ขาดแคลน’ กลายเป็น ‘อุดมสมบูรณ์’
เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นจากเดิม ทั้งที่อาจรู้ตัวและไม่รู้ตัว จะเห็นได้จากในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรา อัตราการเกิดสงคราม (เพื่อแย่งชิงทรัพยากร) ปัญหาความยากจน ฯลฯ ล้วนลดลงจากในอดีต
หรือหากต้องการให้เห็นภาพที่ใกล้ตัวชัดเจนขึ้น Weisman ก็ยกตัวอย่างง่ายๆอย่างอัตราค่าโดยสารเครืื่องบิน ที่แต่ก่อนถูกจำกัดไว้เฉพาะคนมีฐานะเท่านั้นที่จะขึ้นได้
แต่ปัจจุบัน การเดินทางด้วยเครื่องบินแทบเป็นเรื่องปกติในชีวิตคนทั่วไป
6 D’s of Exponential
Weisman เสริมว่าทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นไปตามทฤษฎี Six D’s of Exponential Technology ของ Steve Kotler
คือเมื่อเกิดการ Digitized (ถูกทำให้เป็นดิจิทัล) ก็จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการเติบโตตามเลขชี้กำลัง
จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วง Deceptive เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน แต่หากเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริง ก็จะผ่านเข้าสู่กระบวนการต่อไป คือ Disruptive คือการล้มล้าง เปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมๆที่่เคยมี เหมือน Uber ทำกับ Taxi
Dematerialized เป็นผลจากการที่เทคโนโลยีเก่า ถูก disrupted เช่นกล้องฟิล์ม และ Kodak ล้มละลาย เพราะการถ่ายภาพแบบดิจิทัล เพราะกล้องที่ถูกรวมเข้าไว้ในสมาร์ทโฟน และก็ไม่มีใครจ่ายเงินเพื่อซื้อฟิล์มอีกต่อไป นั่นคือ Demonetize
และกระบวนการสุดท้าย คือการลดช่องว่างภายในสังคม ผู้คนเข้าถึงความรู้ความต้องการได้มากขึ้น นั่นคือ Democratize
โตอย่างก้าวกระโดด
Weisman มองว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ หากพิจารณาจาก timeline ซึ่งวิทยาการจะเติบโตแบบก้าวกระโดดไปตามเวลาที่เดิน
จาก 1 ไป 3 จาก 3 ไป 9 และจาก 9 ไป 27 ฯลฯ
นี่คือคำอธิบายว่าทำไมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถึงอยู่ในรูป S-curve คือในยุคแรกนั้น การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ก่อนจะค่อยๆเร่งสปีดเร็วขึ้น ตามเวลา (และความรู้) ที่สะสมมาเรื่อยๆนั่นเอง
ยกตัวอย่างเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลในปี 1956 ที่เก็บได้เพียง 5MB แต่มีราคาถึง 120,000 ดอลลาร์
ขณะที่ในปี 2005 microSD ซึ่งจุได้ 128MB มีราคาอยู่ที่ 99 ดอลลาร์ จนในปี 2017 microSD มีความจุถึง 128GB หรือคิดเป็น 3,000 เท่าจากเมื่อ 12 ปีก่อน และ 90,000,000 เท่าจากปี 1956
ทั้งที่มีราคาเพียง 33 ดอลลาร์
ชิพของ Intel รุ่น 4004 ในปี 1971 กับ Intel Broadwell Core i7-6950X ในปัจจุบัน มีความเร็วต่างกัน 81,000 เท่า
ในราคาที่ถูกกว่ากัน 7.7 ล้านเท่า ภายในเวลา 46 ปี
กล้องดิจิทัลตัวแรกของโลกในปี 1976 ราคาแพงถึง 10,000 ดอลลาร์ แต่มีความละเอียดเพียง 0.01 MP และหนักถึง 3.75 ปอนด์
เทียบกับกล้องในปัจจุบัน ที่ความละเอียด 16 MP แต่หนักเพียง 0.57 กรัม
หรือคิดเป็นความละเอียดต่างกัน 1,600 เท่า เบากว่า 2,984 เท่า และถูกกว่า 1,000 เท่า
ช่วงเวลาแห่งความท้าทาย
Weisman สรุปว่าปัจจุบัน คือช่วงเวลาที่น่าทึ่งสำหรับมนุษยชาติ
ขณะเดียวกัน ก็เต็มไปด้วยความท้าทายของคนในปัจจุบันที่ต้องไล่ตามความก้าวหน้าทางวิทยาการให้ทัน โดยเฉพาะในยุคที่หุ่นยนต์กำลังมา
เห็นได้จากตัวเลขอัตราบริษัทด้านหุ่นยนต์ (robotics companies) ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว นับจากปี 2000 เป็นต้นมา
พร้อมกันนี้ เจ้าตัวยังแนะว่าจากนี้ไป นี่คือ 8 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง เพราะจะเติบโตอย่างรวดเร็ว (8 accelerating technologies)
- neurosceience (ประสาทวิทยา)
- biotech (เทคโนโลยีชีวภาพ)
- robotics (หุ่นยนต์)
- energy (พลังงาน)
- computing (คอมพิวเตอร์)
- ai (ปัญญาประดิษฐ์)
- medicine (ยา)
- nanotech (เทคโนโลยีนาโน)
ทั้งนี้ ก็เพื่อไล่ตามความเป็นไปของโลกใบนี้ให้ทัน ในวันที่วิทยาการเร่งสปีดไปข้างหน้าแบบทบทวีคุูณ
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน