จากมุมมองของ David Roberts ที่ว่า ‘ไม่มีใครจะหนีพ้นการ Disruption ได้’
Salim Ismail อดีตรองประธาน Yahoo! และผู้แต่งหนังสือระดับเบสต์เซลเลอร์ Exponential Organizations ซึ่งขึ้นเวทีในฐานะสปีกเกอร์ ในวันที่สามของงาน Singularity University Global Summit
มองไกลถึงผลกระทบในวงกว้างของการ Disruption ทางเทคโนโลยี ว่าไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่เรื่องธุรกิจ
แต่เหมารวมถึงสถาบันทางสังคมของมนุษย์เราด้วย
เร็วจนผู้เชี่ยวชาญตามไม่ทัน
Ismail เริ่มต้นด้วยประเด็นเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาสั้นๆ
อาทิ Lidar อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการรับส่งสัญญาณของรถยนต์ไร้คนขับ ที่เคยมีราคาสูงถึง 75,000 ดอลลาร์ต่อชุด ในปี 2012 แต่กลับลดลงเหลือเพียง 50 ดอลลาร์ ณ ปัจจุบัน
และน่าจะเหลือเพียง 10 ดอลลาร์ ภายใน 3 ปีนับจากนี้
หรือราคาของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Module) ที่ลดลงจาก 16 ดอลลาร์/วัตต์ ในปี 1980 เหลือเพียง 1 ดอลลาร์/วัตต์ ในปี 2012
ประเด็นที่ Ismail ต้องการสื่อคือความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องยากจนแม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชียวชาญยังคาดเดาไม่ถูก
ในปี 2013 ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เชื่อว่าราคาของ Solar Module จะไม่ลดลงไปจาก 1 ดอลลาร์ ต่อวัตต์แล้ว
แต่กลายเป็นว่าภายในปีเดียว ราคากลับตกมาอยู่ที่ 50 เซนต์เท่านั้น
นั่นแปลว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ มันรวดเร็วจนแม้แต่คนที่คลุกคลีกับเรื่องเหล่านี้โดยตรงยังคาดเดาไม่ถูก
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถาบันต่างๆในสังคม จะประสบปัญหาจากการไล่ตามไม่ทันเช่นกัน
Institutional Disruption
Ismail ชี้ว่าโครงสร้างสถาบันต่างๆ ทั้งทางสังคม การปกครอง ฯลฯ ของมนุษย์นั้น ถูกสร้างขึ้นมานานนับร้อยปี
การเกิดขึั้นของสิ่งใหม่ที่จะมา Disrupt นั้นจึงส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่นในสถาบันครอบครัว (Marriage) ที่เพศชายเคยเป็นใหญ่ การเปลี่ยนแปลงด้านสถานะทางสังคมของเพศหญิง ก็ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น
ในด้านการปกครอง (Democracy) การทะลักล้นของข้อมูลทำให้ประชาชนมีความรู้มากขึ้น นั่นทำให้การปกครองแบบเดิมๆของผู้มีอำนาจกลุ่มเดิมๆทำได้ยากขึ้น เช่นกรณีของ Edward Snowden
ในด้านทุนนิยม (Capitalism) เงินจำนวนมากที่เคยอยู่ในระบบเดิม ก็ไหลออกไปสู่สิ่งใหม่ๆ เช่นในอุตสาหกรรมดนตรี ที่ยอดขายซีดีแทบไม่มีความหมายอีกต่อไป เมื่อถูกแทนที่ด้วย music streaming
ในทางการศึกษา (Education) สิ่งที่เราเคยเรียนกันมาอาจใช้ไม่ได้ จนเริ่มมีการพูดกันว่าเด็กอาจต้องเรียนทักษะที่จะใช้ในการทำงานตั้งแต่เล็กๆ
และสุดท้ายในด้านศาสนา (Religions) ความรู้และมุมมองที่เปลี่ยนไปจากผลของวิทยาการ ก็ส่งผลหรืออาจจะเรียกว่าสั่นคลอนความเชื่อเดิมๆไปด้วย
รับมือความเปลี่ยนแปลง
ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
Ismail มองว่าสิ่งหนึ่งที่เริ่มมีบทบาทชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือลักษณะพฤติกรรมของเพศหญิง (female archetypes)
เช่น cooperative (ความร่วมมือ), nurturing (ดูแลเอาใจใส่), teamwork (การทำงานเป็นทีม), network (เครือข่าย) ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะ Uber หรือ Airbnb ก็ล้วนแต่มีคุณสมบัติที่ว่ามานี้ ถึงสามารถประสบความสำเร็จในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้
ซึ่งหมายถึงเพศชายที่เป็นผู้นำในโลกแบบเดิม ด้วยคุณสมบัติอย่าง competitive (แข่งขัน), risk taking (กล้าได้กล้าเสีย), self-assertive (ยึดมั่นในความคิดตน) ฯลฯ ก็จำเป็นต้องปรับตัว และนำ female archetypes มาใช้ให้มากขึ้นด้วย
เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากเราไม่พยายาม disrupt ตัวเราเอง สุดท้าย เราก็จะถูก disrupt ตามที่ Ismail เขียนไว้ในหนังสือ Exponential Organizations ว่า;
“Today, if you’re not disrupting yourself, someone else is; your fate is to be either the disrupter or the disrupted. There is no middle ground.”
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน