DJI

Frank Wang: เจ้าพ่อโดรนพันล้านแห่ง DJI

ในการประกาศรายชื่อ Richest In Tech โดย Forbes ประจำปี 2017

ปรากฏชื่อของ หนุ่มจีนวัย 36 ปี นาม Frank Wang เบียดแทรกเข้าไปมีชื่อติดท็อป 100 ได้สำเร็จเป็นปีแรก ในอันดับที่ 76 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3,200 ล้านดอลลาร์

และเป็นมหาเศรษฐีจากเอเชียที่อายุน้อยที่สุดในลิสต์ดังกล่าวด้วย

คำถามถัดมาคือ Frank Wang Tao คือใคร? ทำไมจู่ๆถึงโผล่พรวดขึ้นมาอยู่ในลิสต์นี้ได้?

คำตอบอาจอยู่ใกล้ตัวเราชนิดคาดไม่ถึง

 

DJI เจ้าตลาดโดรน

 

 

ปัจจุบัน อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) หรือที่เรียกกันติดปากว่า โดรน คือหนึ่งอุปกรณ์สำคัญสำหรับช่างภาพทั่วโลกไปแล้ว

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถถ่ายภาพมุมกว้างขณะบินอยู่ในอากาศได้อย่างคมชัด อีกทั้งยังมีราคาไม่แพงจนเกินไป

ข้อมูลจาก Business Insider Intelligence ระบุว่ายอดขายของโดรนทั่วโลก ยังคงไต่เพดานบินขึ้นเรื่อยๆ

จาก 3 ล้านตัว ในปี 2014 สู่ 6 ล้านตัวในปีถัดมา กระทั่งขึ้นหลักสิบล้านเมื่อปี 2017 และอาจสูงถึง 29 ล้านตัวในปี 2021

และหนึ่งในแบรนด์ที่มีส่วนสำคัญในการจุดกระแสช่างภาพสายบิน ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ

ก็คือ DJI หรือ Dajiang Innovation Technology จากจีนนั่นเอง

เรามักคุ้นเคยว่าสินค้าจากจีนนั้นจะต้องเน้นเรื่องราคาถูกเป็นหลัก และมักมีปัญหาเรื่องคุณภาพ

แต่ DJI นั้นเป็นแบรนด์ที่ฉีกกรอบเดิมๆของสินค้าจากจีนโดยสิ้นเชิง ด้วยการหันมาเน้นตลาดไฮเอนด์อย่างเต็มตัว จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างด้วย

ข้อมูลจาก Skylogic ระบุว่า ในตลาดโดรนนั้น ยังสามารถแบ่งย่อยออกเป็นอย่างน้อยๆ 3 ระดับด้วยกัน คือกลุ่มที่ราคาต่ำกว่า 500 ดอลลาร์ (15,000 บาท) กลุ่มราคา 500-1,000 ดอลลาร์ (15,000-30,000 บาท) และกลุ่มราคาตั้งแต่ 1,000 ดอลลาร์ขึ้นไป (30,000 บาท)

และในสองกลุ่มหลังนั้น พวกเขาก็ถือครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึง 72% และ 70% ตามลำดับ

 

ความหลงใหลในวัยเด็ก

 

 

ความสำเร็จนี้ เกิดจากคำว่าแพสชั่นล้วนๆ ของ Frank Wang Tao อดีตนักศึกษาด้านวิศวกรรมอิเลคทรอนิคส์ จาก Hongkong University Of Science & Technology

ความหลงใหลในการบินของ Wang ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยเรียนประถม จากหนังสือการ์ตูนที่เล่าเรื่องการผจญภัยของเฮลิคอปเตอร์สีแดง

จนเมื่ออายุ 16 Wang ก็ได้รางวัลเรียนดี จากพ่อแม่เป็นเฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับลำแรกในชีวิต

แต่ด้วยความที่ยังไม่สันทัดในการควบคุม ของขวัญชิ้นนี้ก็ตกจนได้รับความเสียหายตั้งแต่ตอนหัดบินในวันแรกๆ

ความชื่นชอบในเรื่องการบินและเครื่องกล ทำให้ Wang ได้เข้าเรียนที่ Hongkong University Of Science & Technology ในสาขาวิศวกรรมอิเลคทรอนิคส

ในปีสุดท้ายของการศึกษา Wang เลือกสร้างระบบควบคุมการบินของเฮลิคอปเตอร์เป็นไฟนอลโปรเจคท์

แต่โชคร้ายเกิดเหตุอุปกรณ์สำคัญขัดข้อง ในคืนสุดท้ายก่อนถึงกำหนดพรีเซนต์งานหน้าห้อง

ทว่า ยังดีที่ Li Zexiang ศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์ ซึ่งเห็นความทุ่มเทของ Wang ตลอดการเตรียมงาน
เกิดความประทับใจ ช่วยสนับสนุนให้โปรเจกต์นี้ผ่านไปได้ด้วยดี

ศาสตราจารย์ Li ยังเป็นที่ปรึกษาและผู้ให้ทุนเบื้องต้น ในช่วงที่ Wang เพิ่งก่อตั้งบริษัท และปัจจุบันยังถือหุ้นของบริษัทอยู่อีก 10% ด้วย

 

อาวุธลับที่ชื่อ Gimbal

 

 

ในช่วงแรกนั้น DJI ยังเป็นแค่สตาร์ทอัพเล็กๆที่ผลิตสินค้าสำหรับนักเล่น UAV เป็นงานอดิเรก

แต่ระหว่างนี้เองที่ Wang และทีมงานค่อยๆพัฒนารูปแบบสินค้าจากใบพัดเดี่ยว มาเป็นควอดคอปเตอร์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงฟังก์ชันออโต้ไพล็อตให้ใช้งานได้ดีขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดขึ้นในปี 2011 เมื่อ Wang มีโอกาสได้พบกับ Coling Guinn ที่ทำสตาร์ทอัพด้านการถ่ายรูปในอากาศ

และกำลังหาวิธีพัฒนาให้ UAV สามารถถ่ายวิดีโอได้โดยไม่มีปัญหาภาพสั่น

การพูดคุยกันของทั้งคู่ นำไปสู่การพัฒนาชุดป้องกันการสั่นสำหรับกล้องขนาดเล็กหรือที่เรียกกันว่า Gimbal ตามมาด้วยการก่อตั้ง DJI North America เพื่อบุกเบิกตลาดทั่วไป

กระทั่งสามารถเปิดตัว Phantom โดรนถ่ายภาพรุ่นแรกของบริษัทในปี 2013 ซึ่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของบริษัทจนถึงวันนี้ และสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

 

มากกว่าโดรน

 

 

จุดแข็งของ DJI คือการที่สามารถผลิตอุปกรณ์ทุกส่วนของโดรน รวมถึงพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทนอก

นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นเจาะกลุ่มไปที่ผู้ใช้งาน UAV ราคาตั้งแต่ 1 พันดอลลาร์ขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และต้องการสินค้าคุณภาพ

และเลือกที่จะปล่อยตลาดล่าง อย่างกลุ่มที่ใช้ UAV ราคาต่ำกว่า 500 ดอลลาร์ ซึ่งมีคู่แข่งจำนวนหลายร้อยบริษัท และมักผลิตสินค้าในเชิง ‘ของเล่น’ มากกว่าอุปกรณ์ถ่ายภาพมืออาชีพ อย่างที่ DJI เลือกเดิน

ปัจจุบัน DJI ครองตลาด UAV ทั่วโลกได้มากถึง 70% และยังต่อยอดไปสู่อุปกรณ์ถ่ายภาพอื่นๆ

ทั้งกล้องแคมคอร์เดอร์, ชุดป้องกันการสั่นสำหรับกล้อง, ระบบควบคุมการบิน ฯลฯ จนสามารถสร้างรายได้มากถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2015

ขณะที่ตัวบริษัทก็ได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ มีพนักงานในสังกัดถึง 4 พันคน ในออฟฟิศต่างๆทั่วโลก ทั้งที่จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ และยุโรป

ส่วน Wang ที่ถือหุ้นบริษัทอยู่ 45% ก็กลายเป็นมหาเศรษฐีเอเชียคนล่าสุด หลังทำให้ความฝันเรื่องการบินของตนกลายเป็นความจริงได้

 

AHEAD FACTS

  • Forbes ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของ Frank Wang ไว้ที่ 3,200 ล้านดอลลาร์ (106,000 ล้านบาท) เป็นมหาเศรษฐีลำดับที่ 87 ของจีน และลำดับที่ 729 ของโลก
  • นับเฉพาะปี 2017 เพียงปีเดียว พวกเขามีรายได้ถึง 2,830 ล้านดอลลาร์ (94,621 ล้านบาท) หรือเพิ่มจากปีก่อนถึง 80%
  • สำนักงานใหญ่ และโรงงานผลิตของบริษัทอยู่ในเซินเจิ้น แต่ยอดขายถึง 80% นั้น มาจากการส่งออกนอกประเทศ
  • DJI ได้รับรางวัลเอมมี่ อวอร์ด ประจำปี 2017 ในสาขา Technology and Engineering โดยรายการดังๆที่ใช้โดรนของบริษัทในการถ่ายทำ ก็คือ The Amazing Race, American Ninja Warrior, Better Call Saul, Game of Thrones ฯลฯ

 

เรียบเรียงจาก

DJI Success Story – A Drone Manufacturer | Founder Frank Wang

Who is Frank Wang?

Bow To Your Billionaire Drone Overlord

DRONE MARKET SHARE ANALYSIS & PREDICTIONS FOR 2018

 

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

10 มหาเศรษฐีสาย Tech แห่งปี 2017

Next Article

DEPA ตั้ง "ดร.รัฐศาสตร์" รองผอ.คนใหม่

Related Posts