‘เมื่อยืนอยู่ท่ามกลางผู้คนและแสงไฟ สิ่งเดียวที่คุณต้องเอาชนะให้ได้ คือหัวใจของคุณเอง’
การชนะใจตัวเองคือสิ่งที่ยากที่สุดในมุมมองของ อ.จตุพล ชมภูนิช Public Speaker ชั้นนำของประเทศที่อยู่ในวงการมานานหลายทศวรรษ
ซึ่งได้รับเชิญให้มาสอนและแนะนำเคล็ดลับในการพูดต่อหน้าคนหมู่มาก แก่สมาชิกของทั้ง 10 ทีม ใน Krungsri RISE Batch 2 รอบสุดท้าย ในหัวข้อ Standing Out in a Crowd เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ส.ค. ที่่ผ่านมา
ความรู้ต้องแน่น
อ.จตุพล เน้นย้ำว่าความรู้คือคุณสมบัติสำคัญที่คนประสบความสำเร็จต้องมี และต้องรู้ในระดับ ‘สุดยอด’ ด้วย เพื่อให้พร้อมใช้งาน
เพราะหากคุณไม่พร้อมเมื่อโอกาสมาถึง ก็เป็นเรื่องยากที่โอกาสหนสองจะหวนกลับมาอีก
นอกจากความรู้แล้ว สติปัญญาก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อคุณอ่านและเรียนรู้สิ่งต่างๆแล้ว ก็จำเป็นต้องคิดเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดออกไปด้วย
เพราะหากคุณพอใจกับการนิ่งอยู่กับที่ เมื่อคนอื่นก้าวหน้า ก็เท่ากับคุณถอยหลังไปแล้ว ต่อให้ไม่ตั้งใจก็ตาม
เตรียมให้พร้อม
ทุกครั้งก่อนขึั้นพูด อ.จตุพล แนะนำว่าต้องเตรียมตัวให้พร้อม และเมื่อพร้อม ก็จะสามารถพูดได้อย่างมั่นใจ
“ไม่มีการพรีเซนต์ครั้งไหนจะออกมาดีได้ ถ้าคุณไม่ซ้อม”
อ.จตุพล ย้ำว่ายิ่งเวลาในการพรีเซนต์ (หรือพิทช์งาน) มีน้อยเท่าไหร่ ยิ่งต้องใช้เวลาซ้อมให้มากขึ้้นเท่านั้น
เพราะการมีเวลาน้อย เท่ากับว่าคุณมีโอกาสแก้ตัวน้อยไปด้วย หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น
และธรรมชาติของมนุษย์ มักมีโอกาสผิดพลาดหากเกิดความตื่นเต้น ซึ่งมักเกิดขึ้นเสมอในการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก
และต่อให้มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดเพียงพอแล้ว การจะถ่ายทอดออกมาให้ได้ดี ก็ยังต้องเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายด้วย
อาจจะเป็นการเรียงตามลำดับช่วงเวลา (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต) หรือความสำคัญ (น้อย-ปกติ-มาก) ฯลฯ
หรือในการพิทช์งาน เราอาจแบ่งหัวข้อเป็น จุดเด่นของสินค้าเรา เหตุผลที่ต้องเลือก ผลที่จะได้รับ และข้อควรระวัง โดยใช้วิธีแบ่งเป็นข้อๆ เพื่อง่ายต่อการพูด
เครื่องแต่งกาย
หลายคนอาจมองข้ามความสำคัญ แต่ อ.จตุพล แนะนำว่าการเตรียมสิ่งเหล่านี้เผื่อไว้ ย่อมเป็นผลดีกว่าไม่เตรียมอะไรเลย
การแต่งกายผิดกาลเทศะ น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็อาจส่งผลต่อปฏิกิริยาของผู้ฟังได้
ขณะเดียวกัน ความมั่นใจในตัวเองก็มีผลต่อความรู้สึกของผู้ฟังเช่นกัน หากเรามีทัศนคติเชิงลบต่อตัวเอง ผู้ฟังก็อาจจะรู้สึกในทำนองเดียวกัน
การใช้เสียงก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การพูดแบบโมโนโทนหรือปรุงแต่งจนเกินไป ล้วนแต่ไม่ส่งผลดีทั้งสองแบบ
รูปธรรม > นามธรรม
การพูดให้เห็นภาพ คืออีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยให้สารของเราไปถึงผู้ฟังได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการยกตัวอย่างที่สามารถเห็นภาพได้ชัดเจน จะทำให้คนจดจำสิ่งที่เราพูดได้ดีกว่า
วิเคราะห์ผู้ฟัง
หากเรารู้ล่วงหน้าว่าผู้รับสารของเราคือใคร เพศอะไร อยู่ในช่วงวัยไหน ก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าคนเหล่านั้นต้องการอะไร เพื่อที่จะเตรียมเนื้อหาหรือปรับปรุงวิธีการพูดให้เหมาะสมได้
และนั่นคือส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ ที่สมาชิกจาก SetRobot, Baania, AIYA, Horganize, BigStone, QueQ, ReFinn, ZipEvent, Jabjai for school และ Carpool ได้รับจากการเข้าร่วมในโครงการ Krungsri RISE Batch 2 รอบสุดท้าย
ซี่งจะยังมีกิจกรรมดีๆในลักษณะนี้ให้ได้สัมผัสอีกเรื่อยๆตลอดระยะเวลา 16 สัปดาห์ เพื่อเร่งสปีดฟินเทคสตาร์ทอัพของตนให้ก้าวไปไกลยิ่งกว่าเดิม
สำหรับผู้สนใจ ยังสามารถติดตามข่าวสาร และรายละเอียดความเคลื่อนไหวของ Krungsri RISE Batch 2 ได้ที่ www.facebook.com/Krungsri-Finnovate