ดร. รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการ กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เผยแผนสร้างบุคลากรในประเทศให้พร้อมสำหรับยุคดิจิทัล ด้วยแนวคิด 4 ด้านที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น
รองผู้อำนวยการดีป้า ยอมรับว่าปัจจุบัน โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว และ ดีป้า ในฐานะหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐ ก็มีพันธกิจหลายประการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล หนึ่งในนั้นคือการสร้างบุคลากรในประเทศ ให้พร้อมสำหรับ Digital Transformation เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด
แนวคิดของดีป้า คือ การใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น โอกาสทางการศึกษา โอกาสในการทำงานให้ประชาชนสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม เช่นการใช้งานอินเทอร์เน็ต เพื่อศึกษาเรื่องต่างๆได้ด้วยตัวเอง หรือการมีร้านค้าในโลกออนไลน์เพื่อขยายช่องทางในการขายสินค้าได้กว้างขึ้น
และหน้าที่ของฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ก็คือการพัฒนาคนให้พร้อมสำหรับ Digital Transformation โดย ดร.รัฐศาสตร์ อธิบายว่า แนวคิดในการส่งเสริม จะเน้นหนักใน 4
ด้านคือ
1. ส่งเสริมขีดความสามารถของการผลิต
ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัล กลายเป็นส่วนสำคัญใน กิจการ ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมต่างๆ ไปแล้ว จากเดิมที่ใช้กำลังคนในการดูแลเครื่องจักร เปลี่ยนมาเป็นการใช้อุปกรณ์ IoT ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลง แต่คุณภาพดีขึ้นตามลำดับ
แต่หากไม่เปลี่ยน สินค้าก็จะมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง เท่ากับเป็นการเสียโอกาสในการทำธุรกิจ
2. ส่งเสริมให้เกิดโอกาส ความเท่าเทียมในสังคม
ดีป้า มองว่า ดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาส ยกตัวอย่างโครงการเน็ตประชารัฐ ที่เชื่อมต่อ 74,000 กว่าหมู่บ้านทั่วประเทศ ให้ติดต่อสื่อสารได้อย่างครอบคลุม และจะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆตามมา
3. ส่งเสริมปฏิรูปภาครัฐ
ให้หน่วยงานรัฐ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการทำงานมากขึ้น
4. ส่งเสริมทุนมนุษย์
คน คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการทุกอย่าง และ ดีป้า ก็มีพันธกิจเรื่องของคนอยู่ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสำนักงาน คือการส่งเสริมให้คนไทยนำดิจิทัลไปใช้ในการทำธุรกิจ และกิจกรรมอื่นๆ ทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรมและความมั่นคง ผ่านหลักสูตร DEPA Digital Academy’s Top Executive Programs
“ถ้าพูดถึง Digital Manpower เราสามารถแบ่งได้เป็นหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานคือ ในระดับชุมชน ผู้สูงอายุ และเยาวชน ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร ล้วนต้องมีส่วนในการใช้ดิจิทัล แต่ประเทศจะปรับหรือเปลี่ยนได้ สิ่งสำคัญคือคนที่อยู่ข้างบนสุด คือระดับผู้บริหารจะต้องเข้าใจ และทำให้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง จึงเป็นที่มาของหลักสูตร DEPA Digital Academy’s Top Executive Programs ที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริหาร เจ้าของกิจการต่างๆ ให้ปรับตัวและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารได้ดียิ่งขึ้น”
“เรายังมีหลักสูตรที่จะเข้าไปส่งเสริมกลุ่มคนในระดับชุมชน ทั้ง ผู้สูงอายุ เยาวชน หรือคนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรม ก็มีโครงการที่จะเข้าไปเสริมแให้เกิดขุมกำลังดิจิทัลอย่างทั่วถึง นี่คือหน้าที่หลักของดีป้า ให้ชาวไทยสามารถใช้ดิจิทัลในการพัฒนาประเทศ”
สำหรับทั้ง 5 หลักสูตรของ ดีป้า จะเปิดภายในปลายปีนี้ และต้นปีหน้า รวมถึงในอนาคต ก็จะมีหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย