ในยุคที่สื่อดั้งเดิม กำลังถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายองค์กรใหญ่ต้องเร่งปรับตัวตามให้ทันเพื่อความอยู่รอด
อมรินทร์พริ้นติ้ง คือหนึ่งในองค์กรใหญ่ด้านสิ่งพิมพ์ ที่ผ่านการปรับตัวหลายต่อหลายครั้ง สู่การเป็น ‘content business’ แบบครบวงจร
ทั้งการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล อีเวนท์ และขยายขอบเขตสู่โลกออนไลน์ ฯลฯ ด้วยเป้าหมายที่มากกว่าแค่อยู่รอด แต่เพื่อรักษาสถานะผู้นำไว้ต่อไป
และภายในงาน DAAT DAY 2017 เมื่อ 29 ส.ค. ที่่ผ่านมา สามบุคลากรจาก อมรินทร์พริ้นติ้ง ประกอบด้วย
คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจ
คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการอำนวยการ กลุ่มนิตยสารบ้านและสวน
และคุณอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการฝ่ายนิว มีเดีย
ก็ขึ้นเวที Media Conference Room เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงในการปรับตัวให้ก้าวทันยุค ในหัวข้อ Reinvention of (Digital) Publishing: Not Just To Survive But Succeed ที่ทีมงาน AHEAD.ASIA เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน ในวันที่โลกหมุนเร็วจนหลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าจะตามทันหรือไม่
เริ่มต้นด้วยการ ‘ทำใจ’
คุณเจรมัย เริ่มต้นการพูดคุย ด้วยการย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้นของการเปลี่ยนแปลงของสื่อ ว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมรับและทำใจ
แม้จะเป็นสื่อใหญ่ที่มีองค์ประกอบครบครัน โดยเฉพาะ fan base แต่การข้ามผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นหัวใจหลักของบริษัทมาตลอด ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะคนจำนวนไม่น้อย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อมรินทร์ คือเบอร์แรกๆที่เริ่มโน้มเอียงเข้าหาสื่อออนไลน์ ตั้งแต่ราว 15 ปีที่แล้ว
และต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าที่กลุ่มคนที่เป็น fan base หรือแม้แต่กลุ่มใหม่ๆจะเริ่มรับรู้ และย้ายฐานตามมา
‘แพลทฟอร์มเดียว’ ไม่พอ
คุณระริน ซึ่งรับช่วงธุรกิจดูแลองค์กรของครอบครัว เสริมต่อว่าในยุคแรก การทำสื่อออนไลน์/ดิจิทัล ยังเป็นไปในลักษณะของการประคองให้อยู่ในกระแส
แต่ในปัจจุบันนั้น สถานการณ์เปลี่ยนไป
เมื่อคนส่วนใหญ่รับสารผ่านสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ สื่อออนไลน์ก็กลายเป็น ‘ช่องทางหลัก’ ในการสื่อสารไปแทน ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์นั้นถอยไปเป็น ‘ส่วนเสริม’ โดยปริยาย
แต่คุณระริน ยังยืนยันว่าตัวพรินท์นั้นยังมีประสิทธิภาพในตัวอยู่ เพราะการที่เครืออมรินทร์มีหลายแพลทฟอร์มซึ่งเกื้อหนุนกันและกันในมือ
กลายเป็นผลดี เมื่อช่วยให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) มีค่าเฉลี่ย % ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที การมีหลายแพลทฟอร์มจะช่วยเน้นย้ำสารที่ต้องการสื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น
‘เนื้อหา’ ต้องโดน
การมีเพียงแค่หลายแพลทฟอร์มเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่ง คุณอาสา ซึ่งรับผิดชอบด้านนิวมีเดียโดยตรง ก็เสริมตรงนี้ว่าตัวคอนเทนท์ รวมถึง influencer จำเป็นต้องมีพลังมากพอที่จะโดนใจผู้บริโภค
