ในความเห็นของ Elon Musk ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ หรืออย่างน้อยก็มีค่าควรแก่การให้ลงมือทำเพื่อพิสูจน์
ล่าสุด ในงานประชุมการบินอวกาศนานาชาติ International Astronautical Congress (IAC) ที่ออสเตรเลีย เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว Musk ก็เผยถึงความคืบหน้าในแผนเดินทางสู่ดาวอังคาร
ด้วยจรวดรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่ง Musk เรียกแบบติดตลกว่า B.F.R. (Big F***ing Rocket)
CREDIT: SpaceX
B.F.R. คือจรวดขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา ด้วยเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เมตร (ราว 30 ฟุต) และกำลังขับที่สามารถขนส่งน้ำหนักในวงโคจรต่ำของโลกได้มากถึง 150 เมตริกตัน เหนือกว่า Saturn 5 ที่ Nasa เคยใช้ส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์
การสร้างจรวดขนาดใหญ่ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ในระบบ Interplanetary Transport System ของ SpaceX เป็นเพราะ Musk ไม่ได้คิดเพียงแค่การเดินทางไปให้ถึงดาวอังคาร
แต่ยังมองไกลไปถึงการสร้างอาณานิคมขึ้นที่นั่นด้วย
ด้วยกำลังขับมหาศาล B.F.R. จะถูกใช้ในการส่งยานขนส่งอวกาศที่มีผู้โดยสาร 80-120 คนออกนอกชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งจะมีสถานีอวกาศคอยเติมเชื้อเพลิงและออกซิเจนให้เพียงพอสำหรับการเดินทางต่อไปยังดาวอังคาร
ส่วน B.F.R. ก็จะกลับมาประจำการที่ท่าขนส่งบนพื้นโลกตามเดิม
นอกจากหน้าที่ดังกล่าว B.F.R. ยังอาจถูกนำมาประจำการแทน Falcon 9 จรวดลำปัจจุบันในการขนส่งดาวเทียมสู่ชั้นบรรยากาศด้วย
เพราะด้วยขนาดที่ใหญ่และแรงขับมหาศาล B.F.R. สามารถขนส่งดาวเทียมออกไปพร้อมกันได้หลายดวงในคราวเดียว ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
ไม่ใช่แค่การเดินทางสู่อวกาศ ความเร็ว 18,000 ไมล์ ต่อชั่วโมง (28,968 กม./ชม.) ของ B.F.R. ยังอาจ disrupt อุตสาหกรรมการเดินทางระหว่างประเทศได้ ด้วยการเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B บนโลก ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
เทียบกับความเร็วของเครื่องบินโดยสารปัจจุบันที่ราวๆ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว B.F.R. สามารถเดินทางจากนิวยอร์คสู่เซี่ยงไฮ้ได้ในเวลาเพียง 39 นาที ขณะที่ค่าโดยสารก็จะถูกลงจนอยู่ในระดับเดียวกับเที่ยวบินชั้นประหยัดได้
แต่เป้าหมายหลักของ Musk ยังคงอยู่ที่การเดินทางสู่ดาวเคราะห์สีแดงเช่นเดิม โดยเริ่มจากการทดสอบขนส่งคาร์โกโดยไม่มีผู้โดยสารเป็นลำดับแรก ซึ่งขั้นตอนนี้ น่าจะบรรลุได้ในช่วงต้นปี 2022
จากนั้น อีกสองปีคือเป้าหมายหลักที่เจ้าตัวตั้งใจและประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน คือการส่งคนเดินทางไปยังดาวอังคาร ในปี 2024
AHEAD TAKEAWAY
ดาวอังคาร (Mars) เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ในระบบสุริยะ มีระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ประมาณ 228 ล้านกิโลเมตร มีชั้นบรรยากาศบางๆ ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 96% อาร์กอน 1.93% และไนโตรเจน 1.89%
การที่เรามองเห็นดาวอังคารเป็นสีแดง เพราะพื้นผิวมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็กออกไซด์
สาเหตุที่คนมองว่าดาวอังคารเหมาะกับการย้ายไปตั้งถิ่นฐาน เพราะมีคุณสมบัติที่มนุษย์ “น่าจะ” อาศัยอยู่ได้มากที่สุด ในบรรดาดาวเคราะห์ของระบบสุริยะ และยังมีพื้นผิวเป็นของแข็งเหมือนโลก ต่างจากดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ที่มีพื้นผิวเป็นแก๊ส
ที่ผ่านมา ได้มีการส่งยานสำรวจไปดาวอังคารมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น โดยการค้นพบสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นในปี 2015 เมื่อยาน Mars Reconnaissance Orbiter ของ NASA พบร่องรอยน้ำไหลตามทางลาดชันของเนินเขา
แต่การที่มนุษย์จะไปปักหลักบนดาวอังคารได้ ก็จะต้องมีการทำ Terraforming หรือปรับสภาพดาวอังคารให้คล้ายโลกเพื่อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยได้ เช่น การเพิ่มอุณหภูมิ ปรับบรรยากาศ ป้องกันพายุสุริยะ ฯลฯ
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน