อะไรคือจุดร่วมระหว่างสตาร์ทอัพชั้นนำ อย่าง Whatsapp, Paypal และ Affirm?
คำตอบคือผู้ร่วมก่อตั้งของทั้งสามบริษัท มีเชื้อสายหรือเป็นผู้อพยพจากยูเครน ทั้ง ยาน คุม (Whatsapp) และ แม็กซ์ เลฟชิน (Paypal กับ Affirm)
แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยศักยภาพและองค์ประกอบในปัจจุบัน Startup Grind สตาร์ทอัพคอมมูนิตี้ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก เชื่อว่ายูเครนก็มีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่การเป็น Startup Nation ได้เช่นเดียวกับที่อิสราเอลเคยทำในอดีต
#5
รากฐานการศึกษาที่แข็งแกร่ง
ปัจจุบัน มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเทคโนโลยีต่างๆในแต่ละปี กว่า 4 หมื่นคน และรัฐก็ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนให้ถึงหลักแสน ภายในปี 2020
แม้สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศจะยังไม่ดีนัก แต่อาชีพสายไอทียังอยู่ในระดับที่มั่นคง และมีฐานเงินเดือนสูงกว่าสายอื่นๆ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงมีสถิติว่าบุคลากรจากสายอาชีพอื่นเลือกย้ายมาทำงานด้านไอที เพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่า นับจากปี 2014 เป็นต้นมา
#4
แหล่งบ่มเพาะบุคลากร
ในช่วง 5 ปีหลังสุด GDP ของยูเครนเติบโตขึ้นจาก 0.06 เป็น 3.3% หรือเกินกว่า 50 เท่า อันเป็นผลจากการเติบโตของอุตสาหกรรมไอที และการที่บุคลากรในสายนี้ กลายเป็นสินค้าออกอันดับหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน
มาตรฐานของบุคลากรด้านไอทีในยูเครน ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ในสายนี้กว่า 100 บริษัท อาทิ Samsung, Boeing, Siemens และ Oracle เลือกตั้งสำนักงานและแผนก R&D ที่นี่
ไม่ใช่เพียงแค่เหตุผลด้านเศรษฐกิจ เพราะประสบการณ์จากการทำงานในบริษัทชั้นนำเหล่านี้ จะทำให้วิสัยทัศน์ของบุคลากรในยูเครนเปิดกว้างขึ้น และพร้อมพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการต่อไป
#3
โฟกัสที่ตลาดต่างประเทศ
เทียบกับในสหรัฐที่ตลาดภายในประเทศกว้างพอสำหรับทำธุรกิจ
สตาร์ทอัพในยูเครนอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป เพราะต้องตั้งเป้าไว้ที่การทำธุรกิจในต่างประเทศตั้งแต่วันแรกของการตัดสินใจตั้งบริษัท
ขณะเดียวกัน การทำงานภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดมากๆ ก็มักนำไปสู่มุมมองใหม่ๆในการสร้างนวัตกรรมโดยปริยาย
#2
สัญญาณเบื้องต้นจากผู้บุกเบิก
เหมือนที่ อิสราเอล มี ICQ, ลอสแองเจลีส มี Snap หรือนิวยอร์ค มี Doubleclick
ยูเครน ก็เริ่มมีสตาร์ทอัพเด่นๆที่พร้อมพัฒนาไปถึงระดับยูนิคอร์นในอนาคตเช่นกัน นำโดย Grammarly ที่ปัจจุบันระดมทุนไปได้แล้วกว่า 110 ล้านดอลลาร์
หรือสตาร์ทอัพบางรายก็ถูกควบรวมไปเรียบร้อย โดยยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของโลก อาทิ Looksery (โดย Snap) Viewdle (โดย Google) หรือ Maxymiser (โดย Oracle)
#1
เงินทุนหลั่งไหล
สตาร์ทอัพหลายรายที่เลือกไปบุกเบิกในสหรัฐ อย่าง Petcube, Mobalytics หรือ People.ai มีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นความสนใจจากบรรดา VC จากนอกประเทศ
เห็นได้จากในปัจจุบัน กองทุน VC อย่าง AVentures, TA Ventures, Khosla, Index, Intel Capital และ HP Ventures ก็เริ่มหันมาลงทุนกับผู้ประกอบการจากยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ
เช่นกัน บรรดา accelerator และ incubator ทั้งหลาย อาทิ 500 Startups, Techstars และ Y Combinator ก็ส่งคนตระเวนไปทั่วประเทศ เพื่อมองหาสตาร์ทอัพใหม่ๆที่มีศักยภาพ และผลักดันให้ได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายเพิ่มเติมในสหรัฐ
AHEAD TAKEAWAY
ความไม่มี = แรงผลักดันให้มี
เพราะอะไร ชาติที่มีประชากรเพียง 8 ล้านคน ตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลทราย และความขัดแย้ง ถึงประสบความสำเร็จได้ จนกลายเป็นแม่แบบของคำว่า Startup Nation?
คำตอบที่น่าจะชัดเจนที่สุด ที่ผลักดันให้ อิสราเอล มาถึงทุกวันนี้ได้
ก็เพราะการต้องเอาตัวรอดให้ได้ ท่ามกลาง “ความไม่มี” ทั้งหลายนั่นเอง
จาก 8 ล้านคน อิสราเอล มีบุคลากรราว 40,000 คน ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งทำรายได้ให้ประเทศกว่า 15% ของ GDP
เมื่อปราศจากทรัพยากรทางธรรมชาติ ทางรอดของอิสราเอลคือการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้น เพื่อตอบโจทย์ pain point ทั้งหลาย
ซึ่งคำว่า pain point นี้ ก็เป็นสิ่งที่บรรดาสตาร์ทอัพทั่วโลกพยายามมองหา และสร้างโอกาสทางธุรกิจจากมันนั่นเอง
ปัจจุบัน อิสราเอล มีสตาร์ทอัพกว่า 8 พันราย ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ไปจนถึงพวกที่ exit ไปแล้ว และยังเป็นชาติที่มีบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาด NASDAQ มากที่สุด เป็นรองเพียง สหรัฐฯ และจีน ที่เหนือกว่าทั้งขนาด จำนวนประชากร และทรัพยากร
แต่การจะมาถึงจุดนี้ได้ จะให้สตาร์ทอัพเหล่านี้พึ่งพาตัวเองอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ นั่นก็ต้องมาพร้อมกับความช่วยเหลือจากบรรดาแอคเซเลอเรเตอร์ต่างๆ รวมถึงภาครัฐและองค์กรขนาดใหญ่นั่นเอง
นั่นทำให้ เทล อาวิฟ เมืองหลวงของประเทศนั้น ถูกจัดให้เป็นเมืองที่มีระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพ ดีที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก ซิลิคอน วัลลีย์ และ สตอคโฮล์ม เท่านั้น
ความสำเร็จของ อิสราเอล จึงเป็นแม่แบบให้กับชาติที่เต็มไปด้วย “ความไม่มี” เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เอสโตเนีย ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น ซิลิคอน วัลลีย์ แห่งยุโรป รวมถึง ยูเครน ที่พยายามผลักดันตนเองให้เป็น ชาติแห่งสตาร์ทอัพ รายต่อไป
ในบ้านเรา ก็มีความพยายามที่จะผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นเช่นกัน เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อสตาร์ทอัพกว่า 600 ราย และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมตัวกันยื่นข้อเสนอ 7 เรื่อง ในชื่อ “THAILAND TOWARDS STARTUP NATION” โดยมีเป้าหมายในการผลักดันประเทศสู่การเป็น Startup Nation ภายในปี 2564 ให้คณะรัฐบาลได้พิจารณา
ส่วนจะไปได้ไกลถึงระดับที่คาดหวังไว้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูองค์ประกอบหลายๆด้านว่ามีความพร้อมแค่ไหน
แต่หากพอใจในวิถีเดิมๆ ไม่คิดจะปรับเปลี่ยนเลย ก็คงเป็นไปได้ยาก ที่จะยืนหยัดอยู่ในโลกที่ทุกชาติต่างพยายามผลักดันตัวเองไปข้างหน้าให้ไกลที่สุดอย่างทุกวันนี้
เรียบเรียงจาก
Ukraine: The Next Startup Nation
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า