อินเดีย: บ้านหลังที่สองของ IBM

IBM คือผู้สร้างนวัตกรรมในยุคบุกเบิกของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อาทิ เมนเฟรม ฟลอปปีดิสค์ ฯลฯ และยังเป็นผู้วางรากฐานจน ซิลิคอน วัลลีย์ เป็นสัญลักษณ์ของวงการนี้ ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ในยุคปัจจุบันอย่าง Microsoft หรือ Google ยังไม่ถือกำเนิด

แต่ในปัจจุบัน ที่สถานะของ IBM ไม่โดดเด่นเหมือนในอดีตอีก บริษัทก็ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลง ด้วยการเลือกข้ามทวีปไปปักหลักในอินเดียเป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้ว

จากออฟฟิศแห่งแรกของบริษัทที่ มุมไบ และ เดลี ในปี 1951 ปัจจุบัน ในอินเดีย มีพนักงานของ IBM กว่า 130,000 คนทั่วประเทศ ทั้ง บังกาลอร์ ปูเน กัลกัตตา ไฮเดอราบัด และ เชนไน

ตัวเลขดังกล่าว คิดเป็นราวๆ 1 ใน 3 ของพนักงานทั่วโลก และครอบคลุมงานของ IBM ทุกส่วน

ตั้งแต่ให้การบริการและสนับสนุนแก่ลูกค้า อย่าง AT&T, Airbus และ Shell ในเรื่องการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ มุมมองของคอมพิวเตอร์ในรถยนต์ไร้คนขับ ฯลฯ หรือแม้แต่การร่วมงานกับโปรดิวเซอร์รายการ Sesame Street เพื่อสอนคำศัพท์แก่เด็กๆในโรงเรียนอนุบาลที่แอตแลนตา

 

 

บ้านหลังที่สอง

ย้อนกลับไปยุคที่ยังรุ่งเรือง เมื่อปี 1978 IBM เคยถอนสำนักงานออกจากอินเดียจนเกือบหมด เพราะปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลในเรื่องกฎหมายการถือครองบริษัทโดยคนต่างชาติ

นานเกือบยี่สิบปี IBM จึงกลับมาอินเดียอีกครั้ง ด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Tata ในปี 1993 เพื่อทำธุรกิจประกอบและขายปลีกเครื่องพีซีเป็นหลัก

จากนั้นไม่นาน ผู้บริหารของ IBM จึงค้นพบว่าอินเดียเป็นชาติที่มีศักยภาพสูง ทั้งในฐานะตลาด และฐานขององค์กรในการให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลก

จนตัดสินใจซื้อหุ้นส่วนที่เหลือคืนจาก Tata และตั้งสำนักงานของบริษัทขึ้นที่นี่ ด้วยแรงหนุนจากสัญญาระยะเวลา 10 ปี มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์ กับ Bharti Airtel ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งยังคงเป็นคู่ค้าหลักของบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน

 

ของดีราคาถูก

เหตุผลหลักที่ IBM เลือกย้ายกลับมาอินเดียเป็นหนที่สอง คือการลดค่าใช้จ่าย

เนื่องจากรายรับของบริษัทที่ลดลงต่อเนื่องใน 21 ไตรมาสหลังสุด จนต้องปรับตัวมาให้บริการด้าน tech service แก่องค์กรและหน่วยงานรัฐแทน

อันที่จริง IBM ไม่ใช่บริษัทอเมริกันรายเดียว ที่ย้ายที่ตั้งสำนักงานมาอยู่นอกสหรัฐ บริษัทอื่นๆ อาทิ Oracle และ Dell ก็มีนโยบายในลักษณะนี้

ต่างกันตรงที่ IBM เลือกจ้างพนักงานท้องถิ่นเป็นหลัก แทนที่จะเป็นชาวอเมริกัน เพราะผลสำรวจจาก Glassdoor พบว่า ค่าแรงของพนักงานชาวอินเดียนั้นอยู่ในราวครึ่งหนึ่งหรือเพียง 1 ใน 5 ของชาวอเมริกันที่มีคุณสมบัติเดียวกัน

นอกจากเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่า พนักงานชาวอินเดียยังมีการศึกษาในระดับสูง และไม่มีปัญหาเรื่องกำแพงภาษา

ส่วนรัฐบาลและองค์กรในอินเดีย ก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมถึงบริการต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 38,000 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา

Vanitha Narayanan ประธานฝ่ายปฏิบัติการในอินเดีย ซึ่งเคยผ่านงานของ IBM ทั้งในสหรัฐ และจีน มานานถึง 12 ปี ก่อนจะย้ายกลับมาปักหลักที่นี่ในปี 2009 เชื่อมั่นว่าการที่บริษัทเลือกอินเดีย เป็นเพราะที่นี่มีบุคลากรที่มีศักยภาพเพียงพอ

ขณะเดียวกัน ก็ตรงกับงบประมาณของลูกค้า ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกับ William Lazonick ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แมสซาชูเซตต์ส

“IBM จะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ หากพวกเขาตัดสินใจมองข้ามอินเดีย” Lazonick สรุป

 

ดูแลลูกค้า-สอนปัญญาประดิษฐ์

หลายคนอาจคิดว่าพนักงานในอินเดียของ IBM มีหน้าที่หลักเพียงแค่การซัพพอร์ทหน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ

แต่ในความเป็นจริง ที่นี่ยังเป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรด้วย อาทิ การสอนปัญญาประดิษฐ์ Watson ให้จดจำรูปภาพต่างๆกว่า 6 แสนรูป เพื่อที่บริษัทดีไซเนอร์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ จะสามารถใช้ตรวจสอบชิ้นงาน ว่าคล้ายคลึงกับรูปแบบที่เคยมีอยู่แล้วหรือไม่ หรือจะนำมาประยุกต์ต่อได้อย่างไร

นอกจากนี้ Watson ยังถูกสอนให้ช่วยแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับ Manipal Hospitals เครือโรงพยาบาลในเมืองบังกาลอร์ด้วย

Watson จะทำหน้าที่ตรวจประวัติผู้ป่วย และเปรียบเทียบหาคำแนะนำที่ดีที่สุด จากแพทย์ที่ศูนย์ Memorial Sloan Kettering Cancer Center ในนิวยอร์ค โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่สำหรับที่นี่ เพราะชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่ได้ทำประกันสุขภาพเอาไว้

และที่เมืองบังกาลอร์ ยังมีแผนกที่รวบรวมแอพดีไซเนอร์ฝีมือดี ซึ่งคอยเขียนแอพพลิเคชั่นสำหรับ iPhone และ iPad เพื่อลดความยุ่งยากต่างๆด้วย อาทิการจองตั๋วเครื่องบินโดยสารใหม่กรณีที่เกิดปัญหา การทำเรื่องกู้เงินกับธนาคาร หรือการอัพเดทประวัติทางการแพทย์ของคนไข้ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นงานที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้พนักงานในสหรัฐ แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด เพราะค่าบริการปรึกษาด้านมะเร็งกับ Watson แบบออนไลน์ อยู่ที่ราว 2 พันรูป หรือ 31 ดอลลาร์เท่านั้น

ซึ่งตรงกับตามความต้องการของ Narayanan ที่อยากให้ อินเดีย เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมในราคาที่จับต้องได้สำหรับทั่วไปนั่นเอง

 

เรียบเรียงจาก

IBM Now Has More Employees in India Than in the U.S.

 

สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

B.F.R. แผนบุกดาวอังคารของ Elon Musk

Next Article

เมื่อ George Lucas ส่งผ่าน 'พลัง' แก่ Disney

Related Posts