หลักการสำคัญตรงนี้ คือ User Insight นั่นคือต้องรู้ให้ได้ว่าลูกค้า/ผู้บริโภคของเราเป็นใคร จึงค่อยหาผลิตภัณฑ์/บริการ ที่ตรงกับความต้องการไปนำเสนอ
“บางครั้งสิ่งที่ถูกใจเราหรือเอเจนซี อาจไม่ถูกใจคนหมู่มากก็ได้”
แต่การมีสื่อดิจิทัล/ออนไลน์เกิดขึ้น ทำให้การวัดพฤติกรรมของผู้บริโภคเห็นภาพชัดเจนกว่าเดิม
ใช้คอนเทนท์สร้าง ‘ดีมานด์’
ด้วยความที่ทางอมรินทร์มีอีเวนท์เป็นของตัวเอง (บ้านและสวนแฟร์) การใช้คอนเทนท์เพื่่อช่วยลูกค้าที่มาเปิดบูธในงานให้สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ จึงเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญในมือ
การหาความพอดีในเรื่องนี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน คุณเจรมัยได้ยกตัวอย่างบริษัทนายหน้าขายบ้านมือสองรายหนึ่งขึ้นมา
และตีเป็นโจทย์ผ่านการทำรายการใน Amarin TV เพื่อให้ผู้ชมเห็นคล้อยตามว่าการรีโนเวทบ้านมือสอง ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป และยังมีราคาที่ถูกกว่าการซื้อบ้านมือหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด
แทนที่จะทำเป็นโฆษณายัดเยียดจนผู้ชมอึดอัด
ผลลัพธ์ที่ได้ แม้จะใช้เวลาอยู่บ้างกว่าจะเริ่มสร้างความเข้าใจได้ แต่สุดท้าย ก็มีผู้บริโภคให้ความสนใจและติดต่อไปยังนายหน้าขายบ้านมือสองรายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
เกาะกระแสบ้าง
CREDIT: www.naiin.com
การไหลไปตามกระแสไม่ใช่เรื่องเสียหาย คุณอาสา ยกตัวอย่างการอิงกระแสของ ‘เป๋าเป่า’ ลูกสาวของ บี้ KPN และ ‘กุ๊บกิ๊บ’ สุมณทิพย์
ด้วยการนำเพลงที่พ่อแม่ของเน็ตไอดอลรุ่นเล็กรายนี้ร้องให้ลูกฟัง มาให้บรรดานักร้องจากรายการ The Mask Singer ทั้ง ทอม Room39, เอ๊ะ จิรากร และ เป๊ก ผลิตโชค ตีความใหม่ในโลกโซเชียล
ก่อนเฉลยในภายหลังว่าทั้งหมดเป็นคอนเทนท์จากแม็กกาซีน ‘สุดสัปดาห์’ ในเครือ
ผลปรากฎว่าฉบับดังกล่าวซึ่งขึ้นปก ‘เป๋าเป่า’ และครอบครัว ไม่เพียงขาดหมดเกลี้ยงแผง แต่ยังต้องพิมพ์ซ้ำ
ตอกย้ำว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีลมหายใจอยู่ อย่างแข็งแรงด้วย หากเลือกนำเสนอได้อย่างถูกวิธี และโดนใจผู้บริโภค
Big Data มีแล้วต้องใช้
คุณอาสา ย้ำว่าข้อมูลที่ได้จากสื่อดิจิทัล เป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ดีกว่า ‘มุมมอง’ หรือ ‘ประสบการณ์’ เพียงอย่างเดียว
เพราะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ‘A’ หรือ ‘B’ กันแน่ที่ผู้บริโภคต้องการ แทนการเดาสุ่ม ซึ่งไม่มีทางรู้ว่าผิดหรือถูก
‘เปลี่ยน’ หมายถึงทั้งองค์กร
การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เท่าทัน Disruptive Technology นั้น คุณอาสา ย้ำว่าทุกคนและทุกส่วนในองค์กร ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน ไม่ใช่เลือกเปลี่ยนแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
เพราะสุดท้าย ต้องเป็นทั้งองค์กรที่ก้าวต่อไปข้างหน้า เพื่อความอยู่รอด และประสบความสำเร็จ
ขณะที่คุณระริน ก็เสริมว่าแต่ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในรูปไหน โอกาสที่สื่อจะประสบความสำเร็จได้นั้น คือต้องหา customer experience ให้เจอ
เพราะหากโดนใจผู้บริโภคแล้ว โอกาสอยู่รอดของสื่อนั้นจะมีอยู่แน่นอน
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน