The Secret of Digital Creativity: ไขกุญแจสู่ไอเดียสร้างสรรค์

จะต้องทำอย่างไร ในโลกยุคใหม่ที่ใครๆก็มีทักษะในการทำงานไม่ต่างจากเรา?

คุณเก่ง สิทธิพงษ์ ศิริมาศเกษม ซีอีโอ และ ผู้ก่อตั้ง RGB72 ซึ่งเคยมีประสบการณ์ตรงจากการใช้ชีวิตและทำงานในอเมริกา เริ่มต้นด้วยการพูดคุยในหัวข้อ The Secret of Digital Creativity ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Accelerate Program ณ RISE ACADEMY เมื่อ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยการตั้งคำถามข้างต้น

พร้อมยกตัวอย่างชีวิตของ ยุ่น (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ฟรีแลนซ์’ ที่ล้มป่วยจากการทำงานหนัก ว่าต่อให้เก่งแค่ไหน สุดท้าย สิ่งที่ทำอยู่ ก็ไม่ต่างอะไรกับงานตอกตะปู หรืองาน labor อื่นๆ

นั่นคืองานที่คู่แข่งเยอะ และถูกแทนที่ได้ง่าย เมืื่อไหร่ที่คุณไม่พร้อมทำงาน!!!

กลับกัน หากเราใช้ประสบการณ์ที่มีผสมลงไปในเนื้องานของเรา นั่นคือสิ่งที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ ต่อให้ใช้เครืื่องมือเดียวกับคนอื่นๆก็ตาม…

 

แตกต่างอย่างมีสไตล์

ในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังพูดถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ก็เริ่มมีการคาดการณ์ถึงสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น และ Disrupt สิ่งเดิมๆที่เราคุ้นเคยในอนาคตอันใกล้

และหลายเรื่องนั้น ก็ส่งผลกระทบต่ออาชีพเดิมๆโดยตรง อาทิ ร้านค้าที่ไม่มีพนักงานทำหน้าที่แคชเชียร์ (Amazon Go) รถยนต์ไร้คนขับที่จะเข้ามาทดแทนอาชีพคนขับรถโดยสาร ฯลฯ

คำถามถัดมาคือใครจะเป็นอาชีพสุดท้ายที่จะตกงาน คำเฉลยจากคุณเก่งอาจทำให้หลายคนแปลกใจ นั่นคืออาชีพ ตลก เพราะเป็นอาชีพที่มีความ creativity สูง และไม่มีรูปแบบตายตัว จนยากที่ปัญญาประดิษฐ์จะเข้าใจและเรียนรู้ตามได้ง่ายๆ

ขณะเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราจนเกินไป ขอเพียงเราหาวิธีใหม่ๆที่ต่างออกไปมาใช้ หรือนำสองสิ่งที่ต่างออกไปมาผสมกันจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ เหมือนที่ซีรีส์ฮิตทาง Netflix อย่าง Stranger Things ทำ

เพราะองค์ประกอบหลักของซีรีส์นี้ ดูเผินๆแทบไม่ต่างจากซีรีส์ไซไฟที่เกี่ยวกับสัตว์ประหลาดอื่นๆ แต่การบิดเพียงนิดเดียว ให้เรื่องราวเกิดในยุค 80s  และใส่กิมมิคต่างๆจากยุคนั้นลงไป ก็ทำให้ดูแตกต่าง และโดดเด่นขึ้นมาได้ไม่ยาก

 

ให้มากกว่าที่ลูกค้าต้องการ

 

 

กับดักอีกอย่างของคนที่ทำอาชีพครีเอทีฟในสายตาคุณเก่ง คือมักติดกับโจทย์ที่ลูกค้าให้มา เพราะที่จริงแล้ว ลูกค้าอาจไม่รู้ว่าต้องการอะไรจากงานชิ้นนั้น

หน้าที่ของครีเอทีฟคือการนำเสนอไอเดียใหม่ๆเพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพชัดเจนขึ้น

เหมือนที่เจ้าตัวเคยนำคอนเซปต์ของเกมสแครบเบิล มาใช้ในการสร้างเว็บไซต์ให้สตูดิโอโฆษณาชั้นนำของประเทศ อย่าง Matching Studio จากไอเดียตั้งต้นของลูกค้า ด้วยคำว่า ‘ทีมเวิร์ค’ เพียงคำเดียว

หรือการเล่นกับคำว่า Bluefin ซึ่งเป็น ปลาทูนาที่แข็งแรง รวดเร็ว กับสตาร์ทอัพสายฟินเทคที่เป็นธุรกิจยุคใหม่ ในเครือของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีภาพจำของผู้คนคือสีน้ำเงิน

 

ไม่หยุดตั้งคำถาม

 

 

ถ้าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญแล้ว จะต้องทำอย่างไร เราถึงจะมีคุณสมบัติดังกล่าวได้ คำแนะนำจากคุณเก่ง คือพยายามวิเคราะห์ ตั้งคำถามให้มาก กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ

เขาคิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้ยังไง??? เพื่ออะไร??? หรือแม้แต่คำถามที่ว่าใครเป็นเจ้าของไอเดีย??? 

ซึ่งคุณสมบัตินี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนเคยเรียนมาแล้วว่าอะไรคือคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ ทั้ง 4 ข้อ นั่นคือ

  • สังเกต observe
  • ตั้งคำถาม question / curiosity
  • ทดลอง experience / experiment
  • หาบทสรุป conclusion

และเมื่อถึงขั้นตอนในการสร้างสรรค์แล้ว คุณเก่ง ก็ย้ำว่าการจะทำให้มันกลายเป็นความจริงได้ ต้องมีองค์ประกอบทั้งสามสิ่งอยู่ร่วมกัน นั่นคือ

จินตนาการ (imagination)

ความรู้ (knowledge)

และ ความกล้า (courage)

การขาดข้อใดข้อหนึ่งไปนั้น จะไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ เพราะคนที่มีจินตนาการและความรู้ แต่ไม่มีความกล้า ก็จะไม่ลงมือทำอะไร ส่วนคนที่มีแต่ความกล้าและจินตนาการ แต่ขาดความรู้ ก็ไม่ต่างอะไรกับพวกเพ้อเจ้อ ฝันกลางวันนั่นเอง

 

7 วิธีปลดล็อค

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น คุณเก่งยังแนะนำ 7 วิธีคิดที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (7 creative methods) พร้อมกับให้ผู้เข้าฟังได้ลองทำเวิร์คช็อปเล็กๆน้อยๆ ตามนี้

  1. Forget possibility
    ข้ามความกลัว ความเป็นไปได้ เหมือนที่ PIXAR พยายามท้าทายทีมงานตลอดเวลาในการสร้างแอนิเมชั่นเรื่องใหม่ด้วยความละเอียดการทำงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำอะไรยากๆ แปลว่าเรากำลังจะเก่งขึ้น หากเราทำซ้ำๆกับสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว นั่นคือการหยุดอยู่กับที่
  2. Think out of the box
    วลียอดฮิตสำหรับความคิดสร้างสรรค์ แต่เรามักหาคำตอบของการคิดนอกกรอบไม่เจอ แต่กรอบแรกที่เราต้องทลายให้ได้ คือกรอบของตัวเราเอง
  3. Think less
    คิดให้น้อย คิดให้เหมือนเด็กๆ เพราะการที่เรารู้มากจึงคิดมากเกินไป แต่ไอเดียที่ดี หลายครั้งอาจเกิดจากความคิดฉับพลันก็ได้ เพราะการไม่คิดมาก จะทำลายกำแพงลง
  4. Create Different Angle
    ลองหามุมมองใหม่ๆให้กับสิ่งเดิมๆ ก็จะได้คำตอบที่แตกต่างออกไป
  5. Solve Problems
    ทุกครั้งที่เกิดปัญหา หรือ pain point สมองของเราจะหาวิธีแก้ปัญหา แต่หลายครั้งเราชินกับเรื่องที่เกิดขึ้น จนลืมคิดว่าเป็นปัญหา และเลือกใช้ชีวิตกับสิ่งนั้นแทนที่จะหาทางแก้
  6. Mix and Match
    หลายครั้งที่ สิ่งใหม่ก็ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสาน A กับ B เข้าด้วยกัน เหมือนที่เกิดกับเกมฝีมือคนไทยที่ถูกกล่าวขวัญถึงในต่างประเทศอย่าง Home Sweet Home ที่ผสมเรื่องราวผี กับความเป็นไทย
  7. Brainstorm
    บางครั้งการคิดคนเดียวก็อาจได้ไอเดียใหม่ๆสู้การนั่งระดมสมองกับคนอื่นๆไม่ได้

 

เตรียมตัวให้พร้อม

 

คุณเก่งยังเชื่อว่าต่อให้เข้าสู่ยุค Digital Transformation แล้ว เทคโนโลยีทั้งหลาย ก็ยังเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้นเท่านั้น

แต่ตราบใดที่คุณจะประสบความสำเร็จได้ ก็ยังต้องพีึ่งพาความคิดสร้างสรรค์อยู่ดี

และการจะมีคุณสมบัตินั้นได้ บางครั้ง ก็ต้องพยายามสะสมความรู้ และประสบการณ์ ผ่านรูปแบบต่างๆไว้ให้มากที่สุด เหมือนพ่อครัวที่ต่อให้เก่งแค่ไหน หากไม่มีวัตถุดิบในมือเตรียมไว้ เวลาที่ลูกค้าเดินมาสั่งอาหารแล้ว ก็เปล่าประโยชน์

เพราะเมื่อถึงเวลานั้น หากคุณไม่พร้อม ก็เท่ากับปล่อยให้โอกาสหลุดมือไปนั่นเอง

 

สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

YOU ARE WHAT YOU READ #9: Ben Horowitz

Next Article
Google Pixel Buds

มารู้จักกับ Google Pixel Buds หมดห่วงเรื่องภาษา

Related Posts