ถอดรหัส PayPal Mafia: ขบถแห่งซิลิคอน วัลลีย์

ถ้าคุณรู้จัก Elon Musk แห่ง Tesla และ SpaceX หรือ Peter Thiel ผู้เขียนตำราสำหรับสตาร์ทอัพ อย่าง Zero to One แล้ว คุณควรรู้จัก PayPal Mafia ด้วย

PayPal Mafia คืออะไร?

มันคือชื่อเรียกของกลุ่มคนทำงานทั้ง 220 คน ที่อยู่เบื้องหลัง PayPal ผู้บุกเบิกการให้บริการธุรกรรมการเงินออนไลน์ ในยุคก่อนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

คนกลุ่มนี้ลาออก และแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง ภายหลังบริษัทถูกซื้อกิจการไปโดย eBay ในปี 2002

ที่น่าทึ่งคือคนเหล่านี้ไม่ได้พอใจกับการใช้ชีวิตสุขสบายกับส่วนแบ่งเงินก้อนโตจากการเทกโอเวอร์ครั้งนั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในซิลิคอน วัลลีย์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

พิสูจน์ว่าความสำเร็จในครั้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย

“พูดให้เห็นภาพ คือเราโดนขับออกจากบ้านเกิดจนไม่มีที่จะไป แต่ละคนก็เลยแยกย้ายไปทั่วทุกมุมโลก และสร้างบ้านใหม่ของเราเอง” คือคำกล่าวแบบติดตลกถึง PayPal Mafia ของ David Sacks อดีต COO ของ PayPal ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธาน ฝ่าย Microsoft’s Office

 

จุดกำเนิด PayPal

 

Max Levchin (ที่ 2 จากซ้าย) และ Peter Thile (ขวาสุด แถวหน้า) กับสมาชิกยุคบุกเบิกของ FieldLink (ภาพจาก levchin.com)

 

ย้อนกลับไปในปี 1998 ยุคที่อินเตอร์เน็ตเพิ่งเริ่มแพร่หลาย การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ถือเป็นแนวคิดที่ ‘ล้ำยุค’ เกินกว่าจะเป็นจริงด้วยซ้ำ

ถ้าปราศจากความมุ่งมั่นของเด็กหนุ่มสองคน จากซิลิคอน วัลลีย์ ที่ผลักดันให้มันเกิดขึ้นจริง

หนึ่งคือ Max Levchin เด็กหนุ่มผู้อพยพเชื้อสายยูเครน ที่เพิ่งจบปริญญาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มาหมาดๆ และอีกคน คือ Peter Thiel อดีตทนายความ ซึ่งกำลังมองหาสตาร์ทอัพที่น่าสนใจสำหรับร่วมงานด้วย

ทั้งคู่พัฒนาไอเดียเรื่องการโอนเงินหรือชำระค่าบริการ/สินค้าให้ใครก็ได้อย่างต่อเนื่อง จาก Fieldlink ที่จำกัดการใช้เฉพาะผ่าน PDA (Personal Digital Assistants) มาสู่ PayPal ในเวลาต่อมา

ที่จริง ในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีสตาร์ทอัพที่ให้บริการคล้ายๆกับ PayPal หลายราย หนึ่งในนั้นก็คือ x.com ของ Elon Musk ซึ่งตั้งออฟฟิศอยู่ไม่ไกลกัน

การแข่งขันกันระหว่างสองบริษัทเต็มไปด้วยความเข้มข้น จนวิศวกรของสองฝ่ายต้องทำงานหนักไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง

แต่แล้วในเดือนมีนาคม 2000 การขับเคี่ยวก็ถึงคราวยุติ เมื่อ Thiel และ Musk ตกลงรวมทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งแรกที่ช่วยให้บริษัทฝ่าฟันวิกฤติหลังฟองสบู่แตกได้

เมื่อปราศจากคู่แข่ง ยอดผู้ใช้งานของ Paypal จึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็น 13 ล้านคน ในปี 2001 และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2002

 

เลือกคนพันธุ์เดียวกัน

 

หนึ่งในกิจกรรมหลักของแก๊งมาเฟีย โป๊กเกอร์ยามว่าง (credit: levchin.com)

 

Peter Thiel หนึ่งในผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของ PayPal ยุคแรก เล่าว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตั้งบริษัทขึ้น เพราะอยากทำงานกับคนที่สนิทสนม และเป็นเพื่อนกันจริงๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มิตรภาพจะยังคงอยู่

Thiel และ Max Levchin เริ่มต้นด้วยการจ้างคนใกล้ตัวที่อยู่ในแวดวง

ทั้งจากสแตนฟอร์ด (Keith Rabois, David O. Sacks, Reid Hoffman และ Ken Howery) โดย Thiel และมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ที่ Levchin เป็นศิษย์เ่กา ด้วยคุณสมบัติเบื้องต้นคือ ชอบการแข่งขัน รักการอ่าน พูดได้หลายภาษา และ ‘ช่ำชองเรื่องคณิตศาสตร์’

ด้วยความที่แต่ละรายนั้นเป็น geek และหัวขบถกันแบบสุดเหวี่ยง PayPal ยุคแรกจึงเป็นที่รวมตัวของพวก introvert ที่กินจังค์ฟูดเป็นอาหารหลัก และหลับคาโต๊ะทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่วิศวกรหญิงเก่งๆที่ Levchin เลือก จะทำงานด้วยได้หลังจากทนมาหกเดือน

Roelof Botha อดีต CFO ของบริษัท ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับ Sequoia Capital ยักษ์ใหญ่ในวงการ VC เปรียบเทียบวัฒนธรรมของ PayPal ยุคแรกกับ Google ไว้ดังนี้

“Google มักเลือกจ้างคนที่จบปริญญาเอก แต่ PayPal จะเลือกคนที่ลาออกกลางคัน ตอนกำลังเรียนปริญญาเอกแทน”

 

ไม่มีลำดับชั้น-เลี่ยงประชุมถ้าไม่จำเป็น

 

CREDIT: David Sacks

 

ตามความตั้งใจของ Thiel การจ้างคนนอกที่มีคุณสมบัติแตกต่างจึงน้อยครั้งที่จะเกิดขึ้น เหมือนในกรณีของ Sacks

แต่การมาของเจ้าตัวก็ช่วยให้เกิดความแตกต่างขึ้นในหมู่คนที่เหมือนกันจนเกินไป โดยเฉพาะการขัดเกลาบรรดามาเฟียเหล่านี้ให้มี ‘โฟกัส’ ในการทำงาน

Sacks สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ด้วยการลดและเลิกประชุม ทุกครั้งที่เห็นว่ามีการปิดห้องประชุม เขาจะเดินไปนั่งฟัง และตัดสินใน 3 นาที ว่าควรประชุมต่อหรือเลิก

ด้วยวิธีนี้ ยังทำให้ภายในองค์กรไม่มีเรื่องลำดับชั้นที่ยุ่งยาก “ที่นี่เราไม่วัดสถานะของคุณในองค์กรจากจำนวนคนที่คุณจัดการ แต่วัดว่าคนในระดับที่เหนือขึ้นไปกี่คนพยายามหยุดไม่ให้คุณทำอย่างที่ต้องการ”

“ผมว่า PayPal มีส่วนสำคัญในการช่วยวางรูปแบบให้กับสตาร์ทอัพยุคใหม่ของซิลิคอน วัลลีย์”

Hoffman เป็นอีกคนที่่ชื่นชอบวัฒนธรรมของ PayPal เพราะทุกคนโต้เถียงและหักล้างกันด้วยข้อมูลและเหตุผลเป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสตาร์ทอัพยุคนี้ แต่สำหรับองค์กรมเมื่อยี่สิบปีก่อนแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก

“ที่นี่ คุณจะใช้คำว่า ‘จากประสบการณ์ของผมแล้ว…’ ไม่ได้”

 

ข้อใดไม่เข้าพวก

 

CREDIT: Business Insider

 

แต่ด้วยความ ‘สุดโต่ง’ ของกลุ่มผู้ก่อตั้ง คนที่มีมุมมองที่แตกต่างออกไป จึงมีบทสรุปไม่ค่อยสวยนัก โดยเฉพาะสายที่มาจาก x.com ของ Musk

Musk นั้นประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วกับ Zip2 (ขายให้กับ Compaq ไปในราคา 307 ล้านดอลลาร์) จนได้ตำแหน่ง CEO หลังการควบรวม

แต่แม้จะมีประสบการณ์มากขนาดไหน บุคลิกที่แตกต่างก็ทำให้เจ้าตัวไม่เป็นที่ยอมรับอยู่ดี

และจุดแตกหักคือการพยายามผลักดันให้ PayPal เปลี่ยนจากแพลทฟอร์ม Unix ไปเป็น Microsoft ซึ่งขัดกับความต้องการของขั้วเดิม

สุดท้าย Musk ก็ถูกปลดกลางอากาศจริงๆ เมื่อเจ้าตัวรับทราบข่าว ระหว่างเดินทางไปออสเตรเลียเพื่อหยุดพักผ่อนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

แม้จะบาดหมางกันในเหตุการณ์นั้น แต่สุดท้าย Musk ก็ยังหวนกลับมาลงทุนในหลายๆกิจการของกลุ่ม PayPal Mafia ทั้ง Room 9, Geni, Sequoia และ Clarium Capital

ถ้าจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ก็คือการร่วมงานกับ Thiel นั่นเอง

นอกจาก Musk แล้ว บรรดาวิศวกรจาก x.com ก็มีปัญหาในการปรับตัวเช่นกัน หากไม่ลาออกเอง ก็มักจะถูกปลดออกอยู่ดี

แต่หนึ่งในนั้น คือ Chad Hurley ก็ยังมองแง่ดีว่าการได้ร่วมงานกับ PayPal คือการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับตนเอง จนเป็นที่มาของการตัดสินใจลองเป็นผู้ประกอบการเอง ด้วยการตั้ง YouTube ขึ้นร่วมกับ Jeremy Stoppelman และ Steve Chen

 

exit เมื่อถึงเวลา

 

CREDIT: New York Times

 

หลังเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่นาน PayPal ก็เข้าสู่การเจรจาเทกโอเวอร์กับ eBay ที่ต้องการระบบชำระเงินออนไลน์ที่วางใจได้

Keith Rabois และ David Sacks เห็นสัญญาณไม่ดีตั้งแต่ต้นของการเจรจา เมื่ออีกฝ่ายพรีเซนต์งานด้วย Power Point ยาวเหยียดนับร้อยหน้า

และทั้งหมดก็รู้ดีว่า eBay ต้องการเพียงแค่ตัวโปรดักท์ แต่ไม่เชื่อมือเหล่าผู้ก่อตั้งที่เป็นเหมือนขบถแห่งซิลิคอน วัลลีย์

ขณะนั้น การทำธุรกรรม 2 ใน 3 ที่เกิดขึ้นกับ PayPal ยังมีต้นทางมาจาก eBay นั่นแปลว่าแม้บริษัทจะไปได้สวย แต่ก็ยังต้องพึ่งพา eBay เป็นหลักอยู่ดี

และหากทั้งหมดเลือกอยู่กับบริษัทต่อไปหลังการเทกโอเวอร์ ก็เป็นเรื่องยากที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆออกมาในองค์กรใหญ่ที่เต็มไปด้วยความเชื่องช้าอย่าง eBay

“ตลกร้ายคือที่เราประสบความสำเร็จได้ เพราะระบบการชำระเงินของ eBay มันเต็มไปด้วยปัญหานี่แหละ” Sacks สรุป

หนึ่งในตัวอย่างของคนที่ไม่สามารถทนกับระบบเดิมๆได้ คือ Premal Shah โปรดักท์เมเนเจอร์ที่เลือกอยู่กับ PayPal ต่อ หลังการเทกโอเวอร์ และพบว่าชีวิตการทำงานหมดไปกับการเตรียมพรีเซนเทชั่น

สุดท้าย Shah ก็ลาออก โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานของ Kiva.org

 

ยูนิคอร์นทั้ง 7

 

CREDIT: dugcampbell.com 

 

การเทกโอเวอร์ครั้งนั้น มีมูลค่าถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สมาชิกยุคก่อตั้งแต่ละคน กลายเป็นมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ทันตาเห็น

แต่หลังแยกย้ายไปตามทาง สมาชิกของ PayPal Mafia ยังแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จที่ผ่านมา ไม่ใช่โชคช่วย

เพราะพวกเขายังมีส่วนร่วมในการสร้างและปั้นสตาร์ทอัพ ระดับยูนิคอร์น ถึง 7 รายด้วยกัน ประกอบด้วย

 

Tesla Motors (27,500 ล้านดอลลาร์) – Elon Musk

LinkedIn (20,400 ล้านดอลลาร์) – Reid Hoffman

Palantir (ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าราว 9,000 ล้านดอลลาร์) – Peter Thiel

SpaceX (ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าราว 7,000 ล้านดอลลาร์) – Elon Musk

Yelp (5,260 ล้านดอลลาร์) – Jeremy Stoppelman

YouTube (1,650 ล้านดอลลาร์ -มูลค่าที่ Google ซื้อ ในปี 2006) – Chad Hurley, Steve Chen และ Jawed Karim

Yammer (1,200 ล้านดอลลาร์ – มูลค่าที่ Microsoft ซื้อในปี 2012) – David Sacks

 

บทเรียนจาก PayPal

 

CREDIT: Fortune

 

สตาร์ทอัพน้ัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ PayPal นั้นมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติแนวคิดการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกับสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีใน ซิลิคอน วัลลีย์

ทั้ง Youtube และ Yelp ซึ่ง Stoppelman มีส่วนร่วมนั้น ก็ได้เรียนรู้เรื่องสำคัญจาก PayPal นั่นคือ ไอเดียที่เกิดขึ้นครั้งแรกไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป

Yelp พัฒนาจากการให้บริการอีเมลอ้างอิงที่ซับซ้อน มาเป็นเว็บไซต์รีวิวยอดนิยม ส่วนไอเดียตั้งต้นของ YouTube คือบริการหาคู่ออนไลน์ในรูปของวิดีโอ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเว็บไซต์ Hot or Not

Keith Rabois ก็เป็นอีกคนที่เชื่อว่าการได้ร่วมงานกับ Thiel นั้น คือโอกาสดีในการเรียนรู้ และนั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกทำธุรกิจ

ขณะที่ Thiel ซึ่งปัจจุบัน เป็นนักลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่ๆ และเป็นเจ้าของหนังสือระดับเบสต์เซลเลอร์ ‘Zero to One’ นั้น เชื่อว่าความสำเร็จของ PayPal และสมาชิกของ PayPal Mafia คือบทเรียนชั้นดีสำหรับตนเช่นกัน

“สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้เรียนรู้ก็คือการตั้งบริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้น มันไม่ง่ายก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่ามันเป็นไปไม่ได้”

 

เรียบเรียงจาก

The PayPal Mafia

How the ‘PayPal Mafia’ redefined success in Silicon Valley

Success and The PayPal Mafia

 

สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

'Corporate Innovation : Why and How' โดย Paddy Tan

Next Article

Porsche Passport: ซูเปอร์คาร์ออนดีมานด์

Related Posts