ท่ามกลางปัญหาสารพัด ทั้งการเหยียดเพศ และแบ่งแยกเชื้อชาติที่เรื้อรังมานานภายในองค์กร Uber ซึ่งปัจจุบันถูกยกให้เป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก ก็ประกาศแต่งตั้ง Dara Khosrowshahi อดีตผู้บริหาร Expedia เข้ารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ แทน Travis Kalanick ซึ่งถูกบีบให้ลงจากตำแหน่งไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
การเลือกหนุ่มอิหร่าน วัย 48 ปี ถือเป็นตัวเลือกที่ถือว่าเซอร์ไพรส์สำหรับคนทั่วไป เมื่อเทียบกับแคนดิเดทอื่นๆ อย่าง Meg Whitman ซีอีโอของ HP Enterprise และ Jeff Immelt อดีตซีอีโอของ General Electric ที่ถูกยกให้เป็นตัวเต็งลำดับต้นๆในช่วงแรกของการคัดสรรโดยบอร์ดบริหารทั้งแปดคน
แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดแล้ว เจ้าตัวก็จัดเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เฉพาะอย่างยิ่ง หากมองว่านี่คือการตั้งซีอีโอใหม่ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ขององค์กรที่กำลังมีปัญหารอบด้าน
รู้จัก Dara Khosrowshahi

เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน ที่อพยพมายังนิวยอร์ค พร้อมครอบครัว เมื่อปี 1978 หรือไม่นานก่อนเกิดการปฏิวัติในอิหร่าน และใช้ชีวิตในสหรัฐนับแต่นั้นมา โดยจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจาก Brown University ก่อนผันตัวมาเป็นนักวิเคราะห์ให้กับธนาคารเพื่อการลงทุน Allen & Co. นานถึง 7 ปี
Khosrowshahi รู้สึกประทับใจสไตล์การทำงานของ Barry Dille ประธานของ InterActive Corp. (IAC) มาตลอด และพยายามหาโอกาสร่วมงานด้วย และสามารถไต่ระดับขึ้นไปจนเป็นผู้บริหารองค์กรได้สำเร็จ
กระทั่ง Expedia ถูกแยกออกมาเป็นอิสระจาก IAC ในปี 2005 Khosrowshahi ก็เข้ารับตำแหน่งซีอีโอขององค์กรมาตลอด จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลา 12 ปีในตำแหน่ง เขาปั้น Expedia จนเป็นองค์กรใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 2 หมื่นคนทั่วโลก ดูแลเว็บไซต์ในเครือ กว่า 150 ราย ในจำนวนนี้ ชื่อที่เราคุ้นเคยกันดี มีทั้ง Hotels.com, Hotwire และ Trivago
เฉพาะในปี 2016 มีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการจองที่พักผ่านเว็บไซต์ในเครือ Expedia ถึง 72,000 ล้านดอลลาร์
แม้จะมาจากสายการโรงแรมและท่องเที่ยว แต่ Dennis Schaal บรรณาธิการของ Skift แพลทฟอร์มมาร์เก็ตติ้งสำหรับการท่องเที่ยว ยืนยันว่า Khosrowshahi มีความรู้เชิงลึกในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เป็นอย่างดี ทั้ง AI, การเสิร์ชข้อมูลผ่านคำสั่งเสียง และ บิ๊กดาต้า
ขณะเดียวกัน ก็มีคุณสมบัติบางประการคล้ายกับ Kalanick โดยเฉพาะเรื่องความกล้าได้กล้าเสีย เห็นได้จากในปีล่าสุด ที่เจ้าตัวเลือกใช้รายได้กว่า 87% ของ Trivago ไปกับการทำมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด
จดหมายถึง Expedia
ทันทีที่ข่าวการอำลา Expedia ของ Khosrowshahi เผยแพร่ออกไป ก็ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทในตลาดอย่างเห็นได้ชัด เมื่อหุ้น Expedia ตกลงมากที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปี อยู่ที่ร้อยละ 5.4% ส่งให้มูลค่าของบริษัทหายไปกว่า 1 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น Khosrowshahi ก็ได้เขียน memo เพื่อส่งถึงพนักงาน Expedia ทุกคน อธิบายว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิต หลังทำงานกับ Expedia มานานถึง 12 ปี พร้อมยอมรับว่าลึกๆแล้ว ตนก็รู้สึกกลัวการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
แต่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของคนเรา จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อตัดสินใจออกจากคอมฟอร์ทโซน ไปพบเจอสิ่งใหม่ๆที่ไม่คุ้นเคย
ราคาที่ Uber ต้องจ่าย
CREDIT: innov8tiv.com
Bloomberg คาดว่ามูลค่าของการทาบทาม Khosrowshahi มารับตำแหน่งซีอีโอครั้งนี้ ทั้งค่าจ้าง เงินชดเชย ฯลฯ อาจสูงกว่า 200 ล้านดอลลาร์ หากประเมินจากมูลค่าหุ้นของ Expedia ที่ซีอีโอรายนี้ถือไว้ในปัจจุบัน ราว 184.4 ล้านดอลลาร์
เพราะย้อนกลับไปเมื่อเร็วๆนี้ Uber ก็เคยต้องเสนอหุ้นจำนวน 5.31 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ให้ Anthony Levandowski วิศวกรด้านรถยนต์ไร้คนขับ เมื่อครั้งย้ายจาก Alphabet มาร่วมงานกันแล้ว
หากจะมีข้อแตกต่างอยู่บ้างก็คือตัวเลขในกรณี Levandowski มีการเปิดเผย เพราะเป็นส่วนหนึ่งในคดีความระหว่างสองบริษัท
ส่วนกรณีของ Khosrowshahi ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย เนื่องจากเป็นเรื่องภายในองค์กรที่ยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดหุ้น
งานหนักที่รออยู่
สิ่งที่รอ Khosrowshahi อยู่ คือการฟื้นฟูภาพลักษณ์องค์กรที่เสียหาย จากกรณีเหยียดเพศ และแบ่งแยกเชื้อชาติ และการรับมือกับคดีความฟ้องร้องที่อยู่ในชั้นศาลอีกหลายคดี
ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากับทาง Waymo ผู้ผลิตรถยนต์ไร้คนขับของ Google, การใช้โปรแกรมลับเพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ทางกฎหมาย การให้บริการโดยพนักงานขับรถที่ไม่มีใบอนุญาต ฯลฯ
ยังไม่นับเรื่องการเมืองภายในบริษัทที่ยังคุกรุ่นอยู่
โดยเฉพาะขั้วระหว่าง Kalanick ผู้ก่อตั้งซึ่งถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ กับกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย Benchmark Capital ซึ่งถือหุ้นของ Uber เกินกว่าหนึ่งในสี่ และมีอำนาจในการโหวตราว 40%
เพื่อให้การฟื้นฟูภาพลักษณ์องค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ Uber ได้ว่าจ้างอดีตอัยการสูงสุดสหรัฐ Eric Holder ให้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร พร้อมทำลิสต์สิ่งที่ควรปรับปรุงเพื่อนำเสนอต่อบอร์ดบริหาร ก่อนที่ Lyft และ Grab สองคู่แข่งสำคัญในภาคพื้นอเมริกาเหนือและเอเชียแปซิฟิก จะช่วงชิงความได้เปรียบในช่วงสุญญากาศผู้นำไปจนหมด
ผู้กอบกู้?
หากพิจารณาว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของ Uber ในปัจจุบัน คือวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งยังมีเรื่องของการเหยียดเพศ และแบ่งแยกเชื้อชาติปะปนอยู่
โพรไฟล์ของ Khosrowshahi ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้อยู่ในอันดับ 39 ของลิสต์ซีอีโอซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการมากที่สุด ก็ถือว่าเข้าข่ายเหมาะสมไม่น้อย
เพราะในปี 2016 Expedia เพิ่งถูกจัดให้ติดอันดับ 16 สำหรับองค์กรที่ดีที่สุดในการร่วมงานด้วย และเพิ่งได้รับเลือกให้เป็น “Best Places to Work for LBGT Equality” โดยกลุ่ม Human Rights Campaign Foundation ในปีล่าสุด
เหตุผลสำคัญสำหรับรางวัลดังกล่าว มาจากการที่พนักงานของ Expedia เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเพศหญิง และมีอำนาจในการบริหารอยู่ราว 1 ใน 3 โดยที่ทั้งหมดได้ค่ารับจ้างในระดับเดียวกับพนักงานชายในตำแหน่งเดียวกัน
ขณะที่ Maya Raghu, ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมในองค์กรของสำนักงานกฎหมายแห่งชาติสหรัฐ เสริมว่าหาก Uber ตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร วิธีที่ดีที่สุดจำต้องมาจากเบื้องบนเป็นอันดับแรก
I will not bullshit you…
CREDIT: Uber
Uber หวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะช่วยปลุกองค์กรให้กลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้องอีกครั้ง หลังติดขัดกับปัญหาต่างๆนานาที่รุมเร้าเข้ามา จนคู่แข่งในสหรัฐอย่าง Lyft และในเอเชีย คือ Grab เริ่มชิงส่วนแบ่งตลาดไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยในการพบกับพนักงานองค์กรครั้งแรก ที่สำนักงานใหญ่ในซาน ฟรานซิสโก เมื่อ 30 ส.ค. ที่่ผ่านมา Khosrowshahi ก็ให้คำมั่นว่าจะนำ Uber เข้าสู่ตลาดหุ้นให้ได้ ภายใน 18-36 เดือนนับจากนี้ โดยจะเปิดให้นักลงทุนและพนักงานมีสิทธิ์ซื้อหุ้น ในการทำ IPO ด้วย
หนึ่งในประโยคเด็ดที่ Khosrowshahi กล่าวบนเวทีในการประชุมดังกล่าวคือ “I will not bullshit you… I am a fighter. I’m all in. I will fight with everybone in my body.”
ซึ่งน่าจะหมายถึงการพร้อมสู้แบบถวายหัว เพื่อนำ Uber กลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้องอีกครั้ง และ Khosrowshahi ก็เคยมีประสบการณ์ในการทำ IPO กับ Trivago มาแล้ว
หลังจากนี้ Khosrowshahi จะเริ่มเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัทเข้าพบ เพื่อพูดคุยและตอบข้อซักถามต่างๆในลักษณะกลุ่มเล็กๆ โดยคาดว่าจะใช้เวลาราวๆ 2-3 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย
มุมมองคนนอก
Khosrowshahi เข้ามาในช่วงที่ตำแหน่งผู้บริหารของ Uber ว่างอยู่เกือบทั้งหมด และเจ้าตัวก็มีอำนาจในการแต่งตั้ง CFO และ COO คนใหม่ สำหรับช่วยงานอย่างเต็มที่ แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือโอกาสที่เจ้าตัวจะพลิกฟื้น Uber มีมากน้อยแค่ไหน ในมุมมองของคนที่อยู่ในวงการ
Mark Hulbert จาก marketwatch.com ยังเชื่อว่าซีอีโอคนนอกนั้นจะมีปัญหาในการทำงานเพื่อเปลี่ยนองค์กรให้ดีขึ้น เพราะต้องเจอกับปัญหาเรื่องวัฒนธรรมภายใน และแทบทุกเคส มักจบลงด้วยวัฒนธรรมภายในเป็นฝ่ายชนะ
ส่วน Gautam Mukunda ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรของ Harvard Business School ก็อ้างผลสรุปจากงานวิจัยของตนว่า “ซีอีโอส่วนใหญ่ที่พยายามรื้อโครงสร้างองค์กร มักประสบความล้มเหลว”
ขณะที่ Rakesh Khurana ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาผู้นำจากสถาบันเดียวกัน ก็เสริมด้วยสถิติที่ว่าความสำเร็จขององค์กรนั้น มีหัวใจหลักที่วัฒนธรรมภายในองค์กร และแทบไม่มีจุดเชื่อมโยงใดๆกับซีอีโอเลย
สุดท้าย การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นกับคนใน Uber นั่นเอง ว่าจะยอมรับได้หรือไม่ กับเรื่องที่ว่าวัฒนธรรมองค์กรในปัจจุบัน เป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดไม่ให้ Uber ไปถึงระดับที่ควรเป็น คือการเป็นบริษัทมหาชนที่ทำกำไรได้ หรือจะพอใจกับการเป็นวัยรุ่นที่ไม่รู้จักโตเหมือนเดิม และปล่อยให้ตลาดที่สร้างขึ้นมากับมือ ตกเป็นของคู่แข่งที่พร้อมกว่าแทน
(อ่านรายละเอียดปัญหาของ Uber เพิ่มเติมได้จาก Uber บนถนนที่ขรุขระ)
เรียบเรียงจาก
Uber’s New CEO
UBER IS BROKEN. CAN THE NEW CEO FIX IT?‘
I will not bullshit you … Uber will go public within three years,’ new CEO tells staff
Uber officially announces Khosrowshahi will be its new CEO
Uber chooses Expedia boss Khosrowshahi as new CEO
Opinion: Uber’s new CEO faces yet another big roadblock
Uber’s New CEO May Get at Least $200 Million to Exit Expedia
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน