ในช่วงเวลาที่ Uber กำลังประสบปัญหาภายในองค์กร คู่แข่งที่ดำเนินธุรกิจแบบเดียวกัน ก็ยังเดินหน้าต่อ และใช้โอกาสนี้ชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับไปให้ได้มากที่สุด
และเพื่อเป็นการต้อนรับ Dara Khosrowshahi ซีอีโอคนใหม่ของยักษ์ใหญ่จากอเมริกัน
เราจะไปดูกันว่าคู่แข่งของ Uber ที่มีอยู่ทั่วโลกนั้น มีใครกันบ้าง
สหรัฐ
Lyft
Lyft ซึ่งก่อตั้งในปี 2012 คือคู่แข่งสำคัญของ Uber ในสหรัฐโดยตรง เพราะเปิดให้บริการเฉพาะใน 300 เมืองทั่วประเทศ
รวมถึงเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ค, ซาน ฟรานซิโก และ ลอส แองเจลีส
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ Lyft ชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก Uber ในสหรัฐมาได้ คือระหว่างแคมเปญ #DeleteUber อันเป็นผลกระทบลูกโซ่จากการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปีที่แล้วนั่นเอง
จีน
Didi Chuxing
นี่คือคู่ปรับสำคัญที่ล้ม Uber ได้อย่างราบคาบ ในศึกชิงมาร์เก็ตแชร์ในจีน เมื่อหนึี่งปีก่อน
จนสุดท้าย Travis Kalanick ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ด้วยการขอเป็นพันธมิตรด้วย และถือหุ้นส่วนในการทำธุรกิจร่วมกันที่ 20% แทน
ปัจจุบัน Didi คือสตาร์ทอัพ ride-hailing ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองด้วยมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ รองจาก Uber ที่มีมูลค่า 70,000 ล้านดอลลาร์ เพียงรายเดียว
แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ เพราะเป้าหมายต่อไปของ Didi คือการออกสู่ตลาดโลก ผ่านการจับมือกับสตาร์ทอัพสายนี้รายอื่นๆ รวมถึง Uber เองด้วย
ยุโรปและแอฟริกา
Taxify
Taxify คือหนึ่งในพันธมิตรเหนียวแน่นของ Didi Chuxing ในภาคพื้นยุโรป
ปัจจุบัน สตาร์ทอัพจากเอสโตเนียรายนี้ เปิดให้บริการแข่งกับ Uber ใน 15 ประเทศในยุโรป, 4 ประเทศในแอฟริกา และกำลังขยายมาสู่เอเชียด้วย
แม้จะยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเหมือน Uber แต่การจับมือกับ Didi ก็ทำให้ Taxify ได้พันธมิตรที่แข็งแกร่ง ในการขยายสู่ระดับโลกต่อไป
ตะวันออกกลาง
Careem
ในตะวันออกกลาง Careem จากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือคู่แข่งสำคัญที่สุดของ Uber
ปัจจุบัน สตาร์ทอัพรายนี้เปิดให้บริการใน 80 เมืองจาก 12 ประเทศในแถบดังกล่าว และมีมูลค่าราว 1 พันล้านดอลลาร์
เป้าหมายหลักของ Careem ในปัจจุบัน คือการครองตลาดในตะวันออกกลางให้ได้เป็นอันดับแรก
และมีข้อได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างการชำระเงินที่ไม่จำกัดเหมือน Uber รวมถึงการให้บริการที่เหมาะกับวัฒนธรรมในแถบนี้ โดยเฉพาะการให้บริการสุภาพสตรี
และการได้ Didi มาเป็นพันธมิตร น่าจะทำให้ Uber ต้องเจองานหนักเช่นกัน หากหวังจะชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในย่านนี้
อินเดีย
Ola Cabs
Ola ซึ่งก่อตั้งในปี 2010 คือหนึ่งในสตาร์ทอัพสาย ride-hailing ยุคบุกเบิก และเป็นคู่แข่งที่เก่าแก่ที่สุดของ Uber
ปัจจุบัน Ola เปิดให้บริการในเกือบ 100 เมืองทั่วอินเดีย และเป็นสตาร์ทอัพสายนี้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์
จุดแข็งของ Ola คือการอนุญาตให้ใช้เงินสดจ่ายค่าโดยสารได้ และบริการพิเศษอย่าง Ola Select ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเลือกชนิดของยานพาหนะในการเดินทางได้ตามต้องการ
ขณะที่ Uber ซึี่งพยายามจะเจาะตลาดในอินเดีย เพิ่งเปิดให้บริการเพียงแค่ 24 เมืองเท่านั้น
รัสเซีย
Yandex.Taxi
Yandex.Taxi คือเจ้าตลาด ride-hailing จากรัสเซีย ที่บริหารงานโดย Yandex ยักษ์ใหญ่ด้านเสิร์ชเอ็นจินของประเทศ
เช่นเดียวกับในจีน Uber ซึ่งพยายามเจาะตลาดในรัสเซีย นานกว่าสามปี ประสบความล้มเหลว จนสุดท้ายต้องเลือกเป็นพันธมิตรกับ Yandex.Taxi แทน โดยถือหุ้น 36.6 เปอร์เซนต์ ในบริษัทร่วมทุนมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์
นอกจากรัสเซียแล้ว Yandex.Taxi ยังให้บริการในแถบใกล้เคียง ทั้ง อาเซอร์ไบจาน, เบลารุส, คาซัคสถาน, อาร์เมเนีย และจอร์เจีย
อเมริกาใต้
Easy Taxi, Cabify, and 99
Easy Taxi เปิดให้บริการในแถบคอนคาเคฟ และละตินอเมริกา ทั้ง อาร์เจนตินา, โบลิเวีย, บราซิล, ชิลี, โคลอมเบีย, คอสตาริกา, เอกวาดอร์, เม็กซิโก, ปานามา, เปรู, อุรุกวัย และ เวเนซุเอลา
ทางบริษัท ยังเคลมว่าเป็นแอพสำหรับเรียกแท็กซี่ที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดในโลก เพราะเน้นให้บริการโดยแท็กซี่เท่านั้น ไม่มีการใช้รถส่วนบุคคลเหมือนแอพอื่นๆ
ในแถบนี้ยังมีตัวเลือกอื่นๆ อย่าง Cabify และ service 99 โดยเฉพาะรายหลังซึ่งได้เงินสนับสนุนจาก Didi ด้วย
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Grab
Grab จาก มาเลเซีย คือเจ้าตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจุดแข็ง คือนอกจากจะอยู่ในฐานะเจ้าถิ่น ยังได้รับเงินสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่อย่าง Softbank และ Didi Chuxing ด้วย
เรียบเรียงจาก
Team of rivals: The startups Uber competes against around the world
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน